WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ พ.ศ. 2544 ประจำปี 2565

GOV8

รายงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ พ.ศ. 2544 ประจำปี 2565

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเสนอรายงานประจำปี 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มาตรา 36 ที่บัญญัติให้กองทุนฯ ทำรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อพิจารณาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี (ครบกำหนดวันที่ 29 มีนาคม 2566) รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของกองทุนฯ ในปีที่ล่วงมาแล้วพร้อมทั้งงบการเงิน และรายงานของผู้สอบบัญชี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ผลงานเด่นในปี 2565 ประกอบด้วย (1) สานพลังสู้ภัย “สิ่งเสพติด” เช่น ขับเคลื่อนการคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย และประกาศนโยบายสถานศึกษาปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และกัญชา ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมนักเรียน 13,192 คน (2) เสริมพลังปัญญา สร้างทักษะ “เด็กปฐมวัย” โดยสนับสนุนการพัฒนากระบวนการสื่อสารส่งเสริมการอ่าน เช่น พัฒนาหนังสือสร้างเสริมสุขภาวะของเด็ก ได้แก่ ชุดนิทานภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย และต้นฉบับหนังสือภาพสำหรับเด็ก (3) นวัตกรรม “ภูมิคุ้มใจ” ลดปัญหาสุขภาพจิต ฟื้นฟูสุขภาพใจ โดยสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานการให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหน่วยงานที่ให้บริการปรึกษาสุขภาพจิตสามารถขอการรับรองมาตรฐานได้โดยสมัครใจ เพื่อรับรองคุณภาพและเป็นโอกาสต่อการขอสนับสนุนสิทธิประโยชน์ จากการให้บริการประชาชน (4) ขับเคลื่อนสังคม สร้าง “ทางม้าลาย” ปลอดภัย เช่น จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางม้าลาย ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มคนเดินเท้าลดลง โดยผู้ขับขี่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และปรับปรุงสภาพถนนให้ปลอดภัยในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีทางม้าลาย 2,794 แห่ง และ (5) สร้างสังคมสุขภาวะ1 “ปลอดภัย เท่าเทียม เป็นสุข” เช่น ขับเคลื่อนการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้ประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยส่งเสริม สนับสนุน ทักษะการทำงาน การดูแลสุขภาพ การออม และการส่งเสริมอาชีพเสริมทำให้คนพิการและคนไร้บ้านได้รับการจ้างงาน 7,000 คนต่อปี

          2. ผลการดำเนินงานสำคัญตามเป้าประสงค์ 6 ประการ ดังนี้ 

 

แผนงาน

 

ผลการดำเนินงาน เช่น

เป้าประสงค์ที่ 1 ลดปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ ประกอบด้วย 5 แผนงาน

1. แผนควบคุมยาสูบ

 

(1) พัฒนาองค์ความรู้ประเด็นการควบคุมและป้องกันผลกระทบจากยาสูบ 15 เรื่อง นำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น แนวเวชปฏิบัติ สำหรับการบำบัดภาวะนิโคตินในประเทศไทย สำหรับแพทย์และบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ (2) พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อมและขยายการดำเนินงานสู่ระดับพื้นที่ โดยประกาศมาตรการเขตปลอดบุหรี่ในชุมชน 8 พื้นที่ ใน 4 จังหวัด (จังหวัดลำปาง อุบลราชธานี นนทบุรี และตรัง) และ (3) ขยายผลการดำเนินงานวัดต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยง 150 แห่ง ตามคู่มือวัดต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยง2 โดยวัดในเครือข่ายร้อยละ 97 จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดอบายมุข (ยาสูบ แอลกอฮอล์ และการพนัน) ร้อยละ 92 ติดเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ให้เห็นชัดเจน และร้อยละ 63 ทำข้อบังคับหรือประกาศของวัดเพิ่มเติมในรูปแบบของป้ายประชาสัมพันธ์

2. แผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด

 

(1) สนับสนุนการพัฒนาร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระยะที่ 2 .. 2565-25703 โดยมีการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการฯ เช่น การควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม 54 จังหวัด และการคัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 59 จังหวัด และ (2) ขยายพื้นที่ต้นแบบงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยการจัดงานประเพณี/เทศกาล เช่น งานสงกรานต์ (บุญเดือนห้า) ใช้แนวคิดเที่ยวสงกรานต์วิถีใหม่ ปลอดเหล้า ปลอดภัย ห่างไกลโควิดโดยมีปฏิบัติการสำคัญ คือ การสร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะผลักดันให้เกิดมาตรการจัดการพื้นที่เสี่ยงเชิงรุก และงานบุญบั้งไฟ (บุญเดือนหก) เครือข่ายประชาคมงดเหล้า 40 แห่ง ใน 18 จังหวัด เดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์เที่ยวบุญบั้งไฟปลอดภัยร่วมใจ 4 ปลอด ได้แก่ ปลอดภัย ปลอดโควิด ปลอดอุบัติเหตุ และปลอดเหล้า

3. แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม

 

(1) สนับสนุนการปรับปรุงพระราชบัญญัติการจราจรทางบก ฉบับที่ 13 .. 2565 โดยเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับและการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่ไม่รู้สึกตัวจากอุบัติเหตุทางถนน และ (2) พัฒนาโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรณรงค์เทศกาลปีใหม่ถ้ารับไม่ไหว อย่าบอกขับไหวเพื่อสื่อสารให้ผู้ขับขี่และคนใกล้ตัวได้ช่วยกันเตือนสติ โดยชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์จากการดื่มแล้วขับ และโครงการรณรงค์เทศกาลสงกรานต์ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย 2565” เพื่อชวนคนไทยลดความประมาท ดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว และสวมหมวกนิรภัยก่อนขับขี่กลับไปหาคนที่รักอย่างปลอดภัย

4. แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย4

 

(1) พัฒนาพื้นที่สุขภาวะสู่เมืองสุขภาวะในพื้นที่นำร่องในกรุงเทพมหานครเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ เช่น โครงการย่านพระโขนง-บางนา 2040 : อนาคต ความฝัน ย่านของเราเป็นการพัฒนาพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ โดยนำมาจัดทำเป็นสวนหย่อมขนาดเล็ก เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ประชาชนใช้บริการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ และ (2) พัฒนาลานกีฬาสาธารณะพื้นที่นำร่องในจังหวัดตรังและราชบุรี และพัฒนาศักยภาพแกนนำในพื้นที่นำร่องเกิดภาคีเครือข่ายความร่วมมือคณะปฏิรูปประเทศด้านลานกีฬาสาธารณะ 102 คน

5. แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ

 

(1) ขับเคลื่อนการลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม เกิดนโยบายส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะในระดับโรงเรียน 4 นโยบาย ได้แก่ 1) ห้ามจำหน่ายอาหาร อาหารว่าง และเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด เค็มจัด และไขมันสูง 2) ห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มีโซเดียมสูงกว่ามาตรฐานกำหนด 3) ควรจำหน่ายอาหารที่ระบุฉลากโภชนาการ และ 4) ควรจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทนมรสจืด น้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกินค่ามาตรฐาน และส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารทั่วไปและอาหารกึ่งสำเร็จรูปปรับสูตรลดโซเดียมลงร้อยละ 11.6 และ (2) พัฒนาต้นแบบชุมชนที่สร้างเสริมสุขภาวะด้วยการบริโภคอาหารที่สมดุล 2 แห่ง คือ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี และชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 512 คน

เป้าประสงค์ที่ 2 พัฒนากลไกที่จำเป็นเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอื่นๆ ประกอบด้วย 3 แผนงาน

1. แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ

 

(1) จัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ เพื่อเป็นศูนย์รวมนักวิชาการและองค์ความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่คุกคามสุขภาพของประชาชน และผลิตชุดองค์ความรู้ทางวิชาการ เช่น องค์ความรู้เรื่องมลพิษอากาศและสถานการณ์มลพิษทางอากาศ ผลกระทบของมลพิษอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย และการควบคุมมลพิษอากาศจากการจราจรขนส่งและอุตสาหกรรม และ (2) พัฒนาจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ต้นแบบบูรณาการดำเนินงานเรื่องเพศและสุขภาพจิต ส่งผลสำคัญให้เด็กและเยาวชนได้รับการเสริมสร้างทักษะด้านสุขภาวะทางเพศและสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น

2. แผนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว

 

(1) พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 แพลตฟอร์ม สำหรับ 3 กลุ่ม (เด็ก พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก และผู้ทำงานด้านเด็ก) ได้แก่ แชทบอทใจดีสำหรับรับฟังและให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตวัยรุ่น แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กเน็ตป๊าม๊าเพื่อสอนเทคนิคเชิงบวกในการปรับพฤติกรรมเด็กสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้ทำงานด้านเด็ก “https://coachforchange.co” เป็นเว็บไซต์รวมเครื่องมือ หลักสูตรการเรียนรู้สำหรับพี่เลี้ยง หรือบุคคลที่ทำงานกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย แกนนำเด็กและเยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม มีจุดเน้นเรื่องสิทธิเด็กและการพัฒนาเยาวชนเชิงบวก มีกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์ 47,181 คน และ (2) พัฒนาชุดความรู้สำหรับเสริมสร้างทักษะชีวิตสำหรับเด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี โดยนำแนวคิดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิด วิเคราะห์และลงมือทำมาเป็นฐานในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เช่น กว่าจะมาเป็นข้าว ค้นหาผักผลไม้ที่กินได้ในชุมชน ห่างไกลไวรัสด้วยมือเรา และชุมชนในฝันเราไม่โดดเดี่ยว และนำชุดความรู้ไปใช้จัดกระบวนการเรียนรู้และทดสอบใน 67 พื้นที่ มีเด็กและเยาวชนอายุ 6-12 ปี เข้าร่วม 3,270 คน

3. แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ

 

(1) สนับสนุนให้คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้สามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน โดยสามารถช่วยเหลือคนไทยให้สามารถเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สิทธิ 799 คน และผ่านการพิสูจน์สิทธิได้รับสถานะเป็นคนไทยอย่างถูกต้อง 452 คน และ (2) พัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์ม โดยกระทรวงแรงงานรับข้อเสนอนำไปพัฒนาเป็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอิสระ .. ....5

เป้าประสงค์ที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถเชิงสถาบัน บทบาทชุมชน และองค์กร ในการพัฒนาสุขภาวะองค์รวมประกอบด้วย 2 แผนงาน

1. แผนสุขภาวะชุมชน

 

(1) พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนไปสู่การปฏิบัติในเครือข่ายเสริมสร้างศักยภาพชุมชนท้องถิ่นที่มีสมาชิกเครือข่าย 3,214 แห่ง เช่น จัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการ พัฒนาแผนควบคุมโรคติดต่อของตำบล จัดทำแผนพัฒนาตำบลเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร และ (2) พัฒนารูปแบบแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้โครงการบูรณาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ในพื้นที่เป้าหมาย คือ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส หรือแว้งโมเดลมีผู้ป่วยได้รับการดูแล 758 ราย และเกิดการศึกษาและใช้ข้อมูลตำบลแว้งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้พื้นที่อื่นๆ

2. แผนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร

 

(1) เกิดกลไกศูนย์ประสานงานสาธารณสงเคราะห์ในวัด 426 แห่ง ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร และมีวัดเป็นพื้นที่ต้นแบบสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ 44 แห่งทุกภูมิภาค ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายในการทำงานด้านสุขภาวะ เช่น วัดโพธิการาม จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นวัดต้นแบบสร้างสังคมสุขภาวะ โดยปรับพื้นที่วัดเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และวัดห้วยยอด จังหวัดตรัง ได้จัดชมรมชายผ้าเหลืองที่ให้ความสำคัญเรื่องจิตอาสาดูแลผู้ป่วย และ (2) สถานประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 80 แห่ง ใน 34 จังหวัด ครอบคลุมพนักงาน 12,425 คน เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวคิดองค์กรสุขภาวะ6 เป็นแนวทางพัฒนาศักยภาพองค์กร ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตบุคลากรในองค์กร เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ มีวิสาหกิจที่ผ่านการคัดเลือกเป็นองค์กรต้นแบบด้านการสร้างสุขภาวะองค์กรและพัฒนาผลิตภาพ 37 แห่ง

เป้าประสงค์ที่ 4 สร้างค่านิยมและโอกาสการเรียนรู้ในการสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในสังคมไทยประกอบด้วย 2 แผนงาน

1. แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา

 

(1) พัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะทุกช่วงวัย 3,702 คน และต่อยอดเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลง 1,479 คน ที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเป็นผู้นำ และเป็นพลเมืองตื่นรู้ และ (2) เกิดพื้นที่ปฏิบัติการสื่อสารสุขภาวะและเฝ้าระวังตรวจสอบสื่ออย่างมีส่วนร่วมในชุมชน รวมถึงการพัฒนาทักษะการตรวจสอบข้อมูลให้กับเครือข่ายภาคพลเมืองระดับพื้นที่ 10 พื้นที่ใน 10 จังหวัด เพื่อร่วมกันสื่อสารสุขภาวะ ตรวจสอบเนื้อหาข่าวลวงที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น ยกระดับกลไกเฝ้าระวังข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วมจากองค์กรภาครัฐ องค์กรสื่อ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ภายใต้ชื่อ “Cofact”7

2. แผนสร้างเสริมความเข้าใจสุขภาวะ

 

(1) ขยายผลการดำเนินงานสื่อเฉพาะคุณ (Persona Health)” แอปพลิเคชันสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเฉพาะบุคคล ด้วยการสนับสนุนข้อมูลและแนวทางสร้างเสริมสุขภาพที่ตรงความต้องการและความสนใจ สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาวะได้ และ (2) พัฒนาโครงการรณรงค์การสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม 9 โครงการ เช่น โครงการรณรงค์ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ห่วงใยใครไม่ให้เหล้า โครงการรณรงค์ฝุ่น PM2.5 และ โครงการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้า สามารถสร้างแนวโน้มให้ประชาชนอยากปรับเปลี่ยนหรือตั้งใจปรับพฤติกรรมร้อยละ 91

เป้าประสงค์ที่ 5 ขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะประกอบด้วย 1 แผนงาน

แผนสร้างสรรค์โอกาสสร้างเสริมสุขภาวะ

 

(1) สนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาวะระดับชุมชน 2,018 โครงการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ มีผู้ได้รับประโยชน์ 302,787 คน เช่น โครงการสายใยสัมพันธ์ผู้ผลิต-ผู้บริโภคร่วมผลิตอาหารปลอดภัยแก้ไขปัญหาสุขภาวะในชุมชน ที่เทศบาลเมืองกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ (2) เกิดกลไกสภาผู้นำชุมชน [ผู้นำที่เป็นทางการ (กรรมการหมู่บ้าน) และผู้นำที่ไม่เป็นทางการที่มาจากตัวแทนของกลุ่มต่างๆ เช่น อาสาสมัครสาธรณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้สูงอายุ เยาวชน และผู้นำทางศาสนา] ที่สามารถสร้างความเข้มแข็งชุมชนในการจัดการปัญหาทุกมิติ 260 หมู่บ้านทั่วประเทศ ทำให้คนในชุมชนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และ (3) ส่งเสริมการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพผ่านการร่วมทุนกับหน่วยงานต่างๆ รวม 9.20 ล้านบาท เพื่อนำไปกระจายโอกาสและสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ 349 โครงการ เช่น การลดปัญหาฝุ่นควัน การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการจัดการอาหารปลอดภัย

เป้าประสงค์ที่ 6 เพิ่มสมรรถนะระบบบริการและระบบสนับสนุนในการสร้างเสริมสุขภาวะ ประกอบด้วย 2 แผนงาน

1. แผนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ

 

(1) พัฒนาทีมหมอครอบครัว8 ของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี ให้มีรูปแบบบริการคลินิกโรคไม่ติดต่อ9 ที่สร้างความรอบรู้สุขภาพให้ผู้ป่วย (2) ส่งเสริมการออกแบบระบบบริการสุขภาพแบบใหม่ (เช่น มีการจัดระบบการบริการแยกตามความเสี่ยงหรือความรุนแรงของผู้ป่วยและมีระบบนัดหมายตามกลุ่ม ช่วยลดความแออัดในหน่วยบริการ) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยมีหน่วยบริการปฐมภูมิโรงพยาบาล และศูนย์สุขภาพเขตชุมชนเมืองเข้าร่วม 34 แห่ง และ (3) พัฒนาแอปพลิเคชัน “Fun D” ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและความรู้การดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปาก มีผู้ใช้งาน 9,648 คน

2. แผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ

 

(1) พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพ 2 ต้นแบบ ได้แก่ ต้นแบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพแอปพลิเคชันสานสุข (SAANSOOK)” เก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของบุคคล และต้นแบบโมเดลและระบบพยากรณ์ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF)10 เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับครูปฐมวัยให้สามารถใช้สร้างแผนกิจกรรมเสริมสร้าง EF สำหรับเด็กปฐมวัย และจัดประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ “Prime Minister’s Award for health Promotion Innovation 2022” ขยายแนวคิดนวัตกรรมที่ลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพและส่งเสริมให้คนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วม 290 ทีมทั่วประเทศ และ (2) พัฒนาและออกแบบหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพและศักยภาพการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย เช่น หลักสูตรสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพเวทีเสวนาออนไลน์ให้ความรู้ด้านสุขภาวะ และหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ 3,955 คน

 

          3. การตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานในปี 2565

               3.1 ผลการดำเนินงานในภาพรวมของกองทุนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามหลักการของ Balanced Scorecard11 ได้คะแนน 4.76 คะแนน (คะแนนเต็ม 5 คะแนน) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (พ.ศ. 2562-2564) ที่ได้ 4.61 คะแนน นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังมีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ได้คะแนนเฉลี่ย 9.67 คะแนน (คะแนนเต็ม 10 คะแนน) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ได้ 9.25 คะแนน ขณะที่การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ได้รับผลการประเมิน 93.25 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับ “A” โดยได้คะแนนสูงกว่าผลประเมินภาพรวมระดับประเทศ (ผลคะแนนเฉลี่ย 87.53 คะแนน)

 3.2 รายงานผลการตรวจสอบงบการเงินของกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2565 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบรายงานการเงินของกองทุนฯ และรับรองรายงานการเงินดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นว่ารายงานการเงินฯ ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 

หน่วย : ล้านบาท

รายการ

ปี 2565

ปี 2564

เพิ่มขึ้น/(ลดลง)

1. งบแสดงฐานะการเงิน วันที่ 30 กันยายน 2565

รวมสินทรัพย์

3,068.10

2,754.16

313.94

รวมหนี้สิน

283.90

269.98

13.92

รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน

2,784.19

2,484.18

300.01

2. งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2565

รวมรายได้

4,301.43

4,262.82

38.61

รวมค่าใช้จ่าย

3,990.94

3,788.50

202.44

รายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ

310.49

474.32

(163.83)

 

หมายเหตุ : เนื่องจากมีการปรับเป็นทศนิยมสองหลัก ดังนั้น จึงส่งผลต่อการคำนวณผลรวมบางรายการในตาราง

__________________________

1 สุขภาวะ หมายถึง ภาวะที่ประชาชนมีความสมบูรณ์และสมดุลใน 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม โดยมีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันและสะท้อนถึงความเป็นองค์รวมของบุคคล

2 คู่มือวัดต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยง เป็นคู่มือเพื่อให้เครือข่ายพระสงฆ์และนักพัฒนาสังคมนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดการทำงานของพระสงฆ์และนักพัฒนาสังคม โดยกระบวนการทำงานประกอบด้วย (1) “1ผ” คือ ผู้นำ เจ้าอาวาส (2) “5ส” คือสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม สร้างกลไก คณะทำงาน สร้างกติการ่วมของวัดและชุมชน สร้างแรงจูงใจในการทำความดี ลด ละ เลิกบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน และสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักรณรงค์และนักสื่อสาร และ (3) “3ป” คือ ป้ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่วัด ประสานความร่วมมือกับภาคีในท้องถิ่น และประสานระดับนโยบาย

3 คณะรัฐมนตรีมีมติ (16 สิงหาคม 2565) เห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระยะที่ 2 พ.ศ. 2565-2570 ตามที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติเสนอ เพื่อเป็นกรอบทิศทางการขับเคลื่อนการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้ตามเป้าหมาย นำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการสูญเสียเนื่องมาจากโรคและความรุนแรงที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

4 กิจกรรมทางกาย คือ การขยับเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดในชีวิตประจำวันในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดการใช้และเผาผลาญพลังงานโดยกล้ามเนื้อ เช่น การทำงาน การเดินทาง กิจกรรมนันทนาการ การทำงานบ้าน การปั่นจักรยาน และการเล่นกีฬา

5 อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างดังกล่าว

6 องค์กรสุขภาวะหรือองค์กรแห่งความสุข คือ องค์กรที่มีการส่งเสริมและพัฒนาคนในองค์กรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยมีเป้าหมายให้คนทำงานในองค์กรมีสุขภาพที่ดีในการทำงาน มีความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน มีทักษะ และประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน มีความรักและผูกพันองค์กร เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ของระบบการจัดการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เหมาะสมและยั่งยืน

7 COFACT (Collaborative Fact Checking) คือพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบเรื่องที่น่าสงสัย ข่าวลวง ข่าวลือ หรือความเชื่อต่างๆ ให้กระจ่างชัด ด้วยการร่วมมือกันให้ความคิดเห็น ให้แหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ แบ่งปันความรู้ประสบการณ์ หรือนำข้อความนั้นมาส่งต่อให้ผู้ที่ใช้งานระบบได้พิจารณาว่าควรเชื่อหรือไม่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข่าวลวงหรือความเชื่อถือที่ไม่กระจ่างชัด และได้รับความรู้ที่รอบด้านในประเด็นนั้นก่อนส่งต่อไปให้เพื่อนและครอบครัวในสื่อสังคมออนไลน์

8 ทีมหมอครอบครัว คือ ทีมผู้ดูแลสุขภาพประจำตัวครอบครัว กระจายครอบคลุมในทุกครัวเรือนทั่วประเทศไทย พร้อมให้คำปรึกษาและดูแลสุขภาพถึงที่บ้าน และสามารถส่งต่อผู้ป่วยโดยมีแพทย์เป็นที่ปรึกษา

9 โรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับแข็ง โรคอ้วน และโรคหลอดเลือดตีบตัน

10 ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function : EF) คือ ความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้คนเราสามารถควบคุมความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตนต้องการสำเร็จ หรือเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นทักษะขั้นสูงของสมองที่ต้องได้รับโอกาสและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการฝึกฝนและพัฒนาและมีความเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองและครูโดยตรงเพราะใกล้ชิดเด็กที่สุดและมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 

11 เครื่องมือด้านการจัดการที่จะช่วยให้องค์กรแปลงกลยุทธ์และเป้าหมายไปสู่การปฏิบัติ โดยการประเมินครอบคลุมการดำเนินงานด้านผลสัมฤทธิ์ตามพันธกิจ ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านการเงิน และด้านปฏิบัติการ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 สิงหาคม 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A8988

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!