รายงานการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ประจำปี พ.ศ. 2565 และรายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 August 2023 23:21
- Hits: 1353
รายงานการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ประจำปี พ.ศ. 2565 และรายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (คณะกรรมการฯ) เสนอ รายงานการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ประจำปี พ.ศ. 2565 (รายงานการประเมินผลฯ) และรายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการจากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี พ.ศ. 2565 (รายงานการสำรวจความพึงพอใจฯ) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 มาตรา 8 (5) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการฯ ประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งรายงานผลการประเมินดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 กุมภาพันธ์ 2565) เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลฯ แล้ว โดยต้องแสดงรายละเอียดของการจัดประชารัฐสวัสดิการ เช่น จำนวนผู้ได้รับประชารัฐสวัสดิการและต้นทุนหรือมูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ และผลประโยชน์ของการจัดประชารัฐสวัสดิการ] ทั้งนี้คณะกรรมการฯ มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 เห็นชอบรายงานประเมินผลฯ และรายงานการสำรวจความพึงพอใจฯ แล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รายงานการประเมินผลฯ ปี 2565 โดยใช้ข้อมูลในการประเมินผลจากข้อมูลที่เกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565 และข้อมูลจำนวนเงินงบประมาณที่กองทุน ประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนประชารัฐฯ) ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปผลได้ ดังนี้
1.1 ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของปี 2565
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีจำนวน 13.26 ล้านคน โดยได้รับการจัดประชารัฐสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5 สวัสดิการ ได้แก่ (1) ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค วงเงิน 200-300 บาท/คน/เดือน (2) ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม วงเงิน 45 บาท/คน/3 เดือน (3) ค่าโดยสารสาธารณะ ได้แก่ ค่ารถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถไฟฟ้า วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน ค่ารถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน และค่ารถโดยสารรถไฟ วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน (4) ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน และ ค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน (จะโอนจะจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามค่าบริการที่จ่ายจริง) และ (5) ค่าเพิ่มเบี้ยความพิการ วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน ส่งผลให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลได้รับวงเงินช่วยเหลือ จำนวน 2,330-2,430 บาท/คน/เดือน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนในเขตพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ได้รับวงเงินช่วยเหลือ จำนวน 1,830-1,930 บาทต่อคนต่อเดือน รวมมูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จำนวน 46,930.81 ล้านบาท1
1.2 ผลการดำเนินงาน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ใช้สิทธิสวัสดิการรวมถึงวงเงินที่ใช้สิทธิสวัสดิการของวงเงินที่ได้รับ สรุปได้ ดังนี้
รายการสวัสดิการ |
อัตราการใช้สิทธิ เปรียบเทียบกับผู้ได้รับสิทธิทั้งหมด (ร้อยละ) |
อัตรามูลค่าการใช้สิทธิ เปรียบเทียบกับมูลค่าวงเงินสิทธิที่ได้รับ (ร้อยละ) |
(1) ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค |
|
|
1) วงเงิน 200 บาท |
98.21 |
99.92 |
2) วงเงิน 300 บาท |
98.68 |
99.91 |
(2) ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม |
24.48 |
99.75 |
(3) ค่ารถโดยสารสาธารณะ |
|
|
1) รถไฟ |
0.37 |
52.26 |
2) บขส. |
0.10 |
85.83 |
3) ขนส่งในเขต กทม.และปริมณฑล |
10.05 |
33.02 |
(4) ค่าสาธารณูปโภค |
|
|
1) ค่าไฟฟ้า* |
7.98 |
- |
2) ค่าน้ำประปา* |
2.24 |
- |
*หมายเหตุ กองทุนประชารัฐฯ ไม่ได้มีการตั้งวงเงินค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในแต่ละเดือน เนื่องจากการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต้องชำระค่าบริการในแต่ละเดือนด้วยตนเองและกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางจะโอนเงินคืนเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามค่าบริการที่จ่ายจริง จึงไม่มีอัตราส่วนมูลค่าการใช้เปรียบเทียบกับวงเงินสำหรับสวัสดิการดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการใช้ประโยชน์จากการจัดหาประชารัฐสวัสดิการพบว่า ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้สิทธิเกี่ยวกับค่าซื้อสินค้าอุปโภคสูงที่สุด และส่วนใหญ่มีการใช้วงเงินเกือบเต็มจำนวนในคราวเดียว รองลงมาคือ ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สวัสดิการดังกล่าวสามารถบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการได้ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดประชารัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง ขณะที่สวัสดิการอื่นๆ ที่มีจำนวนผู้ใช้สิทธิน้อยกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิของวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสวัสดิการค่าโดยสารรถสาธารณะ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ดังนี้
1.2.1 ประเภทรถโดยสารสาธารณะที่สามารถใช้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับระบบขนส่งสาธารณะทั่วไปที่ผู้มีบัตรสวัสดิการสามารถใช้ได้
1.2.2 ข้อจำกัดด้านพื้นที่การใช้บริการ โดยปัจจุบันพบว่าผู้มีบัตรสวัสดิการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 และปี 2561 นอกเขต กทม. และปริมณฑล ไม่สามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะใน กทม. ได้ ส่งผลให้มีผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะใน กทม. น้อย
1.2.3 การใช้สวัสดิการของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจากการกำหนดวงเงินแยกรายประเภทรถโดยสาร ส่งผลให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสูญเสียวงเงินรถโดยสารสาธารณะในส่วนที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประสิทธิภาพในการเข้าถึงสวัสดิการอาจจะยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดประชารัฐสวัสดิการ
1.3 ผลประโยชน์และความคุ้มค่าของการจัดประชารัฐสวัสดิการ
ผลประโยชน์ทางตรง เป็นการลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.26 ล้านคน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อยู่ในเขต กทม. และปริมณฑลได้รับผลประโยชน์อยู่ที่ 2,330-2,430 บาท/คน/เดือน ขณะที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ได้รับผลประโยชน์อยู่ที่ 1,830-1,930 บาท/คน/เดือน และในส่วนผลประโยชน์ทางอ้อม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการใช้จ่ายเงินกองทุนประชารัฐฯ เพื่อเป็นวงเงินเพื่อซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น จำนวน 43,303.15 ล้านบาท ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของภาคเอกชนเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 75,347.48 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาความคุ้มค่าของการจัดประชารัฐสวัสดิการ เมื่อนำมาคำนวนแล้ว2 พบว่าการดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำปี 2565 มีความคุ้มค่า โดยผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าต้นทุนอยู่ 26,303.24 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า งบประมาณที่รัฐใช้สำหรับจัดสวัสดิการสามารถลดภาระค่าครองชีพและช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนและเข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากโดยตรง
2. รายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการจากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี พ.ศ. 2565
คณะกรรมการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบัญชีกลาง กทม. และเมืองพัทยาสำรวจความพึงพอใจจากกลุ่มตัวอย่างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,105 ราย ระหว่างวันที่ 1 กันยายน-30 ตุลาคม 2565 สรุปผลได้ ดังนี้
2.1 ด้านความพึงพอใจ กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยรวมในระดับที่มาก โดยเมื่อพิจารณาแบ่งตามกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่า กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นผู้ว่างงาน ผู้ไม่มีรายได้ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจในสวัสดิการที่ได้รับมากที่สุด และเห็นว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยรูปแบบสวัสดิการที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีความพึงพอใจมากที่สุดคือ ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าสวัสดิการที่ได้รับจากทั้ง 2 รายการดังกล่าว ไม่เพียงพอและต้องการให้เพิ่มวงเงินสวัสดิการ โดยเฉพาะในส่วนของวงเงินการซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ตามแนวโน้มราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมถึงต้องการได้รับสวัสดิการเป็นเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีความพึงพอใจในสวัสดิการทุกรายการในระดับมากและมีความพึงพอใจกับโครงการลงทะเบียนฯ และต้องการให้มีการดำเนินการต่อเนื่องต่อไป
2.2 ด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์หรือสังคมออนไลน์และหนังสือพิมพ์เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้น้อยที่สุด ซึ่งอาจมาจากข้อจำกัดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช่ในการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเห็นว่าควรเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วนและทันเหตุการณ์
________________________
1 มูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการของปี 2565 มีจำนวน 46,930.81 ล้านบาท รวมทั้งมีการจัดสรรวงเงินสวัสดิการที่ค้างจ่ายจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2561-2565 (เนื่องจากการโอนเงินไม่สำเร็จในช่วงระยะเวลาที่มีการดำเนินการ) จำนวน 2,113.43 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการที่เบิกจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 49,044.24 ล้านบาท
2 โดยคำนวณจากความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ = ผลประโยชน์ที่ได้รับ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม)-ต้นทุน (งบประมาณที่ใช้ในการจัดประชารัฐสวัสดิการ) [ผลประโยชน์ที่ได้รับ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) จำนวน 75,347.48 ล้านบาท-ต้นทุน (งบประมาณที่ใช้ในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จำนวน 49,044.24 ล้านบาท)]
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8744