WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ....

GOV 9

ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ....

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้ความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

          ร่างประกาศที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เป็นการปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้บังคับในวันที่ 15 ธันวาคม 2567 เพื่อปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยกำหนดให้พื้นที่เขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตควบคุมอาคาร และเขตควบคุมมลพิษในจังหวัดภูเก็ตเป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และได้แบงพื้นที่ดังกล่าวออกเป็น 8 บริเวณ เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในแต่ละบริเวณ อันเป็นการป้องกัน สงวน รักษา และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม แหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่มีคุณค่าในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลตามธรรมชาติเกิดความต่อเนื่อง และคงความสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว

          ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

          1. กำหนดให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตควบคุมอาคาร และเขตควบคุมมลพิษในจังหวัดภูเก็ต เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ซึ่งระยะเวลาบังคับใช้ห้าปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

          2. จำแนกเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็น 8 บริเวณ ดังนี้

                    2.1 บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลรอบเกาะภูเก็ตเข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 50 เมตร รวมทั้งพื้นที่ในเกาะบริวารต่างๆ เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6

                    2.2 บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ 1 เข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 150 เมตร เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6 

                    2.3 บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตบริเวณที่ 2 เข้าไปในแผ่นดิน เป็นระยะ 200 เมตร เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6

                    2.4 บริเวณที่ 4 ได้แก่ พื้นที่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 บริเวณที่ 3 บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6 โดยจำแนกพื้นที่ ดังนี้

                              (1) เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม หรือย่านอาคารเก่า

                              (2) เขตหนาแน่นมาก มีแนวเขตตามพื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ตทั้งหมดยกเว้นบริเวณที่ 4 (1) และ (3)

                              (3) เขตหนาแน่นสูงมาก

                    2.5 บริเวณที่ 5 ได้แก่ พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 40 เมตร ถึง 80 เมตร 

                    2.6 บริเวณที่ 6 ได้แก่

                              (1) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 80.01 เมตร ถึง 140 เมตร

                              (2) พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 140.01 เมตร ขึ้นไป

                    2.7 บริเวณที่ 7 ได้แก่ พื้นที่ในเกาะภูเก็ตและเกาะบริวารต่างๆ นอกจากบริเวณที่ 1 ถึง บริเวณที่ 6

                    2.8 บริเวณที่ 8 ได้แก่ พื้นที่ทะเลรอบเกาะภูเก็ตและรอบเกาะบริวารต่างๆ

          3. กำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นโรงงานทุกประเภทหรือทุกชนิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ในพื้นที่ตามข้อ 2 ต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และในพื้นที่ว่างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองกำหนด จะต้องมีที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ โดยมีไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบหลัก 

          4. กำหนดหลักเกณฑ์การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารในพื้นที่ตามข้อ 2 อาทิ ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 20 เมตร หรือต้องมีระยะห่างจากแนวชายเกาะต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 เมตร ในกรณีที่เกาะนั้นไม่มีชายฝั่งทะเล ในพื้นที่บริเวณที่ 1 ในระยะ 30 เมตร ต่อจากพื้นที่ข้างต้น ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร และมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของที่ดินแปลงที่ขออนุญาต และในพื้นที่บริเวณที่ 2 ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร และต้องมีที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่าง เป็นต้น

          5. กำหนดมาตรการการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารในพื้นที่ลาดเชิงเขา ในพื้นที่ตามข้อ 2 ยกเว้นในบริเวณที่ 8 เช่น กำหนดให้พื้นที่ก่อสร้างอาคารต้องมีระยะเว้นจากยอดลาดชันหรือตีนลาดชัน กรณีลาดเชิงเขาสูงไม่เกิน 40 เมตร ให้มีระยะเว้นมากกว่า 1 เท่าของความสูงลาดเชิงเขา หรือกรณีลาดเชิงเขาสูงมากกว่า 40 เมตร ให้มีระยะเว้น อย่างน้อย 40 เมตร เป็นต้น

          6. กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ 2 โดยกำหนดห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ดังนี้

                    6.1 ในพื้นที่ตามข้อ 2 เช่น 1) การทำเหมืองแร่ 2) การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง 3) การทำอาคารนกแอ่นกินรัง 4) การถม ปรับพื้นที่ หรือปิดกั้นซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะในแผ่นดินและแหล่งน้ำในขุมเหมืองสาธารณะตื้นเขิน 5) การปล่อยทิ้งของเสียหรือมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล และ 6) การจับหรือครอบครองปลาสวยงามตามบัญชีท้ายประกาศนี้ เป็นต้น

                    6.2 ในพื้นที่บริเวณที่ 8 เช่น 1) การทำให้เกิดมลพิษจากการเดินเรือ 2) การเก็บ ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบต่อปะการัง ซากปะการัง หินปะการัง กัลปังหา หรือหญ้าทะเล 3) การสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน 4) การถมทะเลหรือที่ชายตลิ่งปากคลอง เป็นต้น

          7. กำหนดให้ในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ ก่อนการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการ รวมทั้งขั้นตอนการขยายขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วแต่กรณีต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

          8. ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ประสาน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามประกาศนี้ รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

          9. กำหนดให้พื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

          10. กำหนดให้การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามตามประกาศนี้ ถ้าได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตนั้น และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายหรือประกาศนี้กำหนดไว้ด้วย

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A7914

Click Donate Support Web  

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

วิริยะ 720x100

aia 720 x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!