ร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 August 2023 13:48
- Hits: 1847
ร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการคลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ รง. เสนอว่า
1. กฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (1) ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท (2) กรณีค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายดังกล่าวไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้าง รวม 7 ลักษณะ1
2. รง. พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่กฎกระทรวงตามข้อ 1. ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย จากเดิม 50,000 บาท เป็น 65,000 บาท2 และแก้ไขลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ จากเดิม บาดเจ็บรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เป็น บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ เนื่องจากในปัจจุบันมีวิธีการรักษาด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เช่น การเจาะกะโหลกศีรษะเพื่อระบายเลือดและน้ำในสมองออก หรือการรักษาด้วยยาอาจมีค่าใช้จ่ายสูงได้ หากต้องมีการสังเกตอาการในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Units หรือ ICU) เป็นระยะเวลานาน วงเงิน 50,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอ และให้ครอบคลุมผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บจนเกิดภาวะไม่รู้สึกตัว หรืออัมพาตที่มีค่าใช้จ่ายสูงสามารถเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงข้อนี้ได้ เช่น อาการบาดเจ็บที่มีลักษณะ หรือการรักษา ดังต่อไปนี้
2.1 การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะจนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันตามปกติเกินว่า 20 วัน
2.2 กรณีศีรษะบาดเจ็บรุนแรง แต่อาจไม่ต้องผ่าตัด หรือไม่อาจผ่าตัดได้ เช่น กะโหลกศีรษะแตกจนมีเลือดออกในช่องสมอง บางรายอาจผ่าตัดไม่ได้หรือไม่ต้องผ่าตัด
2.3 กรณีตกจากที่สูงมีเลือดคั่งในสมองแต่ไม่ต้องผ่าตัดนอนรักษาในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Units หรือ ICU) จำนวน 3 คืน มีเลือดออกในช่องท้องและไม่ต้องผ่าตัด ซี่โครงหักหลายซี่มีเลือดในช่องอกเล็กน้อย หายใจขัดเล็กน้อยไม่ผ่าตัด กรณีนี้เบิกได้ 50,000 บาท เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 และ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2.
4. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้คาดว่านายจ้างจะได้รับผลกระทบที่จะต้องจ่ายเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นและมีผลกระทบต่อสถานะของกองทุนเงินทดแทน และได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเป็นการคุ้มครองลูกจ้างในการได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง คาดว่าจะมีผลกระทบต่อสถานะของกองทุนเงินทดแทนที่เพิ่มขึ้น ประมาณการรายจ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลระหว่างปี 2566-2567 ประมาณ 2,207,090,000 บาท (สองพันสองร้อยเจ็ดล้านเก้าหมื่นบาท)
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563 เพื่อปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายประกันสังคม จากเดิม “50,000 บาท” เป็น “65,000 บาท” และ แก้ไขลักษณะการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 100,000 บาทกรณีการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อนายจ้างที่จะต้องจ่ายเงินสมทบตามค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานะของกองทุนเงินทดแทน
____________________
1ลักษณะการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ได้แก่ (1) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข (2) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข (3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ (4) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท (5) ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม (6) ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อน ความเย็น สารเคมี รังสี ไฟฟ้า หรือระเบิด จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้ตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าของพื้นที่ผิวของร่างกาย และ (7) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรัง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
2 ในการคิดคำนวณอัตราจาก 50,000 บาท เป็น 65,000 บาท คำนวณจากข้อมูลค่ารักษาพยาบาลจากแพทย์และการวิเคราะห์จาก นักคณิตศาสตร์ประกันภัยของกองทุนเงินทดแทน และพิจารณาจากรายการค่าธรรมเนียมแพทย์เป็นตัวคำนวณปรับเพิ่มอัตราดังกล่าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8223