ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 27 July 2023 03:38
- Hits: 1445
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เป็นการกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครอง เพื่อประโยชน์ในการสงวน การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้คงสภาพธรรมชาติ และมีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ดังกล่าวมิได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรือมิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุรรณ) แล้ว และได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้แล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (28 กุมภาพันธ์ 2555) เกี่ยวกับแนวเขตในการดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงเป็นแนวเขตที่สามารถเข้าดำเนินการได้ และไม่ทับซ้อนกับแนวเขตที่ได้มีการกำหนดไว้เป็นพื้นที่ดำเนินการตามกฎหมายอื่น และมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) โดยให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว พบว่า สอดคล้องกับคำบรรยายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่ที่เกี่ยวข้องฉบับปัจจุบัน
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครอง เพื่อประโยชน์ในการสงวน การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ให้คงสภาพธรรมชาติและมีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ ดังนี้
1. กำหนดนิยาม
1.1 คำว่า “ป่าชายเลนอนุรักษ์” หมายความว่า พื้นที่ที่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ตามกฎกระทรวงนี้
1.2 คำว่า “ไม้” หมายความว่า ไม้ทุกชนิดทั้งที่เป็นต้น กอ หรือเถา ไม่ว่ายังยืนต้นหรือล้มลง และหมายความรวมถึง ราก ปุ่ม ตอ หน่อ กิ่ง ตา หัว เหง้า เศษ ปลายหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของไม้ ไม่ว่าจะถูกตัด ฟัน เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด หรือกระทำโดยวิธีอื่นใด
1.3 คำว่า “ของป่า” หมายความว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า เช่น ไม้ฟืน ถ่าน กก กระจูด ซากสัตว์ รังนก ดิน หิน เป็นต้น
1.4 คำว่า “การเพาะพันธุ์พืช” หมายความว่า การปลูกเสริมพันธุ์พืชไม้ พื้นล่างป่าชายเลนที่ไม่ใช่พันธุ์ไม้ ซึ่งมุ่งประโยชน์จากเนื้อไม้เป็นหลัก เช่น พืชสมุนไพร พืชผัก พื้นบ้าน
1.5 คำว่า “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” หมายความว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จำเพาะ รวมทั้งการผสมพันธุ์ การอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และการเลี้ยงเพื่อให้เติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของท้องถิ่นโดยไม่กระทบต่อสภาพธรรมชาติเดิม เช่น การเลี้ยงปู โดยใช้คอกไม้ไผ่
2. กำหนดให้ท้องที่ต่างๆ ในตำบลท่ากำชำ ตำบลบางเขา ตำบลบางตาวา ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก ตำบลรูสะมิแล ตำบลบานา ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี ตำบลแหลมโพธิ์ ตำบลบางปู ตำบลยามู ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง ตำบลไม้แก่น ตำบลไทรทอง ตำบลดอนทราย อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี เป็นป่าชายเลนอนุรักษ์ตามแผนที่แนบท้ายนี้
3. กำหนดให้ป่าชายเลนอนุรักษ์มีมาตรการดังนี้
3.1 สงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง ดูแล และรักษาทรัพยากรป่าชายเลน และสัตว์ป่าให้สมบูรณ์และสมดุลตามธรรมชาติ โดยให้มีการใช้ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
3.2 ฟื้นฟูและแก้ไขความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่ป่าชายเลน
3.3 ควบคุม ป้องกัน และปราบปรามการทำลายป่าชายเลน
3.4 กำหนดมาตรการคุ้มครอง ห้ามดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรป่าชายเลน และการสงวน การอนุรักษ์ การฟื้นฟู การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดิน และมาตรการอื่นๆ ตามที่เหมาะสม
4. กำหนดให้ภายในแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม อาทิ ห้ามดำเนินกิจกรรม หรือกระทำการใดๆ ที่อาจเป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพป่าชายเลน ตามที่บัญญัติห้ามไว้ในกฎกมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติหรือกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เว้นแต่เป็นการศึกษาวิจัยทางวิชาการ ห้ามนำวัตถุระเบิด อาวุธปืนหน้าไม้ เครื่องช็อตปลา เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายหรือยาเบื่อเมาทุกชนิดเข้าไปในพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ ห้ามดำเนินกิจกรรม หรือกระทำการใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นต้น
5. กำหนดให้การบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนภายในแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ให้ดำเนินการ อาทิ ให้ชุมชนชายฝั่งที่ได้ขึ้นทะเบียนตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยครอบคลุมทั้งมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมอย่างสมดุล การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หรือการเพาะพันธุ์พืช หรือการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เสื่อมโทรมและใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกขึ้นที่มิใช่ไม้หวงห้าม ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เป็นต้น
6. กำหนดให้กรณีเมื่อเกิดสาธารณภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากไม่ดำเนินการหรือยับยั้งภัยพิบัติดังกล่าวอาจส่งผลก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐที่มีความร้ายแรงอย่างยิ่ง ให้ดำเนินการได้เท่าที่จำเป็นและให้รายงาน ทช. ทราบหลังจากได้ดำเนินการแล้วเสร็จ
7. กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ของ ทช. กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตป่าชายเลนอนุรักษ์ได้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ดูแล รักษาหรือบำรุงป่าชายเลนอนุรักษ์
8. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 หรือเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีมอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายภายใต้กฎกระทรวงนี้ ภายในท้องที่รับผิดชอบ
9. กฎกระทรวงฉบับนี้มิให้ใช้บังคับแก่การดำเนินการเพื่อประโยชน์ในราชการของกองทัพเรือ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7911