สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน IMD ปี 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 27 July 2023 03:09
- Hits: 1521
สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน IMD ปี 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยสถาบัน IMD ปี 2566 และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามประเด็นการขับเคลื่อนที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไปตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า
1. สถาบัน IMD ได้จัดอันดับฯ จาก 64 เขตเศรษฐกิจ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรักษาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยใช้เกณฑ์ตัวชี้วัดในการจัดอันดับฯ รวมทั้งสิ้น 336 ตัวชี้วัดแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (2) ประสิทธิภาพภาครัฐ (3) ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และ (4) โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในปี 2566 สถาบัน IMD ได้ประกาศผลการจัดอันดับฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 สรุปผลการจัดอันดับฯ ดังนี้
1.1 ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน 5 อันดับแรก
อันดับ |
เขตเศรษฐกิจ |
อันดับเปลี่ยนจากปีก่อนหน้า |
1 |
ราชอาณาจักรเดนมาร์ก |
คงที่ |
2 |
สาธารณรัฐไอร์แลนด์ |
ดีขึ้น 9 อันดับ |
3 |
สมาพันธรัฐสวิส |
ลดลง 1 อันดับ |
4 |
สาธารณรัฐสิงคโปร์ |
ลดลง 1 อันดับ |
5 |
ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ |
ดีขึ้น 1 อันดับ |
1.2 ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในอาเซียน
อันดับในอาเซียน ในปี 2566 |
อันดับโลก ในปี 2566 |
เขตเศรษฐกิจ |
อันดับเปลี่ยน จากปีก่อนหน้า |
1 |
4 |
สิงคโปร์ |
ลดลง 1 อันดับ |
2 |
27 |
สหพันธรัฐมาเลเซีย |
ดีขึ้น 5 อันดับ |
3 |
30 |
ไทย |
ดีขึ้น 3 อันดับ |
4 |
34 |
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย |
ดีขึ้น 10 อันดับ |
5 |
52 |
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ |
ลดลง 4 อันดับ |
ผลการจัดอันดับฯ ในภาพรวม ปี 2566 พบว่า เดนมาร์ก ยังคงอยู่ลำดับที่ 1 เช่นเดียวกับปี 2565 ขณะที่ไทยอยู่ลำดับที่ 30 ซึ่งดีขึ้นจากปี 2565 (เดิมอยู่ลำดับที่ 33) โดยยังคงทรงตัวอยู่ในระดับกลาง และเมื่อพิจารณาในภูมิภาคอาเซียน พบว่า สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน (อยู่ลำดับที่ 4)
1.3 ผลการจัดอันดับปัจจัยหลักตามเกณฑ์ตัวชี้วัด 4 กลุ่ม โดยไทยมีอันดับดีขึ้นในทุกด้าน สรุปได้ ดังนี้
ด้าน |
การจัดอันดับ ของไทย |
ผลการดำเนินการ |
(1) ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ |
ลำดับที่ 16 |
ดีขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ลำดับ 34 เนื่องจากการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศดีขึ้น เป็นผลจากการตื่นตัวของนักลงทุนที่เริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากการชะลอตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 |
(2) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ |
ลำดับที่ 24 |
ดีขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ลำดับ 31 เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐการบริหารสถาบัน และกฎระเบียบธุรกิจปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามด้านนโยบายภาษีและกรอบการบริหารสังคมมีอันดับลดลงเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง |
(3) ด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ |
ลำดับที่ 23 |
ดีขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ลำดับที่ 30 เนื่องจากด้านผลิตภาพตลาดแรงงาน การเงิน และทัศนคติและการให้ค่านิยมมีอันดับดีขึ้น โดยพบว่า ผู้ประกอบการของไทยมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น และความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีดีขึ้น รวมถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นด้วย ขณะที่ด้านการจัดการอยู่ในอันดับคงที่เนื่องจากมีความกังวลต่อความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจและสัดส่วนของผู้บริหารเพศหญิงในตำแหน่งระดับกลางและระดับสูงปรับลดลง |
(4) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน |
ลำดับที่ 43 |
ดีขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ลำดับที่ 44 เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีการตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและการพัฒนาประสิทธิภาพของความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและการศึกษามีอันดับลดลงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรทางการศึกษา |
2. สศช. มีข้อสังเกตจากผลการจัดอันดับฯ ดังนี้
2.1 ประเด็นที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศ คือ ด้านตลาดแรงงานและการจ้างงานที่ไทยมีอัตราการว่างงานต่ำ ตลาดทุนมีความเข้มแข็ง และการมีโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
2.2 ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยอยู่ในอันดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเด็นเชิงสถาบันและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น เสถียรภาพทางการเมือง การคอร์รัปชัน กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ การเพิ่มผลิตภาพของภาคการผลิตและภาคแรงงาน การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และการศึกษา และการสนับสนุนและการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการแก้ไขเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
3. ประเด็นการขับเคลื่อนที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไป ซึ่ง สศช. เห็นว่า ควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในประเด็นต่างๆ ดังนี้
3.1 ติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มที่อันดับดีอยู่แล้วให้สามารถรักษาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานของภาครัฐที่ส่งผลต่อกลุ่มตัวชี้วัดเหล่านี้มีประสิทธิผลที่ชัดเจน และควรให้ความสำคัญกับกลุ่มตัวชี้วัดที่อันดับตกลงมากหรือกลุ่มที่มีอันดับค่อนข้างต่ำอย่างต่อเนื่องผ่านการเร่งรัดขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการของหน่วยงานภาครัฐและสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินงาน
3.2 ขับเคลื่อนการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพยากรมนุษย์ กฎระเบียบและสถาบัน ทั้งในส่วนของการศึกษา สวัสดิการ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานที่มุ่งเป้า มีช่องทางการรับฟังความเห็นของประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
3.3 ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานพิจารณาจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีมาตรฐานเดียวกัน และสามารถติดตามได้อย่างต่อเนื่อง โดยควรจัดทำฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ ทันสมัย รองรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการคำนวณ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการประมวลสำหรับการจัดทำนโยบายและการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น
3.4 เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้รับรู้ถึงการดำเนินนโยบายของภาครัฐและความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งเข้าใจถึงบทบาทและโอกาสในการสนับสนุนการติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4. แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งจะกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่มีความสอดคล้องกับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและรายงานผลการดำเนินงานเพื่อทราบตามขั้นตอนต่อไป
_____________________
* เป็นหน่วยงานในระดับสากลที่จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ เป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7904