การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 August 2023 23:26
- Hits: 1475
การพิจารณารับรองวัดคาทอลิก ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอการรับรองวัดคาทอลิกเป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 (ระเบียบฯ) จำนวนวัด 49 วัด ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของเรื่อง
วธ. รายงานว่า
1. ระเบียบฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 เพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณาจัดตั้งและรับรองวัดคาทอลิก1 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก (คณะกรรมการฯ) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน) มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิกและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณารับรองวัดคาทอลิกต่อไป โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 สิงหาคม 2565, 8 พฤศจิกายน 2565, 21 กุมภาพันธ์ 2566 และ 16 พฤษภาคม 2566) เห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิกไปแล้วรวม 155 วัด
2. วธ. (กรมการศาสนา) ได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับระยะเวลาการยื่นขอให้รับรองวัดคาทอลิกตามข้อ 16 แห่งระเบียบฯ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาแล้ว โดยมีความเห็นสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นหารือ |
ข้อพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา |
|
(1) กำหนดระยะเวลาให้มิซซังยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ระเบียบฯ ใช้บังคับ (ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2566) สามารถขยายได้หรือไม่ หากขยายได้ต้องดำเนินการอย่างไร |
การกำหนด “ระยะเวลาสองปี” ไว้ในข้อ 16 มีลักษณะเป็นเงื่อนเวลาที่กำหนดขึ้นสำหรับใช้เฉพาะการดำเนินการยื่นคำขอรับรองดังกล่าวและไม่ได้มีความใดในระเบียบฯ ที่อาจตีความได้ว่า หลักเกณฑ์การขอรับรองวัดคาทอลิกตามข้อ 16 จะคงอยู่ไปตลอดจนกว่าจะได้มีการยื่นคำขอรับรองและการพิจารณารับรองวัดคาทอลิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ระเบียบฯ ใช้บังคับจนแล้วเสร็จ ดังนั้น การยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกตามข้อ 16 ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ระเบียบฯ มีผลใช้บังคับ อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลมีนโยบายที่จะยกเว้นการใช้บังคับหลักเกณฑ์การจัดตั้งวัดคาทอลิกให้แก่วัดคาทอลิกที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ระเบียบฯ ใช้บังคับตามข้อ 16 ต่อไป ก็สามารถกระทำได้โดยการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบดังกล่าวเพื่อกำหนดให้มีการขยายระยะเวลาสิ้นสุดออกไปเกินสองปีหรือยกเลิกข้อกำหนดระยะเวลาในข้อ 16 |
|
(2) กรณีไม่สามารถขยายระยะเวลาได้ หากมิซซังได้ยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกทั้งหมดต่อกรมการศาสนาภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ระเบียบฯ ใช้บังคับแล้ว กรมการศาสนาและพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ในการรับรองวัดคาทอลิกนั้น เมื่อเกินระยะเวลาดังกล่าวได้หรือไม่ และจะมีผลทางกฎหมายต่อสถานะของวัดคาทอลิกที่ได้รับการรับรองหรือไม่ |
การกำหนดระยะเวลา “ภายในสองปีนับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ” ตามข้อ 16 วรรคหนึ่ง เป็นการกำหนดเงื่อนเวลาเพื่อให้มิซซังโดยความเห็นชอบของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ระเบียบฯ ใช้บังคับมิใช่กำหนดระยะเวลาให้กรมการศาสนาและพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ดังนั้นหากมิซซังโดยความเห็นชอบของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกใดต่อกรมการศาสนาและพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมสามารถพิจารณาคำขอดังกล่าวที่ได้ยื่นไว้และอยู่ระหว่างการพิจารณาต่อไปได้แม้จะพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ 16 แห่งระเบียบฯ แล้ว และผลการพิจารณาคำขอที่ออกภายหลังระยะเวลาดังกล่าวไม่มีผลกระทบทางกฎหมายต่อสถานะของวัดคาทอลิกที่จะได้รับการรับรอง (วัดที่เสนอคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกก่อนวันที่ 15 มิถุนายน 2566) |
|
(3) คำขอให้รับรองวัดคาทอลิกที่มิซซังได้ยื่นภายในระยะเวลาสองปี สามารถแก้ไขข้อมูลหรือยื่นเอกสารประกอบเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลาสองปีได้หรือไม่ และพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้มีการรับรองวัดคาทอลิกเช่นเดียวกับคำขอที่ยื่นถูกต้องตั้งแต่แรกได้หรือไม่ |
ผู้ยื่นคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานที่แสดงข้อมูลและรายละเอียดดังกล่าวให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 16 ซึ่งกรมการศาสนาสมควรทำความเข้าใจกับผู้ยื่นคำขอให้ชัดเจนว่า ประสงค์ที่จะให้ผู้ยื่นคำขอแสดงเอกสารหลักฐานใดเพื่อที่จะได้จัดเตรียมข้อมูลดังกล่าวยื่นมาพร้อมกับคำขอเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการประวิงเวลาหรือขยายเวลาการยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาโดยปริยาย อย่างไรก็ดี หากในชั้นการพิจารณาของกรมการศาสนาหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า มีความจำเป็นต้องให้มีการแก้ไขข้อมูลหรือยื่นเอกสารประกอบเพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสองปี ก็อาจกระทำได้ โดยต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 25582 โดยเคร่งครัด และเมื่อมีการแก้ไขคำขอหรือได้รับเอกสารเพิ่มเติมแล้ว กรมการศาสนาหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้มีการรับรองวัดคาทอลิกได้ |
3. ต่อมาคณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ได้พิจารณาคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกทั้ง 49 วัด แล้วเห็นว่าวัดคาทอลิกดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อที่ 16 แห่งระเบียบดังกล่าวประกอบด้วย (1) ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองวัดคาทอลิกจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย (2) มีข้อมูลที่ตั้งวัด (3) มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน (4) มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิก และ (5) มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น มีใบอนุญาตหรือใบรับรองการก่อสร้างอาคารหรือเอกสารรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคารวัด/มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบศาสนพิธีและการพำนัก/มีสถานที่ สิ่งปลูกสร้าง และอุปกรณ์ ซึ่งจำเป็นแก่การประกอบศาสนกิจและการพำนักครบถ้วน/วัดได้ดำเนินงานตามภารกิจของมิซซังในด้านต่างๆ เช่น ด้านอภิบาลคริสตชนและด้านเผยแผ่ธรรมเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงมีมติให้เสนอคำขอให้รับรองวัดคาทอลิกรวมจำนวน 49 วัด ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา ให้การรับรองตามนัยระเบียบดังกล่าว
4. รายละเอียดของวัดคาทอลิก จำนวน 49 วัด สรุปได้ ดังนี้
4.1 รายละเอียดของวัดจำแนกเป็นรายจังหวัด
หน่วย : แห่ง
จังหวัด |
จำนวนวัด |
จังหวัด |
จำนวนวัด |
กรุงเทพมหานคร |
2 |
ปัตตานี |
1 |
สมุทรปราการ |
1 |
ยะลา |
2 |
จันทบุรี |
2 |
สุรินทร์ |
1 |
เพชรบูรณ์ |
1 |
ศรีสะเกษ |
3 |
ลำปาง |
1 |
อุบลราชธานี |
9 |
เชียงราย |
7 |
อำนาจเจริญ |
3 |
ชุมพร |
1 |
กาฬสินธุ์ |
3 |
พังงา |
1 |
สกลนคร |
3 |
ภูเก็ต |
2 |
นครพนม |
2 |
ตรัง |
1 |
มุกดาหาร |
2 |
สงขลา |
1 |
|
|
4.2 ประโยชน์ของวัดคาทอลิกที่มีต่อชุมชน/ท้องถิ่น
4.2.1 เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อความสงบและการพัฒนาจิตใจ
4.2.2 เป็นสถานที่พบปะพูดคุยของคนในชุมชนเมื่อมาประกอบศาสนกิจ ส่งผลให้เกิดความสามัคคีในชุมชน
4.2.3 ใช้สถานที่ของวัดเป็นที่ออกกำลังกาย
4.2.4 เป็นแหล่งศึกษาด้านวัฒนธรรมประเพณีของคาทอลิกแก่นักเรียนและประชาชนทั่วไป
4.2.5 เป็นแหล่งเรียนรู้พระธรรมคำสอนคริสต์ศาสนาและฝึกอบรมพัฒนาการเป็นพลเมืองที่ดีให้กับประชาชนชาวไทย
__________________________
1 การรับรองวัดคาทอลิกจะทำให้วัดได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเพื่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถาน เช่น โครงการเงินอุดหนุนกิจกรรมบูรณะศาสนสถาน รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีของคริสต์ศาสนิกชนที่บริจาคเงินให้แก่วัด
2 มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 บัญญัติว่าในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำใดจะต้องได้รับอนุญาต ผู้อนุญาตจะต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (ถ้ามี) ในการยื่นคำขอ ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นมาพร้อมกับคำขอ และจะกำหนดให้ยื่นคำขอผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการมายื่นคำขอด้วยตนเองก็ได้
คู่มือสำหรับประชาชนตามวรรคหนึ่งให้ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ที่กำหนดให้ยื่นคำขอและเผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อประชาชนประสงค์จะได้สำเนาคู่มือดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดสำเนาให้โดยคิดค่าใช้จ่ายตามควรแก่กรณีก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นให้ระบุค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ในคู่มือสำหรับประชาชนด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8745