การเร่งรัดออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 August 2023 23:52
- Hits: 1391
การเร่งรัดออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินการจัดทำกฎอื่นใดที่ออกตามบทอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจำนวน 6 ฉบับ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560
2. พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559
3. พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5. พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542
6. พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สาระสำคัญ
การขอขยายระยะเวลาในการออกกฎตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เป็นการขอขยายระยะเวลาในการออกกฎจำนวน 21 ฉบับ ซึ่งออกตามบทอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ 1) พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 2) พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 3) พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 4) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 5) พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 6) พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ 7) พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยการขอขยายระยะเวลาการออกกฎดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติให้กฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับและบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้นให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว โดยระยะเวลา 2 ปีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกิน 1 ปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลา 2 ปีดังกล่าว ทั้งนี้ มาตรา 39 (1) กำหนดให้ระยะเวลา 2 ปี ตามมาตรา 22 สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้นับแต่เมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ (นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564) ซึ่งพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ ใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562) ดังนั้น การออกกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามบทอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 แต่เนื่องจากการดำเนินการออกกฎดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จทันภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาในการออกกฎต้องออกตามบทอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (15 สิงหาคม 2566) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปีแล้ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8749