ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 July 2023 18:23
- Hits: 1385
ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการต่อไป โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างบฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเบค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 มีสาระสำคัญ ได้ แก่ (1) การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ ปี พ.ศ. 2573 ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา พ.ศ. 2583 และแผนปฏิบัติการอาโอทีอาโรอา (2) การดำเนินงานตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (3) การดำเนินงานที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค ประจำปี 2566 ของสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นความเชื่อมโยงนวัตกรรม และความยั่งยืนของระบบการเกษตรและอาหาร (4) การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี (5) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหาร (6) สงครามในยูเครน และ (7) ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง
2. ร่างเอกสารหลักการเพื่อการบรรลุความมั่นคงอาหารผ่านระบบการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเปค เป็นเอกสารที่นำเสนอหลักการสำคัญให้เขตเศรษฐกิจยึดถือ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคและสะท้อนปีแห่งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร พ.ศ. 2573 โดยมีหลักการสำคัญ 4 ประการ ดังนี้ หลักการที่ 1: ระบบการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ควรส่งเสริมความมั่นคงอาหาร การดูแลสิ่งแวดล้อม การรักษาวิถีชีวิต และคำนึงถึงผลประโยชน์ทางสังคมสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและในอนาคต หลักการที่ 2: นโยบายเพื่อพัฒนาความยั่งยืนและความยืดหยุ่นในระบบการเกษตรและอาหารที่แตกต่างกัน ควรตอบสนองต่อลักษณะเฉพาะและบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละเขตเศรษฐกิจ หลักการที่ 3: การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรและอาหารของเอเปคไปสู่ความยั่งยืนและความยืดหยุ่น ควรใช้กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและออกกฎระเบียบที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ปัจจัยเสี่ยงและสะท้อนถึงมาตรฐานสากล และ หลักการที่ 4: ระบบการค้าพหุภาคี และตลาดที่โปร่งใส คาดการณ์ได้ เปิดกว้าง และยุติธรรม มีความสำคัญต่อความมั่นคงอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลก
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7889