รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 27 July 2023 03:30
- Hits: 1475
รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป หรือตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2565 โดยมาตรา 165 บัญญัติให้ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2567) ให้ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาร่วมกันพิจารณา เพื่อดำเนินการให้หน่วยงานดังกล่าวรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปราม การสืบสวนและการสอบสวนการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับกฎหมายนั้นๆ ทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่จะได้ตกลงกัน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและการบูรณาการในการปฏิบัติหน้าที่และการแบ่งเบาภารกิจของ ตช. และให้สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุกสามเดือน
2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 พฤษภาคม 2566) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 โดยในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2565-มีนาคม 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้หารือร่วมกับ ทส. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ตช. ในเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจจาก ตช. ไปยัง ทส. เพื่อรับผิดชอบงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแบ่งเบาภารกิจของ ตช.
3. ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (นายวิษณุ เครืองาม) ได้เป็นประธาน ในการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง ทส. ตช. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ได้ข้อยุติร่วมกันในการกำหนดความรับผิดชอบในการป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
3.1 การกำหนดบทบาทภารกิจ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ในการป้องกันและปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.1.1 การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจหลัก 5 ภารกิจ ได้แก่ (1) ภารกิจด้านการป้องกัน (2) ภารกิจด้านการปราบปราม (3) ภารกิจด้านการสืบสวน (ก่อนการจับกุม) (4) ภารกิจด้านการจับกุม และ (5) ภารกิจด้านการสอบสวน โดยมีรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้
ภารกิจหลัก |
กิจกรรม |
|
(1) ภารกิจด้านการป้องกัน |
- ฝึกอบรมให้ความรู้ - รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ - พัฒนาเครือข่ายในพื้นที่ |
|
(2) ภารกิจด้านการปราบปราม |
- ลาดตระเวน สำรวจพื้นที่ - ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด - ตรวจสอบติดตามสถานประกอบการ - ตรวจสอบการนำเข้าส่งออก |
|
(3) ภารกิจด้านการสืบสวน (ก่อนการจับกุม) |
- รวบรวมพยานหลักฐานการกระทำความผิด - ขยายผลการกระทำความผิด - พัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูลผู้กระทำผิด |
|
(4) ภารกิจด้านการจับกุม |
จำแนกเป็น 2 กรณี ประกอบด้วย 1) กรณีพบผู้กระทำความผิด - จับกุม ยึด อายัด - เก็บรักษาของกลาง - จัดทำบันทึกการตรวจยึด/จับกุม - แจ้งความดำเนินคดี 2) กรณีไม่พบผู้กระทำความผิด - ร้องทุกข์กล่าวโทษ - การรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อขอออกหมายจับ |
|
(5) ภารกิจด้านการสอบสวน |
- สอบสวน - สืบสวน สอบปากคำ - รวบรวมข้อมูลเอกสารและพยาน หลักฐาน - จัดทำสำนวน - จัดทำความเห็นควรสั่งฟ้อง/เห็นควรไม่ฟ้อง |
3.1.2 ให้ตัดโอนภารกิจด้านการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน (ก่อนการจับกุม) และการจับกุมให้ ทส. โดยให้ตำรวจช่วยดำเนินการในกรณีปฏิบัติการในภารกิจฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
3.1.3 ภารกิจด้านการสอบสวน ตำรวจยังคงรับผิดชอบเช่นเดิม
3.1.4 การตัดโอนภารกิจ (ตามข้อ 3.1.2) สามารถกระทำได้ตามกรอบกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 8 ฉบับ ซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการร่วมกับตำรวจในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน (ก่อนจับกุม) และการจับกุม ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีก 5 ฉบับ ซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา โดย ทส. ไม่มีอำนาจในการปราบปรามและจับกุม จึงยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ ดังนั้น ในระยะต่อไปควรจะต้องศึกษาความจำเป็นในการตัดโอนภารกิจเหล่านี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กฎหมาย |
มาตราที่บัญญัติอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย |
กฎหมายที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา |
|
1. พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 |
มาตรา 64 |
2. พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 |
มาตรา 73 |
3. พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 |
มาตรา 26 |
4. พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 |
มาตรา 39 |
5. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 |
มาตรา 85 |
6. พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 |
มาตรา 25 |
7. พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 |
มาตรา 16 |
8. พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 |
มาตรา 12 |
กฎหมายที่ ทส. ไม่มีอำนาจในการปราบปรามและจับกุม |
|
1. พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 |
มาตรา 22 |
2. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 |
มาตรา 85 |
3. พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 |
มาตรา 32 |
4. พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 |
มาตรา 52 |
5. พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 |
มาตรา 82 |
3.2 ที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้
3.2.1 ทส.
3.2.1.1 ตัดโอนภารกิจการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน (ก่อนการจับกุม) และการจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จาก ตช. ภายใต้กรอบกฎหมาย จำนวน 8 ฉบับข้างต้น ทั้งนี้ ยังคงให้ตำรวจช่วยดำเนินการในกรณีปฏิบัติการภารกิจฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
3.2.1.2 จัดทำแนวปฏิบัติการทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ภายใน 1 เดือน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพ และปรับปรุงกระบวนงานตามกฎหมาย ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนฐานศักยภาพของ ทส. ที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ เมื่อ ทส. ดำเนินการตามแนวปฏิบัติดังกล่าว ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามรอบระยะเวลาตามมาตรา 165 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ต่อไป
3.2.1.3 ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการตัดโอนภารกิจเพิ่มเติมภายใต้กรอบกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 ฉบับ โดย ทส. ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. และ สคก. จะศึกษาความเป็นไปได้และประเมินความพร้อมในการตัดโอนต่อไป
3.2.2 ตช.
ปรับโครงสร้างและอัตรากำลังของ บก.ปทส. สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตช. เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ลดลง และเกลี่ยอัตรากำลังพลไปปฏิบัติงานในภารกิจที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การป้องกันและปราบปรามคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การป้องกันและปราบปรามคดีอาชญากรรมในพื้นที่ เพื่อแบ่งเบาภารกิจของ ตช. และให้ ตช. เตรียมการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบหรือเปลี่ยนแปลงกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกัน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7909