สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564- 31 พฤษภาคม 2566)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 17 August 2023 02:24
- Hits: 1391
สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564- 31 พฤษภาคม 2566)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564- 31 พฤษภาคม 2566) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. นโยบายหลัก 8 ด้าน ประกอบด้วย
นโยบายหลัก |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ |
1.1) จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เช่น จัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม 2566 และภาคีเครือข่ายผสานพลัง Kick Off โครงการ “1 หมู่บ้าน 1 ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยาสมุนไพร และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในชุมชนอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม 1.2) ส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น ส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดิน 46,266 ไร่ ก่อสร้างแหล่งน้ำ 99 แห่ง ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตรแก่เกษตรกร 10,371 ราย ส่งเสริมทักษะการผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานแก่เกษตรกร 300 ราย พัฒนาความเข้มแข็งแก่สหกรณ์และกลุ่มสหกรณ์ 66 แห่ง และผลิตสัตว์น้ำปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ 33 ล้านตัว 1.3) ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง เช่น “Young ทำเกษตร” “เกษตรไทยเท่” “นวัตกรรมทำเอง” “เกษตรรักษ์โลก” และจัดนิทรรศการ “การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 1.4) ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ผ่านกระบวนการพัฒนาคนในหมู่ที่ 3 บ้านบางครั่ง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ในรูปแบบ “ถนนต้นกล้วยช่วยชีวิต” ด้วยการน้อมนำพระดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Vilage)” นำไปสู่ การใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองสร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัยและเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน 1.5) ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล (Batik Model)” สู่ตลาดสากล และโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โดยน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา เพื่อการพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) โดยดำเนินงานใน 7 กลุ่มบาติกของภาคใต้ เช่น กลุ่มยาริงบาติก ตำบลหนองแรต อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี |
|
2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศและความสงบสุขของประเทศ |
ดำเนินโครงการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง โดยปรับปรุงการออกหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าวเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 53,687 ราย รวมทั้งตรวจร่วมเรือประมงและแรงงานภาคประมงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 55 ครั้ง |
|
3) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก |
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงพิธีเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic And Social Commission For Asia And The Pacific: ESCAP) สมัยที่ 79 ภายใต้หัวข้อ “Accelerating climate action in Asia and the Pacific for sustainable development” ผ่านระบบวีดิทัศน์ โดยได้กล่าวถึงความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ พร้อมทั้งเสนอ 3 ประเด็นสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน ได้แก่ (1) ความร่วมมือภายใต้ ESCAP ควรสอดประสานและต่อยอดจากความร่วมมือภายใต้กรอบอื่นๆ ในภูมิภาคและอนุภูมิภาค (2) การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ และ (3) การจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพและเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข |
|
4) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย |
4.1) เศรษฐกิจมหภาค การเงินและการคลังเช่น (1) ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดสัดส่วนตัวชี้วัดที่กำหนดตามมาตรา 50 ให้อยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ได้แก่ 1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละ 70 2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ ต้องไม่เกินร้อยละ 35 และ 3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกินร้อยละ 5 รวมทั้งจัดทำรายงานข้อมูลหนี้ตามมาตรา 76 ได้แก่ 1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ประมาณการ ณ สิ้นปี 2566 ร้อยละ 60.64 2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ ประมาณการ ณ สิ้นปี 2566 ร้อยละ 32.92 3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ประมาณการ ณ สิ้นปี 2566 ร้อยละ 1.67 และ 4) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.56 (2) ดำเนินโครงการเพิ่มสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 มีสมาชิกสะสม 2.53 ล้านคน และ (3) ดำเนินโครงการส่งเสริมการออมผ่านการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bond) โดยเดือนพฤษภาคม 2566 มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ “รุ่นออมอุ่นใจ” 2 รุ่น จำนวน 40,000 ล้านบาท 4.2) พัฒนาภาคเกษตร เช่น ดำเนินโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ เพื่อสำรวจรังวัดทำแผนที่ผู้ครอบครองที่ราชพัสดุที่ไม่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ซึ่งครอบครองอยู่ก่อนวันที่ 4 ตุลาคม 2546 และรับรองสิทธิในการเข้าใช้ที่ราชพัสดุ โดยการจัดให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้สำรวจรังวัดจัดทำแผนที่และจัดให้เช่า 807 ราย และดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (ระยะที่ 2) เพื่อสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยน พัฒนาการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ในห่วงโซ่การผลิต ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เช่น เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ่ายสินเชื่อแล้ว 6,470 ราย จำนวน 28,560 ล้านบาท 4.3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ เช่น ดำเนินโครงการพัฒนาระบบประเมินราคาศุลกากร ด้วย Big Data Analytics โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการคัดกรองและวิเคราะห์จัดทำฐานข้อมูลราคาสินค้าและส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้า เพื่อนำไปบริหารความเสี่ยง และมีการยื่นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้นำเข้าและพัฒนาระบบ Machine Learning เพื่อนำมาจัดกลุ่มสินค้าและสร้างฐานข้อมูลราคาแบบอัตโนมัติ 4.4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม เช่น ขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District: YMID) อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ภาครัฐกับการสร้างศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย โดยสร้างพื้นที่การลงทุนนวัตกรรมทางการแพทย์ ผลักดันให้เกิดศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาคเอเชียและส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศ เพื่อประโยชน์ในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ลดมูลค่าการนำเข้านวัตกรรมทางการแพทย์ เพิ่มโอกาสการจ้างงานและเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง YMID มีนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนกว่า 163 โครงการ รวมถึงโครงการระบบการแบ่งปันเตียงผู้ป่วยข้ามสถานพยาบาล (Bed Sharing) ซึ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท |
|
5) การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค |
ดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพการเกษตรบนฐานทรัพยากรดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเพิ่มผลิตภาพการเกษตรบนฐานทรัพยากรดินด้วยการจัดทำระบบบริหารพัฒนาการเกษตร และใช้เทคโนโลยีวิทยาการข้อมูลมาช่วยในการกำหนดเขตการใช้ที่ดิน รวมทั้งปรับปรุงฐานข้อมูลทรัพยากรดินในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้เกษตรกรเลือกแนวทางการผลิตสินค้าเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นฐานของดิน |
|
6) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของฐานราก |
6.1) ส่งเสริมและพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว (Good Agricultural Practice: GAP) ครบวงจรและตลาดข้าวสารคุณภาพ อ.ต.ก. จำนวน 6 ครั้ง สามารถระบายผลผลิตข้าว 24.37 ตัน มูลค่าจำหน่ายรวม 0.86 ล้านบาท รวมทั้งส่งเสริมตลาดผู้บริโภคผลไม้ไทย สามารถระบายผลผลิตผลไม้ 43 ตัน มูลค่าจำหน่ายรวม 3.20 ล้านบาท 6.2) พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์และสถาบันเกษตรกร เช่น ตรวจสอบความถูกต้องในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างสหกรณ์และสมาชิก 5,722 ราย อบรมให้ความรู้ในการจัดทำธุรกรรมทางการเงินขั้นพื้นฐานแก่สมาชิกสหกรณ์ 2,800 ราย ส่งเสริม กำกับดูแล และพัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 11,740 แห่ง และออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินนิคมสหกรณ์ 26 แห่ง 1,078 ราย พื้นที่ 1,259 ไร่ |
|
7) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม |
ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่สำคัญด้านสาธารณสุข เช่น นำแนวคิด Health for wealth (การนำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) มาสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสถานประกอบการด้านสุขภาพ 910 แห่ง และ Wellness Center1 จำนวน 320 แห่ง มีเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในทุกเขตสุขภาพกว่า 80 แห่ง มีวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.3 รวมทั้งดูแลสุขภาพตามกลุ่มวัยและยกระดับบริการผู้สูงอายุ เช่น กลุ่มเด็กปฐมวัย ได้รับคัดกรองการพัฒนาการล่าช้าและส่งเข้ารับการกระตุ้นจนมีพัฒนาการสมวัย กลุ่มวัยทำงานที่ผู้ที่มีปัญหาซึมเศร้า สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ถึงร้อยละ 92.28 และกลุ่มผู้สูงอายุได้รับคัดกรองความถดถอย 9 ด้านตามเป้าหมาย2 นอกจากนี้ มีการทำ Digital Health (ระบบสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์) มาใช้กับทุกเขตสุขภาพ เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงความสำคัญของระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ซึ่งช่วยให้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างไร้รอยต่อและสอดรับกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ |
|
8) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน |
8.1) ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร โดยส่งเสริมการทำเกษตรที่เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมง บริหารจัดการพื้นที่แปลงรวมแก่เกษตรกร ปรับปรุงคุณภาพดิน และจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำให้มีความเหมาะสมในการผลิตพืช มีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวม 11,086 ราย จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำให้มีความเหมาะสมในการผลิตพืช 12,370 ไร่ 8.2) ลดการเผาในพื้นที่เกษตร โดยส่งเสริมให้มีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผา 17,640 ราย และประชาสัมพันธ์ รณรงค์เฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินแก่เกษตรกร 625 ราย รวมทั้งส่งเสริมการไถกลบตอชังในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกข้าวและข้าวโพด 68 ตำบล 37 อำเภอ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวม 25,666 ไร่ |
2. นโยบายเร่งด่วน 6 เรื่อง ประอบด้วย
นโยบายเร่งด่วน |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน |
ดำเนินมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม-20 กรกฎาคม 2566 และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-เมษายน 2566 มีประชาชนขอความช่วยเหลือในการไกลเกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ จำนวน 11,734 เรื่อง |
|
2) การปรับปรุงสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน |
ดำเนินโครงการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางเพื่อให้กลุ่มเปราะบางและครอบครัวเข้าถึงสิทธิสวัสดิการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนใน 5 มิติเป้าหมาย3 โดยมีครัวเรือนเปราะบางเป้าหมาย 827,749 ครัวเรือน ได้รับการวางแผนและช่วยเหลือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล 4,401 ศูนย์ ได้รับการพัฒนาและยกระดับให้มีคุณภาพ และมีการบูรณาการข้อมูล 1 ระบบ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางด้วยระบบสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์ (MSO-LOGBOOK) และดำเนินโครงการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ สำหรับคนทุกช่วงวัยเพื่อพัฒนาศักยภาพ เสริมทักษะอาชีพ เพิ่มรายได้ สู่ความยั่งยืน จำนวน 123,632 คน รวมทั้งส่งเสริมการฝึกอาชีพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีคนพิการและผู้ดูแลคนพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพ 6,347 คน และคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการได้รับการกู้ยืมเงิน 7,411 คน |
|
3) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม |
ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตกัญชา ในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่นสำหรับทดสอบเทคโนโลยีขยายพันธุ์กัญชา สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สำหรับทดสอบเทคโนโลยีการปลูกและคัดเลือกพันธุ์กัญชา โดยพัฒนาองค์ความรู้ด้านพันธุ์ พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์ลูกผสมที่มีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกในประเทศไทย และให้สาร THC (Tetrahydrocannabinol และ CBD (Cannabidiol) ปริมาณสูง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566 โดย ณ วันที่ 25พฤษภาคม 2566 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการส่วนประกันภัยขั้นพื้นฐาน 64,060 ราย และส่วนประกันภัยภาคสมัครใจ 7 ราย เบี้ยประกันภัย รวมทั้งสิ้น 178.22 ล้านบาท |
|
4) การยกระดับศักยภาพ ของแรงงาน |
ดำเนินโครงการ “แรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้นายจ้างสถานประกอบกิจการและลูกจ้างน้อมนำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินชีวิต โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการ 353 แห่ง ลูกจ้างที่ได้รับประโยชน์ 35,749 คน คิดเป็นมูลค่า 13.04 ล้านบาท นอกจากนี้ ได้ร่วมกับภาคเอกชนในการผลิตช่างสีรถยนต์ป้อนตลาดแรงงาน 12 จังหวัด โดยในปี 2565 มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 210 คน |
|
5) การแก้ไขปัญหา ยาเสพติดและสร้างความ สงบสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ |
ระหว่างวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2566 มีการจับกุมคดียาเสพติด 18,364 คดี ผู้ต้องหา 18,585 คน และยึดของกลาง ได้แก่ ยาบ้า 28.24 ล้านเม็ด ไอซ์ 7,665.65 กิโลกรัม เฮโรอีน 92.39 กิโลกรัม เคตามีน 980.35 กิโลกรัม ยาอี 4,114 เม็ด ฝิ่น 131.52 กรัม และโคเคน 0.0003 กิโลกรัม |
|
6) การจัดเตรียม มาตรการรองรับภัยแล้ง และอุทกภัย |
ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยาโดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำเพิ่มปริมาณน้ำตันทุนและพื้นที่ชลประทานสนับสนุนการเกษตรและบรรเทาปัญหาการเกิดอุทกภัยและรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 2.73 ล้านลิตร (ครบตามเป้าหมาย) |
_____________
1สถานบริการให้คำแนะนำ /ปรึกษาเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคหรือการฟื้นฟูสภาพของร่างกายและจิตโจ
2ได้แก่ (1) ด้านความคิดความจำ (2) ด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย (3) ด้านการขาดสารอาหาร (4) ด้านการมองเห็น (5) ด้านการได้ยิน (6) ด้านภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย (7) ด้านการกลั้นปัสสาวะ (8) ด้านการปฏิบัติกิจวัตประจำวันและ (4) ด้านสุขภาพช่องปาก
3 ได้แก่ (1) มิติสังคม (People) (2) มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) (3) มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) (4) มิติสันติและสถาบัน (Peace) และ (5) และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8462