ร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... และขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 17 August 2023 02:54
- Hits: 1212
ร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... และขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... และขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งบุคคลจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกอบกับเป็นการดำเนินการการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เข้าลักษณะของบทบัญญัติที่จะต้องมีการออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่กฎหมายบัญญัติก่อนจึงจะทำให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเร่งรัดดำเนินการออกกฎกระทรวงโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 22 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 39 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566) จึงได้ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยโดยกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าควรเพิ่มเติมข้อความในร่างข้อ 6 บางประการให้มีความชัดเจนและสมบูรณ์ขึ้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้สร้างความร่วมมือในการปฏิบัติและการบังคับใช้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งติดตามและกำกับ ดูแลให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการเกษตรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ต่อไป และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าร่างกฎกระทรวงนี้และการขอขยายระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรองฯ เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลาของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 กรณีจึงเป็นการปฏิบัติราชการตามปกติ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ และมิได้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สรุปได้ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
กำหนดบทนิยาม |
เช่น “ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
|
การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม |
● กำหนดให้ที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินถึงแก่ความตายสามารถตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) หากมีทายาทหลายคน ให้ตกเป็นทรัพย์มรดกร่วมกันของทายาททุกคน เว้นแต่ตกลงกันได้ว่าทายาทผู้ใดจะเป็นผู้ได้รับที่ดินมรดกแต่เพียงผู้เดียว ในกรณีที่ไม่มีทายาทให้ตกเป็นของ ส.ป.ก. (สอดคล้องตาม ม. 1745 ม. 1750 ม. 1751 และ ม. 1753 แห่ง ป.พ.พ.) ● กำหนดให้ทายาทผู้รับที่ดินมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ได้รับสิทธิในที่ดินผู้ตายซึ่งมีอยู่ต่อ ส.ป.ก. (สอดคล้องตาม ม. 1600 แห่ง ป.พ.พ.) ● กำหนดให้ทายาทผู้รับที่ดินมรดกใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก. |
|
การโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร1 |
● กำหนดให้สถาบันเกษตรกรอาจรับโอนรับสิทธิในที่ดินได้ในกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินมีหนี้สินค้างชำระกับสถาบันเกษตรกร ● กำหนดให้สถาบันเกษตรกรที่จะรับโอนสิทธิในที่ดินต้องไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมหรือมีที่ดินไม่เกินขนาดที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด รวมทั้งยินยอมรับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน (ผู้โอน) มีต่อ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรอื่น ● กำหนดให้สถาบันเกษตรกรใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก. |
|
การโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. |
● กำหนดให้ ส.ป.ก. อาจรับโอนสิทธิในที่ดินจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินที่ประสงค์จะโอนสิทธิในที่ดินให้ ส.ป.ก. โดยไม่รับค่าตอบแทน หรือโดยรับค่าตอบแทน [ทั้งนี้ ตามร่างข้อ 13 (2) ได้กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินยื่นคำร้องการโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. สามารถระบุราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินเสนอ (หากมี)] หรือการโอนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ● กำหนดให้ ส.ป.ก. จังหวัดจัดส่งคำร้องพร้อมทั้งความเห็นและรายงานผลการตรวจสอบสภาพที่ดินให้ ส.ป.ก. พิจารณาสภาพความเหมาะสมทางการเกษตร ลักษณะการทำประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ภาระผูกพันในที่ดิน ราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก. ราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ● กำหนดให้ ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาสั่งรับการโอนสิทธิในที่ดินได้เฉพาะกรณีเป็นที่ดินที่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น หากพบว่า ที่ดินไม่มีความเหมาะสมที่จะปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น มีการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะต้องโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. หรืออาจต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับให้มีการโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. ต่อไป ● กำหนดให้ ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิในที่ดินได้ดังนี้ 1. กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินกรณีทั่วไปราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดินจะต้องไม่เกินกว่าราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ หรือเกินกว่าราคาประเมินตามความจำเป็นแต่ไม่เกินกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของราคาประเมินดังกล่าว 2. กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินซึ่งใช้สอยที่ดินโดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น การไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติฯ ทำการแบ่งแยก โอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่น เป็นต้น ดำเนินการอื่นนอกเหนือการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน (เรื่องเสร็จที่ 1347/2563) ราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดินจะต้องไม่เกินกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้เช่าซื้อจาก ส.ป.ก. โดยหากมีความเสียหายเกิดขึ้นให้หักกลบลบหนี้ตามมูลค่าความเสียหายไว้ในคำสั่งรับการโอนสิทธิในที่ดินดังกล่าวด้วย |
__________________
1 สถาบันเกษตรกร หมายความว่า กลุ่มเกษตร สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8466