ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 30
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 August 2023 22:58
- Hits: 1149
ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 30
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร (กรุงเทพฯ) - หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 30 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 กรกฎาคม 2560) อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา) กรอบวงเงิน 179,412.21 ล้านบาท และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 และ 29 สิงหาคม 2560 และ 29 กันยายน 2563) เห็นชอบร่างสัญญา 2.1 การออกแบบรายละเอียดโครงการ กรอบวงเงิน 1,706.771 ล้านบาท ร่างสัญญา 2.2 ที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้าง กรอบวงเงิน 3,500 ล้านบาท และร่างสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและ จัดฝึกอบรมบุคลากร กรอบวงเงิน 50,633.50 ล้านบาท
2. ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย สรุปได้ดังนี้
2.1 โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา มีทั้งหมด 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา แบ่งสัญญางานโยธาเป็น 14 สัญญา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร โดยเป็นทางยกระดับ 188.68 กิโลเมตร ทางระดับพื้น 54.09 กิโลเมตร อุโมงค์รวม 8 กิโลเมตร มีศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถในพื้นที่เชียงรากน้อย ระบบรถไฟใช้ประเภทรถโดยสาร มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่งต่อขบวน ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาที และจะใช้งบประมาณลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ซึ่งมีความก้าวหน้าโดยรวม (ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2566) ร้อยละ 22.77 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เรื่อง |
ความก้าวหน้า |
|||||||||||||||||||||||
(1) สัญญาการก่อสร้างงานโยธา จำนวน 14 สัญญา |
● ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1 - 1 กลางดง - ปางอโศก ● อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ได้แก่
● อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา ได้แก่ สัญญา 3 - 1 แก่งคอย - กลางดง และปางอโศก - บันไดม้า สัญญา 4 - 1 บางซื่อ - ดอนเมือง และสัญญา 4 - 5 บ้านโพ - พระแก้ว |
|||||||||||||||||||||||
(2) งานจ้างออกแบบรายละเอียด (สัญญา 2.1) |
รฟท. ได้ลงนามสัญญากับรัฐวิสาหกิจจีน [China Railway Design Corporation (CRDC) และ China Railway International Corporation (CRIC)] เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 วงเงิน 1,706.7 ล้านบาท โดยผู้รับจ้างฝ่ายจีนได้ออกแบบเสร็จแล้ว |
|||||||||||||||||||||||
(3) จ้างงานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (สัญญา 2.2) |
รฟท. ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 วงเงิน 3,500 ล้านบาท ปัจจุบันผู้รับจ้างอยู่ระหว่างควบคุมการก่อสร้างซึ่งสิ้นสุดสัญญาในปี 2564 และประกันผลงาน 2 ปี ซึ่งต่อมา รฟท. และผู้รับจ้างฝ่ายจีนได้ร่วมกันจัดทำร่างบันทึกแนบท้ายสัญญา 2.2 เพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาในการควบคุมการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยได้ลงนามบันทึกแนบท้ายสัญญา 2.2 แล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 |
|||||||||||||||||||||||
(4) งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล การจัดหาขบวนรถไฟและการจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) |
รฟท. ได้ลงนามสัญญา กับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 วงเงิน 50,644.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน โดยแบ่งงานออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1) งานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและขบวนรถไฟ 2) งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและการซ่อมบำรุงและการถ่ายทอดเทคโนโลยี 3) งานก่อสร้างติดตั้งระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้รับจ้างได้ออกแบบตามสัญญาเบื้องต้นเสร็จแล้วและฝ่ายไทยอยู่ระหว่างตรวจสอบก่อนแจ้งผู้รับจ้างต่อไป |
|||||||||||||||||||||||
(5) การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง [คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 กรกฎาคม 2560) ให้จัดตั้งองค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของ รฟท. เพื่อกำกับการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ] |
คค. ได้เตรียมการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่จะมาเดินรถในอนาคต โดยได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อให้ดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบองค์กรกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง และมีแผนจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2566 |
|||||||||||||||||||||||
(6) การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง [พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564] |
คค. ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเป็นองค์การมหาชนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คค. มีเป้าหมายเร่งด่วน คือ การวิจัยชิ้นส่วนในระบบรางเพื่อให้สามารถผลิตรถไฟในประเทศได้ตามนโยบาย Thai First : ไทยทำ ไทยใช้ การวิจัยเพื่อสร้างรถไฟ พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาบุคลากรเพื่อปฏิบัติงาน |
2.2 โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เป็นส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 356.01 กิโลเมตร ขนาดทาง 1.435 เมตร มีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงเบาและที่จอดรถไฟที่นาทาและศูนย์ซ่อมบำรุงหนักในพื้นที่เชียงรากน้อย มีศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ได้แก่ บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา รวมถึงย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้ออกแบบรายละเอียดงานโยธาแล้วเสร็จและนำส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) แล้ว ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศมีมติเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ปรับปรุงรายงาน EIA ซึ่งปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA ดังกล่าวและคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการได้ภายในปี 2566
2.3 การเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และจีน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยมีรายละเอียดการจัดทำแผนการดำเนินการ ดังนี้
เรื่อง |
รายละเอียด |
|
(1) แผนการก่อสร้างของ รฟท. |
1) โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2569 2) โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคายอยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571 3) โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร สถานีทั้งหมด 15 สถานี โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีในปี 2566 |
|
(2) การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและสะพาน |
การบริหารจัดการสะพานข้ามแม่น้ำโขงเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ โดยเพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ และมีการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพานต่อไป |
|
(3) การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ |
สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่อยู่ห่างจากสะพานแห่งเดิมประมาณ 30 เมตร มีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร และทางขนาด 1 เมตร ซึ่งไทยและ สปป.ลาว จะร่วมลงทุนในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ คค. ได้ออกแบบสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ให้สามารถรองรับรถยนต์ได้ โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์บนสะพานเดียวกัน 2) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์โดยมีโครงสร้างแยกจากกัน และ 3) ก่อสร้างสะพานใหม่รองรับรถไฟเพียงอย่างเดียว โดยปรับปรุงสะพานเดิมให้รองรับน้ำหนักบรรทุกให้มากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นให้ สปป.ลาว ทราบได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566 และจะออกแบบรายละเอียดและรายงาน EIA ต่อไป |
|
(4) การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า |
แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะเร่งด่วน : การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเส้นทางรถไฟจีน - สปป.ลาว โดยพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งเดิม เพิ่มรถไฟจาก 4 ขบวนต่อวันเป็น 14 ขบวนต่อวันและเพิ่มจากขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ และพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีประมาณ 80 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าและเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ระบบราง ซึ่งได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกสินค้าเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ อยู่ระหว่างออกประกาศให้ใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย จำนวน 46,800 ตารางเมตร และอยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งพื้นที่คงเหลือจากการใช้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยเพื่อออกประกาศเชิญชวนต่อไป 2) ระยะยาว : การพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต โดยจะมีการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งจากจีนและ สปป.ลาว และส่งออกไปยัง สปป.ลาว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการเพื่อวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางรางจังหวัดหนองคายซึ่งอยู่ระหว่างเสนอผลการศึกษาให้คณะกรรมการ รฟท. พิจารณา |
3. ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน เป็นประธานร่วม มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
3.1 ไทยได้นำเสนอความก้าวหน้างานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ซึ่งงานโยธาส่วนใหญ่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว และทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินงานสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการดังกล่าว โดยไทยแจ้งว่าสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นเหตุสุดวิสัยในการดำเนินการตามสัญญา 2.3 และแจ้งให้จีนพิจารณาปรับกำหนดเวลาการส่งมอบงานโยธา โดยจีนพิจารณาแล้วเห็นว่าควรมีการหารือเพิ่มเติมว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ และขอให้ไทยใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการแก้ไขปัญหาความล่าช้าของงานโยธาด้วย นอกจากนี้ จีนได้เตรียมเอกสาร ค่าจ้างล่วงหน้าตามข้อกำหนดของสัญญา 2.3 แล้ว แต่ไทยยังมีปัญหาด้านภาษีอากรเกี่ยวกับการชำระค่าจ้างล่วงหน้า ซึ่งจะดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป
3.2 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะดำเนินความร่วมมือโครงการถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของไทย โดยไทยได้นำเสนอความก้าวหน้าและแผนการดำเนินการ ว่าได้ออกแบบรายละเอียดงานโยธาแล้วเสร็จ ซึ่งจีนเสนอให้มีการหารือร่วมกันเพื่อตรวจสอบงานออกแบบรายละเอียดโดยฝ่ายจีนโดยเร็วและเสนอว่าจำเป็นต้องมีการลงนามในสัญญาสำหรับตรวจสอบงานออกแบบรายละเอียดเพื่อจะกำหนดความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่าย โดยพิจารณาจากกรอบความร่วมมือที่ลงนามโดยรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทยที่ได้เห็นชอบร่วมกันเมื่อปี 2557 เป็นพื้นฐานสำหรับโครงการทั้งหมดและรูปแบบความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ควรเป็นรูปแบบในลักษณะวิศวกรรมจัดหา และก่อสร้าง ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของไทยและจีน โดยจีนจะให้ความร่วมมือในด้านการเงิน ขณะที่ไทยเน้นย้ำว่าข้อเสนอของฝ่ายจีนจะสามารถดำเนินการได้เฉพาะกรณีที่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของไทยเท่านั้น
3.3 ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ และเห็นชอบให้มีการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ในทุกระดับเพื่อหารือเกี่ยวกับการลดอุปสรรคและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์และการขนส่งระหว่างสามประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
3.4 ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแผนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ โดยไทยแจ้งว่าอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของการสร้างสะพานรถไฟและรถยนต์แห่งใหม่ และจะเริ่มออกแบบรายละเอียดต่อไป ส่วนจีนจะมีส่วนร่วมในการประสานงานและสนับสนุนผลักดันโครงการให้มีความก้าวหน้า ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่าย เห็นควรให้มีการเชื่อมต่อทางรถไฟเส้นทางสาธารณรัฐสิงคโปร์ - คุนหมิงโดยเร็ว โดยเฉพาะการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างไทย - สปป.ลาว - จีน
3.5 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการของการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 31 ซึ่งจะจัดขึ้นภายหลังการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8737