ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 August 2023 00:35
- Hits: 1438
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2566
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เสนอดังนี้
1. อนุมัติให้กรมควบคุมโรคเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยจำนวน 60,000,000 โดส (AstraZeneca) ปี พ.ศ. 2565 (โครงการจัดหาวัคซีนฯ AstraZeneca) และโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย จำนวน 30,002,310 โดส (Pfizer) ปี พ.ศ. 2565 (โครงการจัดหาวัคซีนฯ Pfizer) โดยขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ เป็นเดือนมีนาคม 2567 พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมควบคุมโรค รับความเห็นขอบ คกง. ไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
2. อนุมัติให้จังหวัด1 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการจำนวน 9 โครงการ กรอบวงเงิน 74.1363 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 (โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ) รับความเห็นของ คกง. ไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
3. มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 1 และ 2 เร่งปรับปรุงรายละเอียดของโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform : eMENSCR) (ระบบeMENSCR) ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี รายงานผลสัมฤทธิ์และคืนเงินกู้เหลือจ่าย (ถ้ามี) ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
4. รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ราย 3 เดือน ครั้งที่ 8 (1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2566) พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คกง. ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
สาระสำคัญของเรื่อง
คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และการจัดทำรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2564 ราย 3 เดือน ครั้งที่ 8 (1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2566) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการกรณีโครงการจัดหาวัคซีนฯ AstraZeneca และโครงการจัดหาวัคซีนฯ Pfizer ของ สธ. มีรายละเอียด ดังนี้
โครงการ |
มติคณะรัฐมนตรีเดิม |
มติ คกง. |
1.1 โครงการจัดหาวัคซีนฯ AstraZeneca |
สิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 (กรอบวงเงิน 18,639.1073 ล้านบาท) |
ขยายระยะเวลาโครงการเป็นสิ้นสุด เดือนมีนาคม 2567 เนื่องจากอยู่ระหว่างรอหนังสือแจ้งยืนยันผลการเจรจากับบริษัท AstraZeneca (ประเทศไทย) จำกัด ในการขอเปลี่ยนแปลงรายการจากวัคซีน AstraZeneca ที่ยังไม่ได้รับการส่งมอบจำนวน 19.0744 ล้านโดส เป็น LAAB2 |
ความเห็น คกง. การเปลี่ยนแปลงวัคซีน AstraZeneca เป็นผลิตภัณฑ์อื่น (LAAB) นั้น ต้องมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และควรบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ไม่ให้เสียประโยชน์และไม่เหลือทิ้ง นอกจากนี้ภายหลังจากได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการแล้ว เห็นควรให้กรมควบคุมโรคเร่งเสนอขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการตามขั้นตอนข้อ 18 (2) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ต่อไป |
||
1.2 โครงการจัดหาวัคซีนฯ Pfizer |
สิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 (กรอบวงเงิน 16,297.7006 ล้านบาท) |
ขยายระยะเวลาโครงการเป็นสิ้นสุด เดือนมีนาคม 2567 ปัจจุบันได้รับการส่งมอบวัคซีนครบแล้ว (จำนวน 30,002,310 โดส) แต่อยู่ระหว่างการบริหารจัดการวัคซีนในส่วนที่เหลือเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานบริหารจัดการวัคซีน Pfizer (Maroon Cap) ในพื้นที่ |
ความเห็น คกง. เนื่องจากกรมควบคุมโรคได้รับวัคซีนครบตามจำนวนแล้ว จึงควรเร่งรัดการกระจายวัคซีนไปยังหน่วยบริการในระดับพื้นที่ รวมถึงเร่งกระบวนการในการส่งเอกสารหลักฐานเพื่อทำการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด |
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามผลการพิจารณาของ คกง. เห็นควรมอบหมายให้กรมควบคุมโรค เร่งปรับปรุงรายละเอียดของโครงการในระบบ eMENSCR ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด
2. การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการกรณีโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ของกระทรวงมหาดไทย
2.1 คกง. เห็นชอบให้จังหวัดเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ จำนวน 7 จังหวัด (จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสมุทรสาคร) รวม 9 โครงการ กรอบวงเงินรวม 74.1363 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
2.1.1 ยกเลิกการดำเนินโครงการ จำนวน 2 จังหวัด (จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดนครราชสีมา) รวม 3 โครงการ กรอบวงเงิน 2.1372 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างและลงนามผูกพันสัญญาได้ทันภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี
2.1.2 ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการเป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 จำนวน 1 จังหวัด (จังหวัดนครศรีธรรมราช) รวม 2 โครงการ กรอบวงเงิน 16.4539 ล้านบาท เนื่องจากดำเนินการแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างเบิกจ่ายเงินตามขั้นตอน
2.1.3 ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการเป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2566 จำนวน 3 จังหวัด (จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดนราธิวาส) รวม 3 โครงการ กรอบวงเงิน 52.8652 ล้านบาท เนื่องจากได้ลงนามผูกพันสัญญาแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ
2.1.4 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการและขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 จำนวน 1 จังหวัด (จังหวัดสมุทรสาคร) รวม 1 โครงการ วงเงิน 2.6800 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามผลการพิจารณาของ คกง. เห็นควรมอบหมายให้จังหวัด เร่งปรับปรุงรายละเอียดของโครงการในระบบ eMENSCR ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด
2.2 เห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เร่งคืนเงินกู้เหลือจ่ายตามข้อ 22 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งจัดทำรายงานประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการประเมินผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการตามที่กระทรวงการคลังกำหนดต่อไป
3. รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ราย 3 เดือน ครั้งที่ 8 (1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2566) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
3.1 ภาพรวมผลการดำเนินงานและเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 ดังนี้
แผนงาน |
จำนวนโครงการ |
รายละเอียด |
(1) โครงการของส่วนราชการ |
85 |
● กรอบวงเงินอนุมัติรวม 494,760.93 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) โครงการที่แล้วเสร็จ จำนวน 79 โครงการ วงเงินอนุมัติรวม 455,233.34 ล้านบาท และมีผลการเบิกจ่ายรวม 438,671.87 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.36 ของวงเงินอนุมัติ (2) โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 6 โครงการ วงเงินอนุมัติรวม 39,527.59 ล้านบาท และมีผลการเบิกจ่ายรวม 30,662.90 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.57 ของวงเงินอนุมัติ |
(2) โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ |
2,285 |
● กรอบวงเงินอนุมัติรวม 4,762.87 ล้านบาท โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินโครงการแบ่งเป็น 4 สถานะ ได้แก่ (1) โครงการแล้วเสร็จ จำนวน 2,224 โครงการ วงเงินอนุมัติรวม 4,526.06 ล้านบาท (2) โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 27 โครงการ วงเงินอนุมัติรวม 97.30 ล้านบาท (3) โครงการที่สิ้นสุดระยะเวลาโดยไม่มีการเบิกจ่าย จำนวน 28 โครงการ วงเงินอนุมัติรวม 67.51 ล้านบาท (4) โครงการที่ขอขยายระยะเวลา จำนวน 6 โครงการ วงเงินอนุมัติรวม 72.00 ล้านบาท |
3.2 ข้อเสนอแนะของ คกง.
(1) กรณีโครงการแล้วเสร็จ ให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเร่งดำเนินการคืนวงเงินเหลือจ่าย โดยควรตรวจสอบความถูกต้องของการเบิกจ่ายให้ครบถ้วนก่อนจัดส่งรายงานผลสำเร็จของโครงการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตามข้อ 21 และ 22 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
(2) กรณีโครงการของส่วนราชการที่มีสถานะอยู่ระหว่างดำเนินการที่มีความก้าวหน้าการเบิกจ่ายน้อย ให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการ เร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และหากหน่วยงานรับผิดชอบโครงการพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถดำเนินโครงการได้ให้เร่งเสนอขอขยายระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการให้ คกง. พิจารณาตามขั้นตอน
(3) กรณีโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ สิ้นสุดระยะเวลาเบิกจ่าย หากหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้ดำเนินการลงนามผูกพันสัญญาภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 แล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ เห็นควรให้หน่วยงานรับผิดชอบเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และหากหน่วยงานรับผิดชอบโครงการพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถดำเนินโครงการดังกล่าวได้ให้เร่งเสนอเรื่องให้ คกง. พิจารณาตามขั้นตอน สำหรับโครงการที่ยังไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างได้ หรือยังไม่ได้ผูกพันสัญญาภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 เห็นควรให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเร่งดำเนินการเสนอขอยกเลิกโครงการให้ คกง. พิจารณาตามขั้นตอนโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
(4) กรณีโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการที่มีความก้าวหน้าน้อยและหรือไม่มีผลเบิกจ่าย ให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเร่งดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จตามแผนที่ได้รับการอนุมัติขยายเวลาแล้ว สำหรับโครงการที่ไม่มีผลเบิกจ่ายใดๆ หรือประสบปัญหาระหว่างดำเนินโครงการที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ ให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเร่งเสนอเรื่องขอยกเลิกโครงการให้ คกง. พิจารณาโดยเร็ว
3.3 มติ คกง.
รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ราย 3 เดือน ครั้งที่ 8 (1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2566) พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คกง. ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
__________________
1 จำนวน 7 จังหวัด (จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสมุทรสาคร) รวม 9 โครงการ กรอบวงเงินรวม 74.1363 ล้านบาท
2 LAAB (Long Acting Antibody) คือ แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว สำหรับใช้เพื่อการป้องกันและรักษาโควิด-19 โดยใช้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ไม่เพียงพอจากโรคต่างๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยล้างไต รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8985