รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2562-2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 July 2023 19:51
- Hits: 1633
รายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2562-2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2562-2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 มาตรา 8 (10) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์จัดทำรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 เห็นชอบรายงานฯ และมอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (สถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์) อว. ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 ในปีงบประมาณ 2562-2654 มีการดำเนินการ เช่น (1) จัดทำกฎหมายลำดับรองประกอบการบังคับใช้1 จำนวน 31 ฉบับ โดยประกาศใช้แล้ว 25 ฉบับ และรอประกาศ 6 ฉบับ (2) สรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตามที่กฎหมายกำหนด2 เพื่อดำเนินการรับแจ้งและรับคำขอใบอนุญาต3 ตามพระราชบัญญัติฯ (3) ดำเนินการจัดทำระบบการให้บริการแบบออนไลน์ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ (4) ประกาศนโยบายการกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานด้านการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และ (5) จัดทำแผนกลยุทธ์ว่าด้วยการพัฒนางานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2563-2564 และ พ.ศ. 2565-2569 และแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2563-2569 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศและเป็นแนวทางให้หน่วยงาน องค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นหลักในการจัดทำแผนกลยุทธ์ในการดำเนินการเพื่อพัฒนางานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของแต่ละองค์กรต่อไป
2. สรุปผลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2564
ปี 2562 |
ปี 2563 |
ปี 2564 |
||
1. สถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์4 |
||||
มีสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์ฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 299 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยมากที่สุด รองลงมา คือ การสอนและการทดสอบ ตามลำดับ |
มีสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์ฯจำนวนรวมทั้งสิ้น 299 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยมากที่สุด รองลงมา คือ การสอนและการทดสอบ ตามลำดับ |
มีสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์ฯจำนวนรวมทั้งสิ้น 299 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยมากที่สุด รองลงมา คือ การผลิตชีววัตถุ5 และการทดสอบ ตามลำดับ |
||
2. สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์6 |
||||
มีการใช้สัตว์ฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 26.5 ล้านตัว แบ่งเป็น สัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวน 4.1 ล้านตัว และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 22.4 ล้านตัว โดยสัตว์ที่มีการใช้งานมากที่สุด ได้แก่ แมลง ปลา และกุ้ง และสัตว์ประเภทสัตว์ทดลองที่นิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท และหนูตะเภา |
มีการใช้สัตว์ฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 212.0 ล้านตัว แบ่งเป็นประเภทสัตว์ทดลอง จำนวน 71,061 ตัว สัตว์เลี้ยง จำนวน 10.8 ล้านตัว และสัตว์จากธรรมชาติ จำนวน 201.1 ล้านตัว โดยสัตว์ที่มีการใช้งานมากที่สุด ได้แก่ แมลงวันผลไม้ กุ้ง และปลา สัตว์ประเภทสัตว์ทดลองที่นิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท และหนูตะเภา |
มีการใช้สัตว์ฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 66.5 ล้านตัว แบ่งเป็นประเภทสัตว์ทดลอง จำนวน 75,935 ตัว สัตว์เลี้ยง จำนวน 266,751 ตัว และสัตว์จากธรรมชาติ จำนวน 66.2 ล้านตัว โดยสัตว์ที่มีการใช้งานมากที่สุด ได้แก่ แมลงวันผลไม้ กุ้ง และปลา และสัตว์ประเภทสัตว์ทดลองที่นิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท และหนูตะเภา |
||
3. ผู้ใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ |
||||
ผู้ใช้สัตว์ฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนยื่นขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ7 จำนวน 843 คน รวมจำนวนผู้ขออนุญาตใช้สัตว์ฯ ตั้งแต่ปี 2558-2562 ทั้งสิ้น 8,644 คน |
ผู้ใช้สัตว์ฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนยื่นขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ จำนวน 565 คน รวมจำนวนผู้ขออนุญาตใช้สัตว์ฯ ตั้งแต่ปี 2558-2563 ทั้งสิ้น 9,209 คน |
ผู้ใช้สัตว์ฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนยื่นขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ จำนวน 292 คน รวมจำนวนผู้ขออนุญาตใช้สัตว์ฯ ตั้งแต่ปี 2558-2564 ทั้งสิ้น 9,501 คน |
||
4. ผู้ผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ |
||||
มีผู้ผลิตสัตว์ฯ ยื่นขอรับใบอนุญาตผลิตสัตว์ฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 51 คน รวมจำนวนผู้ขออนุญาตผลิตสัตว์ฯ ตั้งแต่ปี 2560-2562 ทั้งสิ้น 153 คน |
มีผู้ผลิตสัตว์ฯ ยื่นขอรับใบอนุญาตผลิตสัตว์ฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 9 คน รวมจำนวนผู้ขออนุญาตผลิตสัตว์ฯ ตั้งแต่ปี 2560-2563 ทั้งสิ้น 162 คน |
มีผู้ผลิตสัตว์ฯ ยื่นขอรับใบอนุญาตผลิตสัตว์ฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 5 คน รวมจำนวนผู้ขออนุญาตผลิตสัตว์ฯ ตั้งแต่ปี 2560-2564 ทั้งสิ้น 167คน |
||
5. ลักษณะงานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้สัตว์ |
||||
มีโครงการที่ใช้สัตว์ฯ จำนวน 1,475 โครงการ โดยเป็นโครงการที่มีลักษณะการใช้งานสัตว์ฯ เพื่อการวิจัยมากที่สุด จำนวน 1,176 โครงการ (ร้อยละ 80) |
มีโครงการใช้สัตว์ฯ จำนวน 1,595 โครงการ โดยเป็นโครงการที่มีลักษณะการใช้งานสัตว์ฯ เพื่อการวิจัยมากที่สุด จำนวน 1,172 โครงการ (ร้อยละ 74.94) |
มีโครงการที่ใช้สัตว์ฯ จำนวน 1,341 โครงการ โดยเป็นโครงการที่มีลักษณะการใช้งานสัตว์ฯ เพื่อการวิจัยมากที่สุด จำนวน 1,057 โครงการ (ร้อยละ 79) |
||
6. การดำเนินการนำเข้า ส่งออก นำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์8 |
||||
- มีการแจ้งนำเข้าซึ่งสัตว์ฯ จำนวน 20 ครั้ง จากต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย และฝรั่งเศส รวมทั้งสิ้น 2,224 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท และหนูตะเภา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขายและการใช้สัตว์ - มีการแจ้งส่งออกซึ่งสัตว์ฯ จำนวน 55 ครั้ง โดยส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และสิงคโปร์ รวมทั้งสิ้น 32,248 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท หนูตะเภา ไรอ่อนที่ไม่ติดเชื้อ แมลงหางดีด และยุงก้นปล่อง เพื่อการขาย การวิจัย และการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์9 |
- มีการแจ้งนำเข้าซึ่งสัตว์ฯ จำนวน 12 ครั้ง จากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน รวมทั้งสิ้น 2,987 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท หนูตะเภา และปลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขายและการใช้สัตว์ - มีการแจ้งส่งออกซึ่งสัตว์ฯ จำนวน 55 ครั้ง โดยส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสิ้น 61,105 ตัว ได้แก่ หนูแรท หนูเมาส์ และยุงก้นปล่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขาย การวิจัย และการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ |
- มีการแจ้งนำเข้าซึ่งสัตว์ฯ จำนวน 19 ครั้ง จากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส รวมทั้งสิ้น 973 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท หนูตะเภา และหนูแฮมเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขายและการใช้สัตว์ - มีการแจ้งส่งออกซึ่งสัตว์ฯ จำนวน 107 ครั้ง โดยส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งสิ้น 67,188 ตัว ได้แก่ หนูแรท หนูเมาส์ และยุงก้นปล่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขาย การวิจัย และเพื่อตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ |
||
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2564 มีการแจ้งการนำเข้าซึ่งสัตว์ฯ รวม 90 ครั้ง และการแจ้งส่งออกซึ่งสัตว์ฯ รวม 236 ครั้ง |
||||
7. การขายสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ |
||||
มีการขายสัตว์ทดลองจากแหล่งผลิตสัตว์ทดลองเพื่อใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 536,246 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท หนูตะเภา กระต่าย และไข่ไก่ปลอดเชื้อ โดยสัตว์ที่ขายมากที่สุด ได้แก่ ไข่ไก่ปลอดเชื้อ10 หนูเมาส์ และหนูตะเภา |
มีการขายสัตว์ทดลองจากแหล่งผลิตสัตว์ทดลองเพื่อใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,040,047 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท หนูตะเภา กระต่าย และไข่ไก่ปลอดเชื้อ โดยสัตว์ที่ขายมากที่สุด ได้แก่ ไข่ไก่ปลอดเชื้อ หนูเมาส์ และหนูตะเภา |
มีการขายสัตว์ทดลองจากแหล่งผลิตสัตว์ทดลองเพื่อใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 84,383 ตัว ได้แก่ หนูเมาส์ หนูแรท หนูตะเภา และกระต่าย |
||
8. การดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ตามมาตรา 3111 |
||||
มีการแจ้งการดำเนินการต่อสัตว์ฯ จำนวน 4 โครงการ โดยเป็นการศึกษาเซลล์ต้นกำเนิดโดยใช้หนูเมาส์ 2 โครงการ การสืบสายพันธุ์และเพาะขยายพันธุ์หนูเมาส์ 1 โครงการ และการสืบสายพันธุ์หนูเมาส์ ไรอ่อนและแมลงหางดีด 1 โครงการ |
มีการแจ้งการดำเนินงานต่อสัตว์ฯ จำนวน 7 โครงการ โดยเป็นการเพาะขยายพันธุ์ จำนวน 1 โครงการ การสืบสายพันธุ์ จำนวน 2 โครงการ และการสืบสายพันธุ์และเพาะขยายพันธุ์ จำนวน 4 โครงการ |
มีการแจ้งดำเนินการต่อสัตว์ฯ จำนวน 11 โครงการ โดยเป็นการศึกษาเซลล์ต้นกำเนิด จำนวน 1 โครงการ การเพาะขยายพันธุ์ จำนวน 8 โครงการ และการสืบสายพันธุ์ จำนวน 2 โครงการ |
||
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2559-2564 มีการแจ้งการดำเนินการต่อสัตว์ฯ รวมทั้งสิ้น 57 ครั้ง |
3. การพัฒนางานการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในระยะต่อไป สรุปได้ดังนี้ (1) พัฒนาคุณภาพสัตว์ทดลองทั้งชนิดและปริมาณให้หลากหลายตามความต้องการของผู้ใช้สัตว์ เช่น รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติในฐานะหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ผลิตสัตว์ให้ได้คุณภาพหลากหลายตามความต้องการของผู้ใช้ การเร่งจัดตั้งศูนย์ทดสอบคุณภาพพันธุกรรมและคุณภาพของสัตว์ทดลอง (2) พัฒนาสถานที่ดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานตามลักษณะงานที่ใช้ เช่น สถานที่ผลิตและทดสอบวัคซีนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ใช้ได้โดยปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่สิ่งแวดล้อม (3) ส่งเสริมและพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์เพื่อการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้มาตรการทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนผลิตวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงและใช้สัตว์ขึ้นภายในประเทศ ช่วยลดการนำเข้าและเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังต่างประเทศ (4) พัฒนาบุคลากร เช่น จัดให้มีหลักสูตรวิชาการเลี้ยงสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในระดับอาชีวศึกษาเพื่อสร้างพนักงานเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพ (5) พัฒนาคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการให้มีความเข้มแข็งในการกำกับดูแล เช่น การจัดอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และ (6) พัฒนาหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติฯ ได้แก่ สถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อให้การพัฒนางานการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยมีมาตรฐานทัดเทียมกับสากล
______________________________
1กฎหมายลำดับรองประกอบการบังคับใช้ ตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ มีทั้งสิ้น 31 ฉบับ โดยมีกฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว ได้แก่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับ ประกาศ/ระเบียบคณะกรรมการฯ 18 ฉบับ ประกาศ/ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 4 ฉบับ และกฎกระทรวง 1 ฉบับ และกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ กฎกระทรวง 5 ฉบับ (ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา)
2สรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตามที่กฎหมายกำหนด หมายถึง การสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ตามมาตรา 5 และคณะกรรมการจรรยาบรรณตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ฯ
3 “ใบอนุญาต” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ หมายความว่า ใบอนุญาตใช้หรือผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ แล้วแต่กรณี
4 “สถานที่ดำเนินการ” ตามมาตรา 3 และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ หมายความว่า อาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่อื่นใดที่มีการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงพื้นที่โดยรอบของอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ผู้ใดประสงค์จะสร้างหรือใช้อาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ใดเป็นสถานที่ดำเนินการต้องแจ้งต่อเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
5ชีววัตถุ คือ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตหรือจากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตที่ไม่รวมถึงพืช เช่น ผลิตจากเลือด เซลล์ และเนื้อเยื่อ ทั้งนี้ เพื่อ (1) รักษาโรค เช่น สารก่อภูมิต้านทานที่ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ (2) ป้องกันโรค เช่น วัคซีนต่างๆ (3) การปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น เอ็นเทียม กระดูกเทียม (4) การวินิจฉัยโรค เช่น สารก่อภูมิต้านทานต่างๆ ที่ช่วยวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ หรือสารที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคเอชไอวี และ (5) เป็นส่วนประกอบของเลือด เช่น สารแทนน้ำเลือด (Plasma substitute) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยในภาวะช็อกจากภาวะขาดน้ำรุนแรงของร่างกาย
6ประเภทของสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดและประเภทของสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ .... ที่อยู่ระหว่างประกาศใช้ ได้กำหนดประเภทของสัตว์ฯ ไว้ ได้แก่ (1) สัตว์ทดลอง (2) สัตว์เลี้ยง และ (3) สัตว์จากธรรมชาติ โดยสัตว์ทดลองเป็นประเภทสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับใช้งานมากที่สุด เนื่องจากมีพันธุกรรมคงที่ มีคุณภาพและสุขภาพตรงตามที่ผู้ผลิตสัตว์กำหนด และมีระบบเลี้ยงที่ควบคุมสภาพแวดล้อมและป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มงวด เพื่อนำมาใช้สำหรับงานทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ
7อว. แจ้งว่า ปัจจุบันการออกใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ แก่ผู้ที่ขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ จะเป็นการออก “ใบรับคำขอใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ” เพื่อใช้แทนใบอนุญาตใช้สัตว์ฯ ไปพลางก่อนโดยอนุโลม เนื่องจากร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตใช้หรือผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. .... อยู่ระหว่างประกาศบังคับใช้ โดยกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ใบอนุญาตใช้หรือผลิตสัตว์ฯ มีอายุ 4 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และเมื่อกฎกระทรวงดังกล่าวประกาศบังคับใช้ ผู้ขออนุญาตสามารถนำใบรับคำขอใบอนุญาตฯ ดังกล่าวมารับใบอนุญาตฯ ตามกฎหมายได้ต่อไป
8อว. แจ้งว่า การดำเนินการนำเข้า ส่งออก นำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบันการนำเข้าสัตว์ฯ จากต่างประเทศ เป็นการนำเข้ามาเพื่อขายและใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ภายในประเทศเท่านั้น เช่น การวิจัย การทดลอง ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ผลิตสัตว์ฯ ที่มีการขอรับใบอนุญาตผลิตสัตว์ฯ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้งานเอง อีกทั้งบริษัทที่ผลิตสัตว์ทดลองส่วนมากจะผลิตเพื่อส่งออกไปขายให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าในต่างประเทศเป็นหลัก ผู้ใช้งานสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องซื้อสัตว์ฯ จากผู้ขายในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศในกรณีที่จำนวนสัตว์ฯ ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
9อว. แจ้งว่า การตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ เป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้ซึ่งสัตว์ทดลองหรือสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เช่น การตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์เพื่อหาการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค หรือการผลิตสัตว์ติดเชื้อในระยะที่สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้ และส่งออกไปยังหน่วยงานในต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์และวิจัยเพื่อผลิตยาหรือวัคซีน โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร กรมการแพทย์ทหารบกของไทย เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีการส่งออกสัตว์ทดลองเพื่อตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ ณ สถาบันวิจัยกองทัพบกวอลเตอร์รีด (Walter Reed Army Institute of Research : WRAIR) สหรัฐอเมริกา
10อว. แจ้งว่า ไข่ไก่ปลอดเชื้อ จัดเป็นสัตว์ ตามนิยามคำว่า “สัตว์” แห่งพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ มาตรา 3 ซึ่งหมายถึง ตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังซึ่งไม่ใช่มนุษย์ ที่เกิดขึ้นหลังจากไข่ได้รับการผสมกับเชื้ออสุจิจนผ่านระยะเวลาที่มีการเจริญเติบโตจนถึงครึ่งหนึ่งของระยะเวลาการตั้งท้องหรือฟักไข่ แล้วแต่ชนิดของสัตว์
11 มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ฯ บัญญัติให้การดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาสายพันธุ์ การสืบสายพันธุ์ การเพาะขยายพันธุ์ การศึกษาเซลล์ต้นกำเนิด การดัดแปลงพันธุกรรม และการโคลนนิ่ง ต้องดำเนินการโดยผู้มีใบอนุญาต และต้องแจ้งการดำเนินการต่อเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7895