ขอความเห็นชอบถ้อยแถลงของประธานการประชุมรัฐมนตรีขนส่งเอเปค ครั้งที่ 11
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 August 2023 23:13
- Hits: 1365
ขอความเห็นชอบถ้อยแถลงของประธานการประชุมรัฐมนตรีขนส่งเอเปค ครั้งที่ 11
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบถ้อยแถลงของประธานการประชุมรัฐมนตรีขนส่งเอเปค ครั้งที่ 111 (ถ้อยแถลงของประธานฯ) ก่อน คค. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม บูรณาการแนวทางการดำเนินงานและแสวงหาความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างสาขาความร่วมมือต่างๆ ในเวทีเอเปคอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการสร้างอนาคตที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุขสำหรับทุกคน เพื่อบรรลุเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. เมื่อวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค2 ประจำปี 2566 ได้จัดการประชุมรัฐมนตรีขนส่งเอเปค ครั้งที่ 11 (การประชุมฯ) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง (the 11th Asia-Pacific Economic Cooperation Transportation Ministerial Meeting: the 11th APEC TMM หรือ TMM11) ณ เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ภายใต้หัวข้อ “การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน” โดยมีคณะทำงานขนส่งเอเปค3 (Transportation Working Group : TPTWG) (คณะทำงานฯ) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำถ้อยแถลงของประธานฯ เพื่อเป็นผลลัพธ์ของการประชุมฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค4 กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานและปรับโครงสร้างองค์กรของคณะทำงานฯ ไปสู่ความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน และแสวงหา “ชุมชนเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุขภายในปี ค.ศ. 2040 เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนและคนรุ่นหลัง” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและ คค. รวมถึงเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจ สีเขียว
2. ถ้อยแถลงของประธานฯ มีสาระสำคัญในการ (1) เน้นย้ำความมุ่งมั่นต่อวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 20405 “ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่นและสงบสุขภายในปี 2583 เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต” รวมถึงการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเอาทีอารอ6 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว7 (the Bangkok Goals on Bio-Circular-Green Economy) (2) เน้นย้ำบทบาทสำคัญของการขนส่ง เช่น ขับเคลื่อนการเติบโตและโอกาสทางเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ปรับปรุงการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในช่วงที่สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคกำลังฟื้นตัวอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น และยั่งยืน (3) ยืนยันความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมระหว่างสาขาความร่วมมือต่างๆ ภายในเอเปค เพื่อปรับปรุงความร่วมมือและพัฒนาวิสัยทัศน์ร่วมกัน (4) เน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เปิด กว้างและเชื่อมโยงถึงกันผ่านการดำเนินการตามแผน APEC Connectivity Blueprint (ค.ศ. 2015 - 2025)8 (5) เน้นย้ำบทบาทการทำงานที่สำคัญของคณะทำงานฯ ต่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวกในภาคการขนส่ง ชี้แนะให้ คณะทำงานฯ แสวงหาความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสนับสนุนให้แสวงหาวิธีการที่เหมาะสมที่จะนำไปสู่นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงด้านการขนส่งที่ล้ำสมัยต่อไป รวมทั้งชี้แนะให้คณะทำงานฯ มีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ สำหรับการดำเนินงานในอนาคต สรุปได้ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
(1) ห่วงโซ่อุปทาน และการเชื่อมต่อ |
- สนับสนุนความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการค้าและการลงทุนที่เสรี เปิดเผย ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส และคาดการณ์ได้ - ยินดีรับข้อมูลจากภาคอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงของภูมิภาค และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โอกาส และการสร้างงานที่มากขึ้น |
|
(2) สภาพภูมิอากาศ |
- เน้นบทบาทที่สำคัญของภาคการขนส่งในการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เนื่องจากการขนส่งเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุด ซึ่งการจัดการกับเรื่องดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งใหม่ที่สะอาดและเป็นนวัตกรรม - หารือถึงการดำเนินการเฉพาะด้านและจับต้องได้ของคณะทำงานฯ เช่น กระตุ้นการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พาหนะขนาดเล็กที่ปล่อยมลพิษต่ำและเป็นศูนย์ (อาทิ แบตเตอรี่ไฟฟ้า ปลั๊กอินไฮบริด ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง เป็นต้น) อำนวยความสะดวกการพัฒนาและการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน และพัฒนาการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปล่อยมลพิษต่ำและเป็นศูนย์ รวมถึงการลดคาร์บอนของท่าเรือ |
|
(3) ความครอบคลุมและความเท่าเทียม เพศสภาพ |
-เน้นความสำคัญของนโยบายการขนส่ง ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม เข้าถึงได้และปลอดภัย - พัฒนาความเสมอภาคทางเพศและเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่มีภูมิหลังที่หลากหลาย - พยายามที่จะเพิ่มความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการใช้ระบบขนส่งที่ผิดกฎหมายในการค้ามนุษย์ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมกันต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน รวมทั้งสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ ร่วมมือกับภาคการขนส่งและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อยุติกิจกรรมอาชญากรรมดังกล่าว |
|
(4) นวัตกรรม |
เน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล โดยชี้แนะให้คณะทำงานฯ อภิปรายถึงหัวข้อนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกิดใหม่และวิธีการปรับปรุงความยืดหยุ่นของเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กำลังพัฒนา |
|
(5) ความมั่นคงระดับโลก |
ตระหนักว่าประเด็นความมั่นคงจากสงครามในยูเครนสามารถส่งผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก9 |
_____________________
1ถ้อยแถลงของประธานฯ มีทั้งหมด 17 วรรค โดยรัฐมนตรีขนส่งเอเปคทุกท่านเห็นด้วยกับวรรคที่ 1-15 และ 17 ส่วนวรรคที่ 16 นั้น เป็นถ้อยแถลงเกี่ยวกับจุดยืนต่อสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหพันธรัฐรัสเซีย ไม่เห็นชอบ
2เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค
3คณะทำงานขนส่งเอเปค ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการหารือและแลกเปลี่ยนการดำเนินนโยบายของเขตเศรษฐกิจและแสวงหาความเชื่อมโยงร่วมกันใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านการขนส่งทางอากาศ ด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ ด้านการขนส่งทางบกและด้านการขนส่งทางน้ำ
4สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรนิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐฟิลิปินส์ ราชอาณาจักรไทย จีนไทเป สาธารณรัฐชิลี สหรัฐเม็กซิโก รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี สาธารณรัฐเปรู สหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
5วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 เป็นการกำหนดทิศทางความร่วมมือของเอเปคเพื่อนำไปสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมีสันติภาพ ภายในปี ค.ศ. 2040
6แผนปฏิบัติการเอาทีอารอ (Aotearoa Plan of Actions) เป็นแผนการกำหนดทิศทางความร่วมมือของเอเปคภายใต้วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040
7เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นหนึ่งในผลลัพธ์เป้าหมายสำคัญของเอเปค 2022 โดยเน้นย้ำถึงเป้าหมายความยั่งยืนเพื่อสอดรับกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนขึ้นในภูมิภาค ประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่ (1) สนับสนุนการจัดการทุกความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ (2) ต่อยอดการค้าการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุมให้สอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (3) ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตลอดจนยับยั้งและทวงคืนการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (4) เดินหน้าบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายไม่เหลือทิ้ง
8แผน APEC Connectivity Blueprint (ค.ศ. 2015-2025) คือ แผนแม่บทความเชื่อมโยงในเอเปค ค.ศ 2015-2025 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะบรรลุการเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อและครอบคลุมในเอเชีย-แปซิฟิก โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของเอเปคที่สมดุล ปลอดภัย และครอบคลุม ตลอดจนเชื่อมโยงการพัฒนาในภูมิภาคผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การเสริมสร้างเครือข่ายการขนส่งที่มีคุณภาพ การลดต้นทุนการทำธุรกรรม และทำให้ภูมิภาคเกิดการแข่งขันและเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น
9การประชุมฯ ในครั้งนี้ รัฐมนตรีขนส่งเอเปคทุกท่านรับทราบปัญหาด้านความมั่นคงจากสถานการณ์ในยูเครนว่าอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8742