การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 27 July 2023 02:36
- Hits: 1354
การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ดังนี้
1. รับทราบรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ ประจำปี 2561-2565 และให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป เร่งรัดดำเนินการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนภายในปี 2566 และจัดทำรายงานการจ้างงานคนพิการประจำปีต่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ (พม.) เสนอ
2. ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อเสนอแนะของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รายงานว่า
1. พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 33 บัญญัติให้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน และมาตรา 35 บัญญัติให้ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นอาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะควก ล่ามภาษามือหรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ
2. รายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ผ่านมา
2.1 พม. ได้ดำเนินการส่งเสริมและติดตามการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ เช่น
2.1.1 ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ดำเนินการจ้างงานคนพิการให้ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
2.1.2 ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐเพื่อส่งสริมการเพิ่มอัตราการจ้างานคนพิการให้ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดในเดือนมีนาคมของทุกปี
2.1.3 มีหนังสือแจ้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานอิสระ สถาบันการศึกษา และกระทรวงต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายและรายงานผลการจ้างงานคนพิการมายังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ครั้งที่ 1 ในเดือนมิถุนายนของทุกปี และครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายนของทุกปี)
2.1.4 รวบรวมข้อมูลรายงานผลการจ้างงานคนพิการประจำปีของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานในเดือนธันวาคมของทุกปี
2.1.5 มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐทุกแห่งเพื่อแจ้งรายงานผลการจ้างงานคนพิการในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
2.1.6 มีหนังสือถึงสถาบันการศึกษาสำรวจข้อมูลคนพิการที่กำลังจบการศึกษาเพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ รวมทั้ง สอบถามปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานของรัฐที่จ้างงานคนพิการไม่ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการต่อไป
2.2 การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561
2.2.1 ประเด็นการกำหนดให้การปฏิบัติงานตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐเป็นตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานระดับกระทรวง พม. ได้ประชุมหารือแนวทางร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. เมื่อเดือนกันยายน 2562 เพื่อกำหนดให้การปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐเป็นตัวชี้วัดของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐในการประเมินผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ชี้แจงว่า การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีทุกมติถือเป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐอยู่แล้วประกอบกับรายงานที่เสนอมีข้อมูลชัดเจนว่าหน่วยงานของรัฐแห่งใดปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ไม่ได้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวและสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐโดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นตัวชี้วัดเพิ่มเติม ทั้งนี้ ได้มีกำหนดในข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐแล้ว
2.2.2 ประเด็นการติดตามให้ กห. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม ดูแล และประสานงานการจ้างงานทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคนพิการอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับการจ้างานในหน้าที่ความรับผิดชอบที่เหมาะสมในแต่ละกรณี ซึ่ง กห. ได้ดำเนินการรายงานการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
หน่วย:คน
ประจำปี |
จ้างตาม มาตรา 33 |
จ้างตามมาตรา 35 |
รวม |
2561 |
63 |
6,602 |
6,665 |
2562 |
51 |
7,990 |
8,041 |
2563 |
43 |
5,896 |
5,939 |
2564 |
38 |
2,890 |
2,928 |
2565 |
40 |
3,520 |
3,560 |
หมายเหตุ : ข้อมูล ณ วันที่ 27 มกราคม 2566
3. คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานผลการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ พบว่า มีหน่วยงานของรัฐที่จ้างงานคนพิการตามพระราขบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) พม. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (คศ.) และกระทรวงแรงงาน (รง.) ที่ประชุมจึงได้มีมติมอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐเร่งรัดดำเนินการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนภายในปี 2566 เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐจ้างงานคนพิการให้ครบตามอัตราส่วนและเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
4. รายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐประจำปี 2561-2565 พบว่า การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง สรุปได้ ดังนี้
ประจำปี |
จำนวนผู้ปฏิบัติงาน (คน) |
จำนวนคนพิการที่ต้องรับเข้าทำงานตามกฎหมาย (อัตรา 100:1 คน) |
ผลการจ้างงานคนพิการ |
|||
มาตรา 35 (คน) |
มาตรา 35 (คน) |
รวมการจ้างงานคนพิการ (คน) |
คิดเป็นร้อยละ |
|||
2561 |
1,250,043 |
12,500 |
6,556 |
4,038 |
10,594 |
84.75 |
2562 |
1,522,752 |
15,228 |
3,327 |
2,930 |
6,257 |
41.09 |
2563 |
1,541,202 |
15,412 |
2,633 |
1,278 |
3,911 |
25.37 |
2564 |
1,762,214 |
17,622 |
2,801 |
783 |
3,584 |
20.33 |
2565 |
1,750,704 |
17,507 |
2,848 |
878 |
3,726 |
21.28 |
ข้อมูล ณ วันที่ 6 มกราคม 2566
หมายเหตุ : รายงานดังกล่าวไม่รวม กห. ทั้งนี้ กห. และ พม. แจ้งว่า เนื่องจากเป็นภารกิจด้านความมั่นคงจึงไม่สามารถแจ้งยอดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสังกัดต่างๆ ทั้งหมดได้ ดังนั้น พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด (Hybrid) เพื่อให้คนพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงได้มีการหารือแนวทางการขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐร่วมกับเครือข่ายสมาคมคนพิการและคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
4.1 ควรมีการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐเร่งรัดดำเนินการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนภายในปี 2566 และจัดทำรายงานการจ้างงานคนพิการประจำปีต่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมติคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (ตามข้อ 3)
4.2 เสนอให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการรวบรวมรายงานผลการจ้างงานคนพิการของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานภายใน 31 ธันวาคมของทุกปีและจัดทำประกาศหน่วยงานที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ต่อสาธารณะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7900