ผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 August 2023 11:58
- Hits: 1489
ผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566
2. เห็นชอบการมอบหมายภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยตามแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปและมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 โดยประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นประธานการประชุมและได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐมาเลเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย1 เลขาธิการอาเซียน และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในประเด็นความก้าวหน้า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของแผนงาน IMT-GT สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความสำเร็จที่สำคัญของแผนงาน IMT-GT ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา มีการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างการพัฒนาภายในประเทศและอนุภูมิภาค ส่งเสริมบทบาทของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนว2 และขยายพื้นที่ความร่วมมือครอบคลุม 35 รัฐ และจังหวัดของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในอนุภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 12,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2527 เป็น 405,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจาก 97,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2527 เป็น 618,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 รวมทั้งได้มีการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจในด้านต่างๆ เช่น การขยายเส้นทางการบิน ความร่วมมือระหว่างอุทยานธรณีโลก และโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง
2. ความก้าวหน้าโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Project: PCPs) ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนว มีจำนวน 36 โครงการ มูลค่ารวม 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้า บริการ และคนอย่างไร้รอยต่อ โดยมีโครงสร้างที่สำคัญ เช่น โครงการรถไฟเชื่อมหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์-กัวลาลัมเปอร์ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) โครงการทางด่วนสุมาตรา การก่อสร้างท่าเรือ Ro-Ro (ดูไม-มะละกา) และการฟื้นฟูการเชื่อมโยงทางอากาศภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
3. ความก้าวหน้าการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือต่างๆ ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565-2569 มีการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การเสริมสร้างการเชื่อมโยง และการฟื้นฟูการท่องเที่ยว เช่น (1) การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตรรุ่นใหม่ (2) การพัฒนาเมืองตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) (3) การสัมมนาด้านการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม และ (4) การส่งเสริมความร่วมมือในการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนาผลผลิตของยางพาราและปาล์มน้ำมันระหว่างสามประเทศ
4. ทิศทางการดำเนินงานในอนาคต มุ่งเน้นการดำเนินการใน 6 ประเด็น ได้แก่ (1) การเพิ่มขีดความสามารถของทุนมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (2) การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวภายในช่วงปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT (3) การเร่งดำเนินการความร่วมมือด้านน้ำมันปาล์ม (4) การเร่งการลงนามกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมืองและตรวจโรคพืชและสัตว์ (Framework of Cooperation in Customs, Immigration and Quarantine: FoC in CIQ) ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและคนใน IMT-GT (5) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของ IMT-GT ในการจัดการกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและความมั่นคงของพลังงาน และ (6) การเน้นย้ำความร่วมมือตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและเขตเศรษฐกิจพิเศษ
5. พิธีเปิดแคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 (พิธีเปิดแคมเปญฯ) อย่างเป็นทางการ โดยผู้นำของแผนงาน IMT-GT ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดแคมเปญฯ เพื่อยืนยันความพยายามในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดนสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับแคมเปญดังกล่าวเพื่อผลักดันให้ IMT-GT เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว
6. ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุมอื่นๆ
ผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุม |
ความเห็นและข้อเสนอแนะ เช่น |
|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง |
ข้อเสนอแนะ 6 ประเด็น ได้แก่ (1) ถอดบทเรียนและต่อยอดความสำเร็จของความร่วมมือ IMT-GT เพื่อเร่งผลักดันความร่วมมือให้มีความก้าวหน้าและฟื้นฟูทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (2) เร่งพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชนและท้องถิ่นมีบทบาทนำ (3) เน้นย้ำการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านน้ำมันปาล์มเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (4) เร่งดำเนินโครงการตามแผนการดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565-2569 ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมยาง (5) เร่งศึกษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเลในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (6) เน้นย้ำความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน |
|
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย |
- เน้นย้ำการร่วมมือภายในอนุภูมิภาคเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งแบบไร้รอยต่อ การท่องเที่ยวและการลงทุน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ ค.ศ. 2036 และเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายและความไม่แน่นอนในอนาคต - ข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น ได้แก่ (1) สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นปลายเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (2) ส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการบริการฮาลาลที่มีศักยภาพ เช่น การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการฮาลาลขนาดกลางและขนาดย่อม (3) เร่งศึกษาแนวทางการลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน เช่น การลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) |
|
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย |
ข้อเสนอแนะ 4 ประเด็น ได้แก่ (1) สนับสนุนความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อให้ IMT-GT เป็นศูนย์กลางสินค้าและบริการฮาลาลของโลก (2) ให้ความสำคัญกับการจัดการผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเสนอให้ IMT-GT เป็นตัวอย่างของอาเซียนในการบรรลุ SDGs (3) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของสภาธุรกิจ IMT-GT ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของอาเซียน (4) ผลักดันความร่วมมือด้านเกษตรกรรมและการผลิตยางพาราของทั้งสามประเทศภายหลังการลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง |
|
เลขาธิการอาเซียน |
เสนอขอบเขตความร่วมมือระหว่างอาเซียนและแผนงาน IMT-GT เพื่อให้เกิดการบูรณาการในด้านต่างๆ ดังนี้ (1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงและการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลผ่านการใช้ประโยชน์ของกรอบความร่วมมือและแผนแม่บทอาเซียน เช่น แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน พ.ศ. 2568 และข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (2) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) (3) การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและยั่งยืน โดยเสนอให้ดำเนินงานภายใต้แผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และกรอบการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน |
|
ประธาน ADB |
ADB จะสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ ดังนี้ (1) การออกนโยบายคาร์บอนต่ำที่เข้มงวดควบคู่กับการดำเนินโครงการด้านเศรษฐกิจสีเขียวและสีน้ำเงิน และส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม (2) การปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าทางอาหาร และการจัดการกับความเสี่ยงด้านความมั่งคงทางพลังงานเพื่อรับมือกับวิกฤตอาหารและเชื้อเพลิง (3) การปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์การค้าที่เปลี่ยนแปลง โดยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากการศึกษาเรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ IMT-GT และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้เสนอมาตรการเพื่อให้ IMT-GT บรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม เช่น การลดอุปสรรคทางการค้าและการขนส่ง การปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการบ่มเพาะกำลังแรงงานให้มีทักษะด้านดิจิทัล |
7. ที่ประชุมเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT โดยมีการปรับปรุงถ้อยคำเพื่อให้มีความเหมาะสมและสะท้อนข้อเท็จจริงมากขึ้นซึ่งไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ดังนี้
7.1 ปรับแก้ถ้อยคำกล่าวแสดงความขอบคุณ ADB สำหรับความร่วมมือและความมุ่งมั่นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และขอบคุณสำหรับการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจและเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งความช่วยเหลือในการส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านเมืองอัจฉริยะ
7.2 ปรับแก้ถ้อยคำแสดงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับความร่วมมือกับอาเซียนเพื่อความก้าวหน้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเร่งรัดการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว พร้อมทั้งร่วมกำหนดโครงการที่ปฏิบัติได้จริงและเป็นรูปธรรมในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น พลังงานสะอาดและยั่งยืนและกระบวนการกลายเป็นเมือง
8. แผนการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนแผนงาน IMT-GT ในระยะต่อไป
8.1 ดำเนินกิจกรรมสำคัญภายใต้แคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 ร่วมกับภาคีการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาคภายหลังการแพร่ระบาดของ โควิด-19
8.2 เร่งผลักดันโครงการความเชื่อมโยงที่สำคัญของประเทศสมาชิก IMT-GT เช่น การก่อสร้างถนนเชื่อมโยงด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ จังหวัดสงขลา-ด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอาหารฮาลาล เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจการค้า และการลงทุน
8.3 เร่งการลงนามใน FoC in CIQ ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลตามแผนงาน IMT-GT โดยคาดว่าจะสามารถลงนามได้ในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเดือนกันยายน 2566
8.4 อินโดนีเซียมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองบาตัม อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 25-29 กันยายน 2566
9. การมอบหมายหน่วยงานดำเนินงานตามผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT สรุปได้ ดังนี้
โครงการ/ประเด็นสำคัญ |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น) |
|
การขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT ในภาพรวม เช่น |
||
(1) การขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการที่สำคัญในแต่ละสาขาความร่วมมือภายใต้แผนดำเนินงานระยะ 5 ปี พ.ศ. 2565-2569 (Implementation Blueprint 2022-2026: I 2022-2026) ไปสู่การปฏิบัติ |
- กระทรวงการคลัง (กค.) - กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) - กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) - กระทรวงคมนาคม (คค.) - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) - กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) - กระทรวงมหาดไทย (มท.) - ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) |
|
(2) การส่งเสริมความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา - ส่งเสริมความร่วมมือกับ ADB ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่และอัจฉริยะ การลงทุนสีเขียว การขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจและความร่วมมือด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ - หารือแนวทางความร่วมมือกับสาธารณรัฐอินเดียในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาใหม่ใน IMT-GT |
กต. กก. อว. กษ. คค. ดศ. ทส. พณ. และ มท. |
|
(3) เครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) - ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและสนับสนุนทุกสาขาภายใต้ IB 2022-2026 |
กค. กต. กก. กษ. คค. ดศ. ทส. พณ. มท. ศอ.บต. และมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก UNINET |
|
การขับเคลื่อนประเด็นความร่วมมือรายสาขา เช่น |
|
|
(1) สาขาการท่องเที่ยว - เร่งผลักดันกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนแคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 - เร่งพัฒนาและต่อยอดโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว |
กต. กก. คค. ดศ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) |
|
(2) สาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร - ขยายผลโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป -มุ่งเน้นการเกษตรยั่งยืนและการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าที่โดดเด่น เช่น ยางพาราและน้ำมันปาล์ม และการยกระดับห่วงโซ่อุปทานอาหารข้ามพรมแดน |
กษ. กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และ มท. |
|
(3) สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล - พัฒนาระบบรับรองมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกควบคู่กับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการยกระดับแรงงานในอุตสาหกรรมฮาลาล - พัฒนาคุณภาพและทักษะผู้ประกอบการฮาลาลขนาดกลางและขนาดย่อมและบุคลากร โดยร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศ |
กษ. สธ. และ อก. |
|
(4) สาขาการเชื่อมโยงด้านการขนส่ง - ขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการภายใต้ PCPs ให้เกิดการลงทุนในโครงการอย่างเป็นรูปธรรม - พัฒนาเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้งหมด |
กค. คค. ดศ. และ อก. |
|
(5) สาขาเทคโนโลยีดิจิทัล - จัดตั้งสาขาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล - ผลักดันการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ IMT-GT - สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและมีทักษะและความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล |
ดศ. และ พณ. |
|
(6) คณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน - เตรียมการลงนาม FoC in CIQ ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลตามแผนงาน IMT-GT - การพัฒนาและความร่วมมือด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษใน IMT-GT |
กค. กษ. ดศ. พณ. อก. และ ตช. |
|
(7) สาขาสิ่งแวดล้อมและสภาเมืองสีเขียว - พัฒนาโครงการภายใต้สาขาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินโครงการเมืองสีเขียวและโครงการตามแผนการลงทุนตามกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนซึ่งมีความสอดคล้องกับ BCG Model - แสวงหาความช่วยเหลือที่ไม่ใช่การเงินจากหุ้นส่วนการพัฒนา ได้แก่ ด้านกฎระเบียบและการยกระดับศักยภาพบุคลากร |
ทส. และ มท. |
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากไม่มีกรณีที่ต้องดำเนินการโดยใช้งบประมาณและมีการตั้งงบประมาณในการดำเนินการไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งมิได้เป็นหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
_____________________
1 สศช. แจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีในการเข้าร่วมการประชุม
2 ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนว ประกอบด้วย (1) เส้นทางพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช-พัทลุง-สงขลา-ยะลา-ปัตตานี-ปีนัง-เมดาน (2) เส้นทางพื้นที่เลียบชายฝั่งตะวันตกของไทย เริ่มจากจังหวัดตรัง-มะละกาของมาเลเซีย (3) เส้นทางพื้นที่ตอนเหนือ-ตอนใต้ของเกาะสุมาตรา-พื้นที่ภาคใต้ของไทยและมาเลเซียตอนเหนือ (4) เส้นทางเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างเกาะสุมาตรากับมาเลเซียบนพื้นที่คาบสมุทร (5) เส้นทางพื้นที่จังหวัดระนอง-ภูเก็ต-และเชื่อมโยงทางทะเลไปยังจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย และ (6) เส้นทางพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้-รัฐเปรัก-รัฐกลันตัน-พื้นที่ของเกาะสุมาตราตอนใต้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 สิงหาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8210