ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ กรณีเป็นผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยเดินทางระหว่างประเทศโดยนำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งจำเป็นต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 August 2023 01:55
- Hits: 1916
ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ กรณีเป็นผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยเดินทางระหว่างประเทศโดยนำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งจำเป็นต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ กรณีเป็นผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยเดินทางระหว่างประเทศโดยนำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งจำเป็นต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ร่างกฎกระทรวงตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษ ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน Morphine (บรรเทาอาการปวดเจ็บรุนแรง) โคเดอีน Codeine (แก้ไอและบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง) ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย เช่น ยาแก้ไอที่ผสมโคเดอีน หรือวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง เช่น เฟนเทอร์มีน phentermine (กลุ่มยาลดความอ้วน) ประเภท 3 วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เพนตาโซซีน Pentazocine (กลุ่มยาบรรเทาอาการปวด) และประเภท 4 วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดน้อยกว่าประเภท 3 เช่น ไดอะซีแพม (กลุ่มยานอนหลับ) กรณีเป็นผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศนำยาเสพติดให้โทษซึ่งต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมใบอนุญาตด้วย โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ให้การรักษา หรือกรณีเป็นสัตว์ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศและมีความจำเป็นต้องนำวัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ผู้ให้การรักษาเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
(1) ยกเลิกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิตนำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2563 เฉพาะส่วนการขอรับอนุญาตและการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวกับผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรสำหรับใช้รักษาเฉพาะตัว
(2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 2 หรือประเภทที่ 3 และวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 กรณีผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศและมีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตนำเข้า ส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 2 หรือประเภท 3 และวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 |
(1) ผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศและมีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 และประเภท 3 เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ในปริมาณจำเป็นสำหรับการใช้รักษาที่ไม่เกิน 90 วัน ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันที่นำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรในแต่ละครั้ง พร้อมด้วยใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ให้การรักษา (2) ผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศและมีความจำเป็นต้องใช้วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 และประเภท 4 เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ในปริมาณจำเป็นสำหรับการใช้รักษาที่เกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันที่นำวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรในแต่ละครั้ง พร้อมด้วยใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ให้การรักษา (กรณีภายใน 30 วัน ไม่ต้องขออนุญาต ตามมาตรา 39 วรรคสอง) (3) กรณีสัตว์ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศและมีความจำเป็นต้องใช้วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 และประเภท 4 เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ให้เจ้าของสัตว์ป่วยยื่นคำขอต่อผู้อนุญาต ไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันที่นำวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรในแต่ละครั้ง พร้อมด้วยใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง |
|
2. คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต |
(1) กรณีผู้ป่วยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองยื่นคำขอรับอนุญาตแทน (2) กรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจหรือแสดงเจตนาได้และผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยดังกล่าวได้รับรองเป็นหนังสือให้บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม พี่น้อง ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ยื่นคำขอรับอนุญาตแทน (3) กรณีสัตว์ป่วย ให้เจ้าของสัตว์ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเดินทางระหว่างประเทศและมีความจำเป็นต้องใช้วัตถุออกฤทธิ์ฯ เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวของสัตว์ป่วยเป็นผู้ยื่นคำขอ |
|
3. วิธีการยื่นคำขอรับอนุญาตและกระบวนการตรวจสอบ |
(1) ให้ดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เว้นแต่ไม่สามารถกระทำได้ให้กระทำ ณ สำนักงาน อย. หรือสถานที่อื่นที่เลขาธิการ อย. กำหนด (2) ใบอนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออก ให้สำนักงาน อย. ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ - มอบใบอนุญาตให้แก่ผู้รับอนุญาตไว้เป็นหลักฐาน - ส่งสำเนาใบอนุญาตไปยังด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์หรือด่านศุลกากร เพื่อใช้ในการตรวจสอบ - เก็บสำเนาใบอนุญาตไว้ที่สำนักงาน อย. 1 ฉบับ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ |
|
4. แบบคำขอและใบอนุญาต |
เป็นไปตามแบบที่เลขาธิการ อย. กำหนด |
|
5. บทเฉพาะกาลเพื่อรองรับใบอนุญาตและคำขอรับอนุญาตที่ยังอยู่ในกระบวนการ |
บรรดาคำขอรับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2563 ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้อนุญาต ให้ถือว่าเป็นคำขอรับอนุญาตหรือคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้โดยอนุโลม |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8996