ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 27 July 2023 04:09
- Hits: 1532
ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอ ท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ร่างประกาศที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้พื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ที่ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้เขตอนุรักษ์และเขตควบคุมมลพิษเป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และได้แบ่งพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 6 บริเวณเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในแต่ละบริเวณ กำหนดมาตรการเกี่ยวกับโรงงานที่ต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดพื้นที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. กำหนดให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดเขตอนุรักษ์และเขตควบคุมมลพิษของจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่ภายในแนวเขตที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตทะเลชายฝั่ง เว้นแต่พื้นที่เกาะทราย เกาะสะเดา และเกาะขี้นก ตำบล หัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพื้นที่ภายในแนวเขตท้องที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน กับอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเขตควบคุมมลพิษ
2. กำหนดเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 บริเวณ ดังนี้
2.1 บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ตำบลบางตะบูน และตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
2.2 บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ตำบลบ้านแหลม ตำบลบางขุนไทร ตำบลปากทะเล ตำบลบางแก้ว และตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
2.3 บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ตำบลหาดเจ้าสำราญ และตำบลหนองขนาน อำเภอเมืองเพชรบุรี ตำบลปึกเตียน อำเภอท่ายาง ตำบลหนองศาลา และตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
2.4 บริเวณที่ 4 ได้แก่ พื้นที่เทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
2.5 บริเวณที่ 5 ได้แก่ พื้นที่ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
2.6 บริเวณที่ 6 ได้แก่ พื้นที่ภายในบริเวณตามข้อ 3 (1)
3. กำหนดให้พื้นที่ตามข้อ 2 จะต้องดำเนินการตามมาตรการเกี่ยวกับโรงงานโดยจำเป็นต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดพื้นที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่น้ำซึมผ่านได้นั้นและต้องมีไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบหลักด้วย ในพื้นที่ว่างตามที่กฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายผังเมืองกำหนดไว้ รวมทั้งห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม เช่น การทำเหมืองแร่ เว้นแต่เป็นการทำเหมืองแร่หินปูน หรือเหมืองแร่ดินซีเมนต์ หรือการทำเหมืองแร่ในพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ การขุด ตัก หรือดูด กรวด ดิน หินผุ ทราย หรือลูกรัง เพื่อการค้า การทำนาเกลือสมุทร เว้นแต่เป็นการทำในพื้นที่บริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3 และการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐานทางด้านกายภาพ ชีวภาพ หรือชีวกายภาพ ในพื้นที่สันทราย สันดอน หน้าผา ปากน้ำ
4. กำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 บริเวณที่ 3 และบริเวณที่ 5 ทั้งนี้ เฉพาะในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 200 เมตร และพื้นที่บริเวณที่ 4 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดหรืออาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดเพื่อการค้า
5. กำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 บริเวณที่ 3 บริเวณที่ 4 และบริเวณที่ 5 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคาร อาคารนกแอ่นกินรัง ท่าเทียบเรือ เว้นแต่ท่าเทียบเรือสาธารณะสำหรับเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส ท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐ ท่าเทียบเรือสำราญกีฬา และกิจการอู่ซ่อมเรือ
6. กำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ 6 ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ได้แก่ การทำให้เกิดมลพิษ ขยะมูลฝอย สารแขวนลอย จากการเดินเรือ การจอดเรือ การขนส่งหรือการขนถ่าย ที่มีผลทำให้คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรม หรือเสียสภาพความเป็นธรรมชาติ ทำการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Wave) เว้นแต่การสำรวจโครงสร้างทางธรณีวิทยา และถมทะเลหรือที่ปากแม่น้ำ ปากคลองที่ติดกับชายฝั่งทะเล เว้นแต่เป็นความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ
7. กำหนดให้การก่อสร้างกำแพงติดแนวชายฝั่งทะเลทุกขนาด ต้องเสนอขอความเห็นจากจังหวัดเพชรบุรี หรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการขออนุญาตหรือขออนุมัติงบประมาณ และกำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม อาคาร อยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ต้องติดตั้งหรือจัดให้มีบ่อดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสีย และบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายกำหนดก่อนปล่อยลงสู่ท่อหรือทางน้ำสาธารณะ
8. กำหนดให้ในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ ก่อนการดำเนินโครงการ หรือประกอบกิจการ รวมทั้งขั้นตอนการขยายขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
9. กำหนดให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรีและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ประสาน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตลอดจนประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำไปบรรจุในแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด หรือแผนงานและงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
10. กำหนดให้พื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น
11. กำหนดให้การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามตามประกาศนี้ถ้าได้รับอนุญาตอยู่ ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตนั้น ทั้งนี้ ให้อนุญาตได้เฉพาะพื้นที่เดิมที่ได้รับอนุญาตไว้เท่านั้น และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามที่ประกาศนี้กำหนด
12. กำหนดให้ร่างประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันที่ร่างประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7915