การปรับบทบาทภารกิจ หน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 August 2023 01:27
- Hits: 1218
การปรับบทบาทภารกิจ หน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ดังนี้
1. เห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ
2. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงในส่วนของหน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต รวม 36 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้
3. ให้สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างกฎกระทรวง รวม 36 ฉบับ และข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ ซึ่ง ก.พ.ร. ได้พิจารณาทบทวนตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยเห็นควรคงหลักการเดิมของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง เพื่อปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ให้มีหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยง มีการกำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยง เพื่อลดและปิดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบ การคุ้มครองจริยธรรมและการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตระดับกระทรวงต้องขยายขอบเขตการเร่งรัด กำกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ให้คลอบคลุมทั้งส่วนราชการในสังกัด (กรม) รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน สำหรับข้อเสนอแนะ ก.พ.ร. ได้ปรับปรุงข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ซึ่งประกอบด้วย (1) ข้อเสนอแนะเชิงระบบของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนอื่น เพื่อพัฒนาระบบในการส่งเสริมการทำงาน ได้แก่ ระบบป้องกันการทุจริต ระบบการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน และระบบบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน (2) ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงคู่มือแนวทางการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตในประเด็นกี่ยวกับการบริหารความสี่ยงการทุจริตและการส่งเสริมจริยธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความชัดเจน และการปฏิบัติงานของ ศปท. มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดย ก.พ.ร. มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตให้มีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น และเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ การปฏิบัติงานในภาครัฐให้มีความโปร่งใสปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ
การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริต) เพื่อปรับบทบาทภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตระดับกระทรวงให้รองรับการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การเสริมสร้างวินัย การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการต่อต้านการทุจริต
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของ ศปท. โดยแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของ สปน. สำนักงานปลัดกระทรวง ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง รวม 36 ฉบับ ใน 4 ประเด็น ดังนี้
1. กำหนดให้มีหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงและกำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดและปิดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบ และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ
2. กำหนดให้มีหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน
3. กำหนดให้มีหน้าที่ในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม และรับข้อร้องเรียนเรื่องการฝ่าฝืนจริยธรรมของ จนท. ส่วนราชการในสังกัด และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงาน เร่งรัดและติดตามจนได้ข้อยุติ
4.กำหนดให้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หน้าที่และอำนาจ ศปท. เดิม |
หน้าที่และอำนาจที่ปรับปรุง |
|
(1) เสนอแนะแก่หัวหน้าส่วนราชการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัด รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ |
(1) เสนอแนะแก่หัวหน้าส่วนราชการ* เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัด ประเมินความเสี่ยงและกำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดและปิดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ* |
|
(2) ประสานงาน เร่งรัด และกำกับให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการ |
(2) เร่งรัด และกำกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน |
|
(3) คุ้มครองจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน (4) รับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการ และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (5) ประสานงาน เร่งรัด และติดตามเกี่ยวกับการดำเนินการตาม (3) และ (4) และร่วมมือในการป้องกันและปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบกับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
(3) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม ข้าราชการพลเรือนรับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การฝ่าฝืนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการในสังกัดรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ประสานงาน เร่งรัด และติดตามจนได้ข้อยุติ |
|
(6) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัดและการคุ้มครองจริยธรรมเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
(4) ติดตาม ประเมินผลสัมฤทธิ์ และจัดทำรายงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ การคุ้มครองจริยธรรม และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ* และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
(7) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย |
(5) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่หัวหน้าส่วนราชการ* มอบหมาย |
*กรณีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการฯ ของสำนักงานปลัดกระทรวงใช้คำว่า “ปลัดกระทรวง” แทนคำว่า หัวหน้าส่วนราชการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8990