WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญรอบ 12 เดือน ปี 2565

GOV 7

รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญรอบ 12 เดือน ปี 2565

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญรอบ 12 เดือน ปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (10) ที่บัญญัติให้สำนักงาน คปภ. จัดทำรายงานประจำปีเพื่อแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของ คปภ. และสำนักงาน คปภ. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ภาพรวมธุรกิจประกันภัยของไทย รอบ 12 เดือน ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 885,323 ล้านบาท1 ประกอบด้วย เบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิต 611,106 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.45 และเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันวินาศภัย 274,216 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.56 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 ธุรกิจประกันภัยจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ -0.13 ถึง 1.87 คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันภัยประมาณ 875,426-910,816 ล้านบาท 

          2. การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และตามนโยบายของรัฐบาล สรุปได้ ดังนี้ 

 

การดำเนินการ

 

ปัญหา/อุปสรรค/แนวทางการแก้ไข

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับเปลี่ยน : ปรับเปลี่ยนและเพิ่มมิติการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงพร้อมรับมือความเสี่ยงใหม่และสอดคล้องกติกาสากล

(1) ปรับเปลี่ยนกรอบการกำกับดูแลเพื่อให้เกณฑ์การกำกับดูแลมีความยืดหยุ่น กำกับเท่าที่จำเป็น สอดคล้องกับกติกาสากลและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยดำเนินโครงการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติ ปรับปรุงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัยและเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย และปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง

(2) พัฒนาเครื่องมือและเพิ่มมิติการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เท่าทัน พร้อมป้องกัน และประเมินความเสี่ยงใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ศึกษาแนวทางการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันภัยปรับเปลี่ยนองค์กรเป็น Digital Insurance จัดทำแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลข้อมูลสำหรับบริษัทประกันภัย และพัฒนาระบบประมวลผลอัจฉริยะเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย ระยะที่ 2

(3) สร้างกลไกและเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย โดยจัดทำคู่มือและผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

(4) ส่งเสริมงานวิจัยและยกระดับองค์ความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ทุนสนับสนุนการวิจัยหรือนวัตกรรมและจัดอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการประกันภัย

(5) สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลทั้งในและนอกประเทศอย่างบูรณาการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบประกันภัยและสนับสนุนการเชื่อมโยงตลาดประกันภัย เช่น ศึกษาแนวทางการเจรจาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินสาขาประกันภัยภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน

 

เนื่องจากภาคธุรกิจประกันภัยมีความแตกต่างกัน เช่น ขนาดธุรกิจ บุคลากร ระบบเทคโนโลยี ดังนั้น การออกหรือปรับกฎเกณฑ์ใหม่ต้องคำนึงถึงความพร้อมในด้านต่าง เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามได้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เชื่อมั่น : สร้างความเชื่อมั่นและปลูกฝังค่านิยมด้านการประกันภัยด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยและกลไกที่เป็นธรรม

(1) เร่งสร้างความตระหนักถึงความรู้และความสำคัญด้านการประกันภัยด้วยเครื่องมือและช่องทางที่หลากหลาย ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี เช่น การจัดอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประกันภัยผ่านโครงการต่าง

(2) ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น รวมถึงมีเครื่องมือในการวางแผนทางการเงินและการประกันภัย เช่น การจัดทำแอปพลิเคชัน Online Social Game และการจัดกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้

(3) ยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านการประกันภัยและพฤติกรรมทางตลาดของบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม เช่น ปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย

(4) เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. เช่น พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย

 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้รูปแบบการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น แนวทางในการกำกับดูแลเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ก้าวล้ำ : สนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยปรับตัวให้ทันกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้ระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมและการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น

(1) เร่งผลักดันและสร้างระบบนิเวศน์ด้านกฎเกณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้ธุรกิจประกันภัยปรับตัวเป็นดิจิทัล เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง ความต้องการของลูกค้าและปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัยและศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ

(2) พัฒนาหลักเกณฑ์และแนวทางเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรูปแบบใหม่รองรับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง โดยจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อออกประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย

(3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการประกันภัยและมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech Hub) เช่น ขยายบทบาทศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านประกันภัยในการให้คำแนะนำแก่บริษัทประกันภัยและ Startups

(4) สร้างกลไกความร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เช่น พัฒนาระบบรายงานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับและพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับภาคธุรกิจประกันภัย

(5) ยกระดับความสามารถของธุรกิจประกันภัยในการป้องกัน ตรวจจับและตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น จัดทำกรอบการประเมินระดับความพร้อมด้านการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับบริษัทประกันภัย

 

ข้อมูลด้านการประกันภัยมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงหลายภาคส่วนจึงต้องใช้เวลาในการจัดทำฐานข้อมูลและสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์มากที่สุด

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนา : ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและความสามารถในการรับความเสี่ยงภัยที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

(1) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้บริษัทมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ที่รองรับความต้องการและรูปแบบการดำเนินชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปและสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น เช่น การดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรมทางด้านประกันภัยและผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย และการพัฒนาเกณฑ์การคำนวนเงินสำรองทางภาษี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัทประกันภัย

(2) ต่อยอดและขยายผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นและตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การประกันภัยสำหรับรายย่อยและการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล

(3) ผลักดันการประกันสุขภาพภาคเอกชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันสุขภาพมากขึ้น เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัยและการกำหนดกรอบแนวทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยสุขภาพระยะยาว

(4) ส่งเสริมให้การประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภาครัฐ เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2565

 

ผู้บริโภคมีความต้องการความคุ้มครองเฉพาะรายและเฉพาะความเสี่ยงมากขึ้นบริษัทประกันภัยจึงต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ทั้งนี้อัตราการเจ็บป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) อาจส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงกว่าที่คาดการณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรชั้นนำ บุคลากรมีศักยภาพสูง กระบวนการทำงานมีความคล่องตัวและขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

(1) พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพและสมรรถนะเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงาน คปภ. และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พัฒนาหลักสูตรด้านการกำกับดูแลของผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

(2) วางโครงสร้างและรูปแบบการทำงานใหม่ รวมถึงปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการทำงานร่วมกัน เช่น การปรับปรุงพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อรองรับการเป็น Smart OIC2

(3) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับทิศทางและยุทธศาสตร์องค์กร เช่น การศึกษาสภาพแวดล้อมสถานที่ทำงานเพื่อเตรียมเป็น Smart Workplace และปรับปรุงข้อมูล กระบวนงาน และระบบงานด้านทรัพยากรบุคคล

(4) ปรับกระบวนการทำงานและระบบงานที่สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. และใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการตัดสินใจ รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการทำงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลที่มีความคล่องตัวสูง เช่น พัฒนาแพลตฟอร์มการออกใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย/ผู้ประเมินวินาศภัยทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร

(5) สร้างกลไกการมีส่วนร่วม เปิดรับมุมมองจากทุกภาคส่วนและเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับสาธารณชนและภายในองค์กร โดยเข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐผ่านการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการจัดประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2565 เพื่อเป็นเวทีในการสื่อสารทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย

 

สภาพแวดล้อมของภาคการเงินและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้สำนักงาน คปภ. ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีและตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งศักยภาพของพนักงาน วัฒนธรรมและกระบวนการทำงานที่ต้องมีความยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสายงานและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน

 

          3. มาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อผู้เอาประกันภัย ประชาชน ภาคธุรกิจประกันภัย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เช่น

               3.1 มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น หารือกับภาคธุรกิจประกันภัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริษัทประกันภัยอนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่รักษาตัวในศูนย์แยกกักตัวในชุมชนหรือสถานที่กักตัวในโรงแรม

               3.2 มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับบริษัทประกันภัย เช่น มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 โดยทำการตกลงตามความสมัครใจของผู้เอาประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ หรือบุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19

               3.3 มาตรการเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. เช่น กำหนดให้มีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละจังหวัดต่อผู้บริหารอย่างสม่ำเสมอ และเตรียมมาตรการรองรับและช่วยเหลือพนักงานที่ติดเชื้อโควิด-19

          4. การประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดของสำนักงาน คปภ. รอบ 12 เดือน ปี 2565 จำนวน 14 ตัวชี้วัด มีค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักรวมอยู่ที่ 4.61 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน

          5. ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการด้านประกันภัยกับสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในปี 2565 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,023 ราย โดยประเมินผลความพึงพอใจ 3 ด้าน ได้แก่ คุณภาพการให้บริการ การเข้าถึงบริการ และความเป็นธรรม มีระดับความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ที่ระดับความพึงพอใจมากที่สุดที่ร้อยละ 93.60

____________________ 

1 จากการประสานข้อมูลกับ กค. เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 พบว่า เนื่องจากมีการปรับมูลค่าเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันวินาศภัยให้เป็นเลขจำนวนเต็มดังนั้น จึงส่งผลต่อการคำนวณผลรวมของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง

2 Smart OIC คือ แผนการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจประกันภัย ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบจากโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งแนวโน้มรูปแบบธุรกิจเพื่อกำกับการดูแลและส่งเสริม ภาคธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A8747

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!