ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 27 July 2023 03:42
- Hits: 1480
ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... ของกระทรวงมหาดไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... ของกระทรวงมหาดไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เป็นร่างกฎกระทรวงที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติหลักการ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 โดยเป็นไปตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับประเภทของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน โดยกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่จะใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมต้องดำเนินการตามที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างของโรงแรม ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ระบบทางหนีไฟ ลักษณะภายในและภายนอกของอาคาร และการนำอาคารลักษณะพิเศษมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม เช่น เต็นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ (bubble) รถพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ บ้านต้นไม้ เป็นต้น เพื่อให้อาคารลักษณะพิเศษที่นำมาประกอบธุรกิจโรงแรมมีมาตรฐานของอาคารและความปลอดภัยอันจะทำให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายว่าด้วยโรงแรม อันเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการสถานที่พักโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ภาคธุรกิจขนาดย่อมและขนาดเล็กในเมืองท่องเที่ยวเมืองรองสามารถนำอาคารที่มีรูปแบบพิเศษอื่นมาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ เพื่อให้ธุรกิจที่พักโรงแรมในประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและเพื่อให้มีมาตรฐานและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. โครงสร้างหลัก บันได และวัสดุของอาคาร |
1.1 โรงแรมต้องมีโครงสร้างหลักที่มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้อย่างปลอดภัย โดยโรงแรมที่มีมากกว่า 3 ชั้นต้องมีโครงสร้างหลัก และผนังของอาคารที่ทำด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุไม่ติดไฟ 1.2 กำหนดลักษณะของบันไดสำหรับโรงแรมลักษณะต่างๆ ดังนี้ 1.2.1 โรงแรมตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป เช่น โรงแรมที่มีบันไดที่สูงเกิน 4 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 4 เมตร 1.2.2 โรงแรม 2 ชั้นที่มีจำนวนห้องพักในอาคารหลังเดียวกันไม่เกิน 10 ห้องและจำนวนผู้พักไม่เกิน 20 คน เช่น โรงแรมที่มีบันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร |
|
2. ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ระบบการจัดการอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นที่เกี่ยวข้อง |
2.1 กำหนดให้โรงแรมประเภทต่างๆ ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย (เช่น โรงแรมไม่เกิน 2 ชั้นที่มีจำนวนห้องพักในอาคารหลังเดียวกันไม่เกิน 10 ห้อง และมีพื้นที่อาคารไม่เกิน 300เมตร) เช่น ติดตั้งเครื่องดับเพลิงมือถือไม่น้อยกว่า 1 เครื่อง มีระยะการเข้าถึงไม่เกิน 22.50 เมตร และโรงแรมบางประเภท (เช่น โรงแรมที่เป็นอาคารสูงหรือขนาดใหญ่พิเศษหรือตั้งอยู่ในอาคารสูงหรืออาคารใหญ่พิเศษ) ต้องจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยเพิ่มเติม เช่น มีที่เก็บน้ำสำรอง บันไดหนีไฟมีความลาดชันน้อยกว่า 60 องศา 2.2 กำหนดลักษณะเส้นทางหนีไฟของโรงแรม เช่น บันไดในเส้นทางหนีไฟต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 0.9 เมตร ช่องประตูในเส้นทางหนีไฟต้องมีความจุไม่น้อยกว่า 0.86 เมตร 2.3 กำหนดให้โรงแรมตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ต้องมีป้ายบอกชั้นที่อยู่ใน ตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลาในแต่ละชั้น 2.4 กำหนดให้โรงแรมต้องจัดให้มีระบบการจัดการอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นตามประเภทของอาคารที่ใช้ประกอบกิจการ เช่น ระบบการจัดแสงสว่าง ตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) กำหนด เช่น แผงสวิตช์วงจรย่อยทุกแผงของระบบไฟฟ้าต้องต่อลงดิน) สิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ตามที่กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ต้องมีความชัดเจนและมองเห็นได้ในเวลากลางวันและกลางคืน สัมผัสและรับรู้ได้) |
|
3. พื้นที่ภายในอาคารและที่ว่างภายนอกอาคาร |
3.1 กำหนดขนาดของห้องพักโรงแรมจะต้องมีขนาดที่เหมาะสม เช่น - ห้องพักไม่เกิน 1 คน มีขนาดไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตร - ห้องพักไม่เกิน 2 คน มีขนาดไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร - ห้องพักรวมใช้อัตราส่วน 1 คนต่อ 3 ตารางเมตร (เตียงชั้นเดียว) 3.2 กำหนดระยะดิ่งของห้องพักของโรงแรมต้องไม่น้อยกว่า 2.6 เมตร โดยวัดจากพื้นถึงพื้น หรือวัดจากพื้นถึงยอดฝาหรือยอดผนังอาคารของชั้นใต้หลังคาสำหรับห้องพักที่อยู่ในโครงสร้างของหลังคาหรือผนังลาดเอียงต้องมีระยะดิ่งไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร โดยวัดจากพื้นถึงเพดานหรือยอดฝาหรือยอดผนังอาคารตอนต่ำสุด 3.3 กำหนดลักษณะช่องทางเดินในโรงแรม เช่น ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร มีส่วนล้ำเข้ามาในช่องทางเดินแต่ต้องไม่เกิน 0.2 เมตร 3.4 กำหนดให้โรงแรมมีที่ว่างภายนอกอาคาร โดยไม่ต้องน้อยกว่า 10 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร 3.5 กำหนดจำนวนผู้พักในห้องพักรวม โดยให้โรงแรมที่มีห้องพักรวมให้มีผู้พักได้ไม่เกิน 40 คนต่อห้อง โดยจะต้องมีทางเดินในห้องพักรวมกว้างไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร 3.6 กำหนดให้โรงแรมต้องจัดให้มีพื้นที่ภายในอาคารและที่ว่างภายนอกอาคาร |
|
4. อาคารลักษณะพิเศษ |
4.1 อาคารลักษณะพิเศษ เช่น เต็นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ (bubble) ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ 4.1.1 วัสดุที่สร้างหรือนำมาประกอบต้องมีคุณสมบัติที่เกี่ยวกับการลามไฟเป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนด 4.1.2 ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือไม่น้อยกว่า 1 เครื่องต่อพื้นที่ใช้สอยรวมไม่เกิน 112 ตารางเมตร และมีระยะการเข้าถึงไม่เกิน 22.50 เมตร 4.1.3 ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 25 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารและอาคารแต่ละหลังจะต้องมีระยะห่างระหว่างกันโดยรอบไม่น้อยกว่า 3 เมตร โดยวัดระยะห่างจากแนวสมอบกที่ยึดอาคารหรือส่วนริมสุดของอาคาร 4.1.4 ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับโครงสร้าง 4.1.5 ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับขนาดของห้องพัก 4.2 กำหนดอาคารลักษณะพิเศษ เช่น เต็นท์ รถหรือส่วนพ่วง รถไฟ ท่อคอนกรีตสำเร็จรูป ตู้คอนเทนเนอร์ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับขนาดห้องพักแต่ต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ห้องพักต่อผู้พักไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตรต่อคน 4.3 กำหนดอาคารลักษณะพิเศษ บ้านต้นไม้ที่มีห้องพัก 1 ห้อง และมีผู้พักไม่เกิน 4 คน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับบันได แต่ต้องมีบันไดหรือทางขึ้นลงที่เหมาะสมต่อสภาพการใช้งานและมีสิ่งป้องกันการตกที่ปลอดภัย |
|
5. บทเฉพาะกาล |
5.1 อาคารที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับและไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมการก่สร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 หรือ พ.ร.บ. ควบคุมการก่อสร้างในเขตเพลิงไหม้ พุทธศักราช 2476 และจะดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารมาประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับที่ว่างภายนอกอาคาร ช่องทางเดินในอาคาร แนวอาคาร ระยะดิ่งของอาคาร ระยะหรือระดับระหว่างอาคารกับอาคาร หรือเขตที่ดินของผู้อื่น หรือระหว่างอาคารกับถนน ตรอก ซอย ทางเท้า ทางหรือที่สาธารณะ บันได และที่จอดรถยนต์ 5.2 อาคารที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และจะดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารมาประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ให้ใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับที่ว่างภายนอกอาคาร ช่องทางเดินในอาคาร แนวอาคาร ระยะดิ่งของอาคาร ระยะหรือระดับระหว่างอาคาร หรือเขตที่ดินของผู้อื่น หรือระหว่างอาคารกับถนน ตรอก ซอย ทางเท้า ทางหรือที่สาธารณะ บันได และที่จอดรถยนต์ ตามประเภทอาคารที่กฎหมายกำหนดในขณะที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารนั้น โดยอาคารที่จะดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารมาประกอบธุรกิจโรงแรมดังกล่าวต้องไม่เป็นการเพิ่มพื้นที่อาคาร ไม่เพิ่มความสูงของอาคาร และไม่เพิ่มพื้นที่ปกคลุมดิน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7912