การรับรองร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน (ASEAN Leaders’Declaration on Sustainable Resilience)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 August 2023 00:04
- Hits: 1326
การรับรองร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน (ASEAN Leaders’Declaration on Sustainable Resilience)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Declaration on Sustainable Resilience) ทั้งนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างปฏิญญาฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยและอาเซียน ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าวตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียน ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของประชาคมอาเซียนต่อความไม่แน่นอน ความชับซ้อน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบทั้งจากภัยพิบัติและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันดำเนินการตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศภายใต้กรอบการดำเนินงานระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พร้อมทั้งได้ให้หลักการและแนวทางสำหรับให้คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ACDM) และองค์กรที่เกี่ยวข้องในอาเซียนร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์ที่มีความครอบคลุมรอบด้าน เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคอาเซียนมีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลของกลไกการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Ministerial Meeting on Disaster Management: AMMDM)
ทั้งนี้ สาธารณรัฐอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ปี พ.ศ. 2566 จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 4 – 7 กันยายน 2566 โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 จะมีการรับรองร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Declaration on Sustainable Resilience) ที่จะเสนอในนามคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management: ACDM) เป็นหนึ่งในเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ
2. ข้อคิดเห็นของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ร่างปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญเพื่อตอกย้ำความสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนภายในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการส่งเสริความร่วมมือข้ามภาคส่วนระหว่างองค์กรรายสาขาที่เกี่ยวข้องในอาเซียน โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาคโดยเน้นชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนการเน้นย้ำการดำเนินการตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศภายใต้กรอบการดำเนินงานระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมให้การรับรองไว้แล้ว เช่น กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558 - 2573 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ความตกลงปารีส และความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response: AADMER) เป็นต้น กอปรกับร่างปฏิญญาฯ มีหลักการและแนวทางที่สอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแผนดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เพื่อเป็นแผนแม่บทในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศสำหรับให้หน่วยงานทุกภาคส่วนดำเนินการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ จึงเป็นภารกิจที่หน่วยงานดำเนินการอยู่เป็นประจำและได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การให้ความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาฯ จึงไม่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกอบกับกระทรวงการต่างประเทศมีความเห็นว่า ร่างปฏิญญาฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีการลงนาม จึงไม่เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8981