แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 July 2023 19:17
- Hits: 2128
แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 ดังกล่าวต่อไป และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ยธ. รายงานว่า แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) จัดทำขึ้นตามแนวทางที่กำหนดไว้ตามคู่มือว่าด้วยแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงป้องกัน บรรเทา แก้ไข และเยียวยาปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจ ตามกรอบแนวทางของหลักการ United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGPs) ซึ่งเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานของความสมัครใจโดยไม่ได้มีพันธกรณีหรือกฎหมายระหว่างประเทศบังคับให้ต้องปฏิบัติ ประกอบกับการจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) เป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะสำคัญที่ประเทศไทยรับมาปฏิบัติตามกระบวนการ UPR รอบที่ 3 รวมทั้งแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ได้หมดวาระลงแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการขับเคลื่อนงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนโดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม รวมถึงเน้นย้ำบทบาทผู้นำของประเทศไทยในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องนำเสนอแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ต่อคณะรัฐมนตรี สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. พื้นฐานของหลักการ UNGPs ประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 3 เสาหลัก สรุปได้ ดังนี้
เสาหลักของหลักการ UNGPs |
สาระสำคัญ |
|
เสาหลักที่ 1 การคุ้มครอง (Protect) |
กำหนดหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รัฐจะต้องปกป้องและคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้พันธกรณีสิทธิมนุษยชนที่รัฐเป็นภาคี ไม่ว่าการทำละเมิดนั้นจะมาจากรัฐเอง องค์กรธุรกิจ หรือบุคคลภายนอก แม้ว่ารัฐจะไม่ต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยเอกชน แต่รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องกำหนดให้มีการใช้ขั้นตอนที่เหมาะสมในการป้องกันสืบสวน สอบสวน ลงโทษ และเยียวยาผลจากการกระทำที่มิชอบดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐมีหน้าที่กำหนดความคาดหวังต่อภาคธุรกิจให้ชัดเจนว่าจะต้องมีการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจด้วย ตลอดจนรัฐจะต้องให้การรับรองว่าองคาพยพต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจมีความเข้าใจและคำนึงถึงพันธกรณีสิทธิมนุษยชน และพร้อมที่จะให้ข้อมูลข่าวสารและให้การสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง |
|
เสาหลักที่ 2 การเคารพ (Respect) |
กำหนดให้องค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน โดยการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่มีไว้เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศ รวมถึงองค์กรธุรกิจควรมีความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามารถกระทำได้โดยการไม่ละเมิดหรือหลีกเลี่ยงการละเมิด และการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยควรตรวจสอบประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิด รวมถึงควรมีกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ที่เหมาะสมกับขนาดและสภาพแวดล้อมของธุรกิจ |
|
เสาหลักที่ 3 การเยียวยา (Remedy) |
กำหนดให้เป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐและองค์กรธุรกิจที่จะต้องร่วมกันเยียวยาผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากองค์กรธุรกิจ โดยรัฐควรใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้ง 2 มิติ ได้แก่ (1) มิติกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ (Judicial Process) เพื่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับธุรกิจ และ (2) มิติกลไกการร้องทุกข์เยียวยานอกกระบวนการยุติธรรม (Non-Judicial Process) ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องพิจารณาแนวทางอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกลไกการเยียวยาที่ไม่ใช่ของรัฐด้วย ซึ่งต้องมีความโปร่งใส เป็นธรรม เข้าถึงได้ มีวิธีพิจารณาที่ชัดเจน สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยในส่วนบทบาทขององค์กรธุรกิจ องค์กรควรจัดให้มีหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกการร้องทุกข์เยียวยาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาและเยียวยาได้โดยตรง |
2. สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ (1) แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน (2) แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (4) แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ สรุปได้ ดังนี้
2.1 แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน เช่น
ประเด็น |
โครงการ/กิจกรรม |
ตัวชี้วัด |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
|||
(1) การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ |
จัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมปฏิญญาไตรภาคี เรื่อง หลักการว่าด้วยสถานประกอบการข้ามชาติและนโยบายสังคม (MNE Declaration)1 ที่มีความสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย |
มีการจัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมปฏิญญาไตรภาคีฯ |
กระทรวงแรงงาน (รง.) |
|||
(2) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบาย และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง |
ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบาย และมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานการจัดสวัสดิการสังคม การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และการจัดหางานอย่างเป็นธรรมให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน |
มีการทบทวนปรับปรุง/แก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบายและมาตรการในประเด็นที่เกี่ยวข้อง |
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ รง. |
|||
(3) พัฒนาระบบบริหารจัดการแรงงาน |
พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านแรงงานและระบบค้นหาข้อมูลด้านแรงงาน เพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์ด้านแรงงาน และรองรับการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงาน |
มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแรงงานและระบบค้นหาข้อมูลด้านแรงงาน |
รง. |
|||
(4) การจัดหางานและการขึ้นทะเบียนแรงงาน |
พัฒนามาตรการควบคุมและตรวจตราการจัดหางานที่เป็นธรรม เช่น พัฒนาการติดตามตรวจสอบกระบวนการสรรหาแรงงานเพื่อรับรองว่าบุคคลดังกล่าวปฏิบัติตามกฎหมายไทยรวมถึงเพิ่มอัตรากำลัง และพัฒนาศักยภาพพนักงานตรวจแรงงาน |
- มีการตรวจสอบบริษัทจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ - มีการพัฒนามาตรการที่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบทะเบียนผู้รับอนุญาตจัดหางาน |
รง. |
|||
(5) การคุ้มครองแรงงาน |
จัดการฝึกอบรม ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับช่องทางการร้องทุกข์ การขอรับคำปรึกษา การขอรับความช่วยเหลือ สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ความเท่าเทียมระหว่างเพศ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และกลไกภายใต้กฎหมายในประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงหลักการ UNGPs และเผยแพร่คู่มือสำหรับผู้ว่าจ้าง และการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม คู่มือสำหรับภาคธุรกิจ : วิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานภายใต้กฎหมายแรงงานไทย และองค์ความรู้เบื้องต้นด้านการสรรหา จัดจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นธรรมและมีจริยธรรมแก่ผู้ประกอบการและแรงงานทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติรวมถึงเผยแพร่คู่มือความรู้ดังกล่าวในภาษาที่แรงงานสามารถเข้าใจได้ง่ายในวงกว้าง |
- จำนวนการฝึกอบรม/จำนวนแรงงานที่ได้รับการอบรม - จำนวนหรือช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีการเผยแพร่ - การประเมินความรู้ความเข้าใจหลังเข้ารับการฝึกอบรม |
พม. ยธ. และ รง. |
|||
(6) การขจัดการเลือกปฏิบัติการล่วงละเมิดและการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ทางแรงงานอย่างเท่าเทียม |
พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล/รวบรวมสถิติการละเมิดสิทธิแรงงานรวมถึงแรงงานข้ามชาติและแรงงานกลุ่มเปราะบางต่างๆ และการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมในภาคธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์ในเชิงนโยบาย |
- มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล/รวบรวมสถิติการละเมิดสิทธิแรงงาน - จำนวนข้อมูลสถิติและรายงานประจำปี |
รง. |
2.2 แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เช่น
ประเด็น |
ข้อเสนอแนะ โครงการ/กิจกรรม |
ตัวชี้วัด |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
|||
(1) การพัฒนาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบาย และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง |
ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข และเสนอร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ในการจัดการที่ดิน แหล่งน้ำ สภาพภูมิอากาศทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ |
มีการทบทวน/ปรับปรุง/เสนอ/แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรการที่เกี่ยวข้อง |
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) |
|||
(2) กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการพัฒนาศักยภาพชุมชน |
จัดให้มีการหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยดำเนินการตั้งแต่ขั้นการกำหนดนโยบาย ก่อนเข้าไปดำเนินโครงการใดๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีบทบาทในการกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ของพื้นที่และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รวมถึงการพิจารณากำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดโครงการเพื่อให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ในกระบวนการรับฟังความเห็นต่างๆ ทั้งภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายอื่นๆ |
โครงการ/กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน |
พม. กษ. ทส. กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ อก. |
|||
(3) การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม/สุขภาพ |
ทบทวนและพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม/สุขภาพและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม/สุขภาพให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย จรรยาบรรณและแนวทางการปฏิบัติที่ดีโดยเคร่งครัดผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยผู้จัดทำรายงานประเมินผลต้องมีความเป็นอิสระ มีความเชี่ยวชาญเป็นไปตามหลักวิชาการตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีเวลาเพียงพอในการทำความเข้าใจกับข้อเสนอต่างๆ และเตรียมข้อเสนอแนะของตน ทำการเปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบ และในกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ควรมีการจัดทำคำแปลเป็นภาษาท้องถิ่น และมีการสื่อสารในลักษณะที่เหมาะสม |
- มีการทบทวนและพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม/สุขภาพ - มีการจัดการข้อร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการและการแก้ไขปัญหา - ช่องทางการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ |
ทส. และ อก. |
|||
(4) เขตเศรษฐกิจพิเศษ |
เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการและการจัดทำผังเมืองต่างๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยการดำเนินการจัดสรรที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ต้องพิจารณาตามศักยภาพและบทบาทของพื้นที่อย่างแท้จริง อีกทั้งประกันการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ |
- กำหนดให้มีการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์/เปิดเผยข้อมูลโครงการทั้งก่อนดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และหลังจบโครงการ โดยให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงโดยรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน - กำหนดเพิ่มช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียให้รับรู้มากขึ้น - จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ |
กระทรวงคมนาคม (คค.) มท. อก. สศช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก |
|||
(5) อากาศที่ดีและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ |
ดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ต่างๆ โดยเร็ว และเร่งรัดบังคับใช้มาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรม โดยรวมถึงการพิจารณาส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมจัดตั้งแผนกเกี่ยวกับการรายงานคาร์บอนในบริษัท เพื่อจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก และประสานข้อมูลกับหน่วยงานราชการตลอดจนปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ |
- มีมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษ - มีการทบทวน/ปรับปรุง/แก้ไขมาตรฐานการปล่อยมลพิษ |
ทส. และ อก. |
|||
(6) การเยียวยา |
1) กำหนดช่องทางและมาตรการการเยียวยา สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ โดยการชดเชยเยียวยาต้องรวดเร็ว เป็นธรรม และเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ใหม่ ควรเป็นพื้นที่ซึ่งเหมาะสมสำหรับการดำรงชีพตามหลักการในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 4 ของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม2 2) วางแผนการเยียวยาตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนโครงการเพื่อกำหนดงบประมาณเยียวยาสำหรับโครงการแต่ต้น โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวได้ |
มีการพัฒนาช่องทางและมาตรการการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ จำนวนโครงการที่มีการวางแผนเยียวยาแต่ต้นโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย |
กษ. ทส. มท. ยธ. ศอ.บต. และ สคทช. คค. ทส. มท. และ อก. |
2.3 แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น
ประเด็น |
ข้อเสนอแนะ โครงการ/กิจกรรม |
ตัวชี้วัด |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
|||
(1) การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆ |
ผลักดันการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED ) |
ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) |
ยธ. |
|||
(2) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบาย และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง |
พิจารณา จัดทำ ทบทวน ปรับปรุง หรือแก้ไขกฎหมาย มาตรการ กลไก และกระบวนการต่างๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยรวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงและกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เพื่อให้ทำงานได้อย่างปลอดภัยทั้งด้าน Offline และ Online โดยสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ |
มีการพิจารณา/จัดทำ/ทบทวน/ปรับปรุง/แก้ไข กฎหมาย/มาตรการกลไกและกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน |
พม. ยธ. และสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) |
|||
(3) การสร้างความรู้ความเข้าใจ |
สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการจัดการชุมนุม เพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทของไทย |
- โครงการ/กิจกรรม/สื่อเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน - ระดับความรู้ความเข้าใจของผู้เข้าร่วมโครงการ/กิจกรรม/เรียนรู้จากสื่อ |
กต. ยธ. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) |
|||
(4) การร้องเรียน ร้องทุกข์ ขอความช่วยเหลือ |
บูรณาการการทำงานของกลไกการร้องเรียนร้องทุกข์และการให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนให้กลไกดังกล่าวสามารถดำเนินการได้สะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบโดยทั่วถึง และมีการติดตามแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องเรียนแก่ผู้ร้องเรียนโดยสม่ำเสมอ |
- จำนวนข้อร้องเรียนที่ได้รับการแก้ไข - การประเมินความพึงพอใจโดยผู้ทำการร้องเรียน - มาตรการดำเนินการ/ประสานงานในการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือและดูแลผู้ร้อง |
พม. กษ. ทส. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) มท. ยธ. อก. ตช. และ อส. |
|||
(5) กลไกการไกล่เกลี่ย/การดำเนินคดี |
บูรณาการ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระบบการไกล่เกลี่ยในทุกระดับชั้นของกระบวนการยุติธรรมตลอดจนการพัฒนากลไกการระงับข้อพิพาททางเลือกอื่นๆ |
- โครงการ/กิจกรรมส่งเสริมการไกล่เกลี่ยและมาตรการระงับข้อพิพาททางเลือก - ช่องทางการประชาสัมพันธ์การไกล่เกลี่ยในทุกระดับชั้นของกระบวนการยุติธรรม |
ยธ. และ อส. |
|||
(6) การเยียวยา |
เยียวยาเหยื่อ/ผู้เสียหายตามกรอบกฎหมายและพัฒนามาตรการเยียวยาทั้งทางร่างกาย และจิตใจให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยรวมถึงปฏิญญาว่าด้วยหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยมิชอบ (UN Declaration of Basic Principles of Justice for Victims of Crime and Abuse of Power) ตามความเหมาะสมและเพศสภาวะ |
มีการปรับปรุงระบบและมาตรการเยียวยาเหยื่อ/ผู้เสียหายเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ |
ยธ. พม. และ กระทรวงสาธารณสุข |
2.4 แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ เช่น
ประเด็น |
ข้อเสนอแนะ โครงการ/กิจกรรม |
ตัวชี้วัด |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
|||
(1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบาย และมาตรการต่างๆ |
ศึกษาและจัดทำแนวปฏิบัติและกระบวนการให้ความเห็นต่อสัญญาในกรณีที่ภาครัฐและรัฐวิสากิจทำธุรกิจกับบรรษัทข้ามชาติ โดยให้ครอบคลุมแนวทางตามหลักการ UNGPs พันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ รวมถึงสอดคล้องกับข้อตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนฉบับมาตรฐานที่ กต. ทำการปรับปรุง |
คู่มือแนวปฏิบัติและกระบวนการให้ความเห็นต่อสัญญาในกรณีที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจกับบรรษัทข้ามชาติ |
กต. ยธ. และ อส. |
|||
(2) ความตระหนักรู้ด้านพันธกรณีของประเทศไทยในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน |
จัดฝึกอบรมเพื่อเผยแพร่ความรู้สิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะหลักการ UNGPs และการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence : HRDD) ให้กับภาคธุรกิจพร้อมทั้งจัดให้มีช่องทางสื่อสารแก่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนไทย รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจสัญชาติไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ |
- โครงการ/กิจกรรมการจัดประชุม/อบรม/มีหนังสือเวียนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิโดยเฉพาะหลักการ UNGPs และ HRDD ให้กับภาคธุรกิจ - การประเมินความรู้ของผู้เข้าร่วมโครงการ/กิจกรรม |
กต. พณ. ยธ. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย |
|||
(3) การพัฒนากลไกเชิงรุกในการตรวจสอบแก้ไข ป้องกัน ประเมิน และติดตามผลกระทบข้ามพรมแดนและในต่างประเทศ |
พัฒนามาตรการกลไกการกำกับดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนข้ามพรมแดนในต่างประเทศให้เคารพสิทธิมนุษยชนหลักการ UNGPs และเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) |
มาตรการ/กลไกกำกับดูแลการลงทุนข้ามพรมแดน |
กต. และ ยธ. |
|||
(4) มาตรการป้องกันและสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน |
กำหนดให้รัฐวิสาหกิจมีแนวทางในการป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมถึงการดำเนินการในต่างประเทศ ทั้งโดยองค์กรเอง บริษัทย่อย บริษัทในเครือ ผู้รับจ้างตามสัญญาหรือกิจการร่วม |
- มีการนำระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจใหม่ (State Enterprise Assessment Model: SE-AM) มาใช้ประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ - มีการนำหลักการและแนวทางกำกับดูแลกิจการที่ดีมาใช้บังคับ |
กค. |
|||
(5) ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ |
ศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมในการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Guidelines for Multinational Enterprises) การมีส่วนร่วมในคณะทำงาน OECD ว่าด้วยการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (OECD Working Party on Responsible Business Conduct) และการกำหนดแนวทางจัดตั้งกลไกศูนย์ติดต่อประสานงานแห่งชาติ (National Contact Point) ในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย |
รายงานผลการศึกษารวมถึง Roadmap เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางจัดตั้งกลไกศูนย์ติดต่อประสานงานแห่งชาติ |
กต. และ ยธ. |
|||
(6) การเยียวยา |
1) พัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนรวมถึงผลกระทบ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินคดี เยียวยา หรือให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย |
- จำนวนผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนรวมถึงผลกระทบ - ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน รวมถึงผลกระทบของผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม |
ยธ. และ อส. |
3. กลไกการกำกับดูแลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานอนุกรรมการและมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นอนุกรรมการฯ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ การพัฒนาและปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ และการแก้ไขปัญหากรณีข้อร้องเรียนร้องทุกข์จากการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงแต่งตั้งคณะทำงานหรือเชิญบุคคล หรือหน่วยงานมาเข้าร่วมประชุมและให้ข้อมูล ตลอดจนกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ และเสนอรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ทั้งนี้ กลไกดังกล่าวจะเป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
4. การติดตามและรายงานผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) จะดำเนินการผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ (1) ผู้ประสานงานหลักประจำหน่วยงาน (2) การจัดทำหนังสือราชการเพื่อขอความอนุเคราะห์ข้อมูลผลการปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และ (3) การรายงานผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ผ่านระบบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) (http://nap.rlpd.go.th) ทั้งนี้ ยธ.จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และจะจัดทำรายงานประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ระยะครึ่งรอบ (ระหว่าง พ.ศ. 2566-2568) และระยะเต็มรอบ (ระหว่าง พ.ศ. 2566-2570) เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป
5. ยธ. ได้ส่งร่างแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ให้ สศช. เพื่อพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดย สศช.เห็นว่า ร่างแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) เป็นแผนระยะที่ 3 ที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี อีกทั้งมิใช่พันธกรณีหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่เป็นเอกสารเชิงให้ข้อแนะนำและกำหนดบทบาทหน้าที่ให้กับภาครัฐและภาคธุรกิจ รวมทั้งแนวทางการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประเทศต่างๆ นำหลักการไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศตนเอง ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นแผนระดับที่ 3 ที่ต้องเสนอมาให้ สศช. พิจารณากลั่นกรองตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ เพื่อให้ร่างแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) เกิดประสิทธิผลในทางปฏิบัติยิ่งขึ้น มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
5.1 ควรพิจารณาเพิ่มเติมข้อมูลทางสถิติที่สะท้อนให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของปัญหาร่วมกับข้อมูลเชิงคุณภาพ เพื่อให้การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการถ่ายระดับจากแนวทางไปยังการดำเนินงานของหน่วยงานผ่านโครงการต่างๆ การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และการประเมินผลการดำเนินงาน มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
5.2 ควรกำหนดค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดในภาพรวม ตลอดจนเป้าหมายและตัวชี้วัดในแผนปฏิบัติการด้านต่างๆ ให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะในกิจกรรมที่มิใช่การพัฒนาหรือปรับแก้กฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆ เพื่อให้สามารถวัดระดับความสำเร็จและสามารถติดตามผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
5.3 ควรมีการถอดบทเรียนปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) และมีการเปลี่ยนข้อค้นพบดังกล่าวเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้เกิดการผลักดันประเด็นสำคัญให้เห็นผลได้อย่างแท้จริง
_______________________________
1คือ ตราสารขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่สื่อสารโดยตรงกับบริษัทต่างๆ นอกเหนือจากภาครัฐบาล องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้าง ซึ่งสะท้อนถึงฉันทามติของฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และแรงงานในประเด็นที่สำคัญ 5 ประการ ที่ธุรกิจจะสามารถมีบทบาทในการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวกได้สูงสุด ได้แก่ (1) นโยบายทั่วไป (2) การจ้างงาน (3) การอบรม (4) สภาพการจ้างและการดำรงชีพ และ (5) แรงงานสัมพันธ์
2คือ หลักการที่ว่าด้วยสิทธิในที่อยู่อาศัยต้องได้รับการประกันให้กับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงรายได้หรือการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจและจะต้องหมายถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ มีความเป็นส่วนตัวที่เพียงพอ พื้นที่เพียงพอ ความปลอดภัยที่เพียงพอ แสงสว่างและการระบายอากาศที่เพียงพอ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและตำแหน่งที่ตั้งเกี่ยวกับการทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ในราคาที่สมเหตุสมผล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7894