ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2566 (Ministers Responsible for Trade Meeting 2023)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 July 2023 18:29
- Hits: 1523
ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2566 (Ministers Responsible for Trade Meeting 2023)
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2566 (Ministers Responsible for Trade Meeting 2023) (การประชุมฯ) ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา โดยมีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์) เข้าร่วมการประชุมฯ [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (16 พฤษภาคม 2566) ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2566 (ร่างแถลงการณ์ฯ) และเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างแถลงการณ์ฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีเคยได้เห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง] ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2566 สรุปได้ ดังนี้
1. วาระระบบการค้าพหุภาคี ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (ที่ประชุมฯ) ยืนยันให้การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี เร่งรัดการปฏิบัติตามผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ครั้งที่ 12 เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 และสนับสนุนให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในการประชุมครั้งต่อไป โดยผู้อำนวยการใหญ่ WTO คาดหวังให้ประเด็นการค้าและการพัฒนาเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ดังกล่าว ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจเอเปคจำนวนมากกล่าวถึงประเด็นการปฏิรูป WTO (รวมถึงกลไกการระงับข้อพิพาท) และสิ่งแวดล้อมด้วย โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีการนำเสนอแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย
2. วาระการค้ากับความยั่งยืนและครอบคลุม มีการนำเสนอนโยบายทางการค้าหรือมาตรการภายในที่สนับสนุนความยั่งยืนและส่งเสริมความครอบคลุม เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) ของสตรีและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนให้สานต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bangkok Goals on Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy)] และเน้นย้ำการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจผ่านข้อริเริ่มต่างๆ (รวมถึงแผนงานเขตการค้าเสรี เอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP)
3. การหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เป็นวาระพิเศษที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 โดยผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาทำหน้าที่เป็นผู้นำการหารือร่วมกับผู้ประกอบการ SMEs เกี่ยวกับประเด็นการใช้เทคโนโลยีหรือบริการทางดิจิทัลในสาขาการชำระเงิน แพลตฟอร์มทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น
4. เอกสารผลลัพธ์การประชุม เขตเศรษฐกิจเห็นพ้องกันในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน แต่เนื่องจากเหตุทางการเมืองระหว่างประเทศ (สงครามสหพันธรัฐรัสเซีย-ยูเครน) ที่ประชุมฯ จึงไม่สามารถมีฉันทามติรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ โดยปรากฎเป็นเอกสารผลลัพธ์และมีประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติม เช่น
เอกสารผลลัพธ์ |
ประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยน/เพิ่มเติม |
|
(1) แถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2566 (แถลงการณ์ประธานฯ) |
● ปรับย้ายย่อหน้าการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีจากเดิมที่อยู่ตอนท้ายมาเป็นตอนต้น และเพิ่มเติมรายละเอียดของการดำเนินงานในปัจจุบันภายใต้ WTO ● เพิ่มเติมถ้อยคำแสดงความมุ่งมั่น ข้อสั่งการ และรายชื่อเอกสารผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เอเปคสามารถบรรลุผลลัพธ์การดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม การเร่งรัดการปฏิบัติการตามแผนงานลาเซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม และการขับเคลื่อน FTAAP โดยการเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือ |
|
(2) ภาคผนวกเรื่องหลักการสำหรับการทำงานร่วมกันของระบบใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเปค |
เป็นภาคผนวกที่ให้การรับรองเพิ่มเติมในระหว่างการประชุมเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางดิจิทัล โดยพยายามให้เขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันได้ตามเขตอำนาจของกฎหมายของแต่ละเขตเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมการใช้มาตรฐานและพิธีการร่วมกันและการสนับสนุนข้อริเริ่มที่เกี่ยวข้อง |
|
(3) ภาคผนวกเรื่องหลักการทั่วไปที่ไม่มีผลผูกพันเรื่องบริการที่สนับสนุนการจัดเก็บขยะในทะเลของเอเปค |
ตัดหัวข้อการติดตามสถานการณ์ขยะในทะเลและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องออก |
ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมจากเอกสารผลลัพธ์ไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566
ความเห็นและข้อสังเกตของ พณ.
1. สหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าภาพให้ความสำคัญกับนโยบายการค้าที่สนับสนุนความยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งเขตเศรษฐกิจได้นำเสนอนโยบายหรือมาตรการภายในที่สอดรับกับแนวทางดังกล่าว ขณะที่ไทยได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาสินค้าภายใต้แนวคิด BCG Economy ที่สามารถตอบโจทย์การค้าสินค้าที่ยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของไทย และเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการประชุมด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ
2. ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศส่งผลให้ที่ประชุมฯ ต้องออกเอกสารผลัพธ์เป็นแถลงการณ์ประธานฯ แทนการออกแถลงการณ์ร่วมฯ แต่ไม่ได้ส่งผลให้การดำเนินงานของเอเปคหยุดชะงักเนื่องจากทุกเขตเศรษฐกิจเห็นพ้องและยอมรับในสาระสำคัญที่จะผลักดันและสานต่อการทำงานของเอเปคในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7891