ร่างกฎกระทรวง ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวม 2 ฉบับ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 July 2023 02:59
- Hits: 1955
ร่างกฎกระทรวง ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นส่วนชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ พ.ศ. .... 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฎษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับประเด็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา 1175 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 บัญญัติให้การโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งครั้งหรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 1239/1 วรรคสอง บัญญัติให้ในกรณีที่บริษัทได้มีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัทแล้ว แต่มีผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวมบริษัท บริษัทต้องจัดให้มีผู้ซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นดังกล่าวในราคาที่ตกลงกัน กรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ให้ใช้ราคาตามที่ผู้ประเมินราคาเป็นผู้กำหนด โดยการแต่งตั้งผู้ประเมินราคาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว
ร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการแต่งตั้งผู้ประเมินราคาซื้อขายหุ้น ดังนี้
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ใน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นส่วนชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์กรณีบริษัทจำกัด มีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ (หุ้นไม่ระบุชื่อ) เพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากการประกาศหนังสือพิมพ์ (แบบกระดาษ) ได้ โดยการโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ประกาศผ่านเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินงานของธุรกิจในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการของบริษัทจำกัดมีช่องทางการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานทางธุรกิจ
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้บริษัทจำกัด ที่จะควบรวมบริษัทแต่งตั้งผู้ประเมินราคาซื้อขายหุ้นที่เป็นคนกลาง ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตและเป็นผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประเมินทรัพย์สิน ที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบหรือขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานของรัฐ สมาคมจดทะเบียนหรือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในกรณีบริษัทจำกัดมีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัท (ต้องมีมติ 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด) แต่มีผู้ถือหุ้นส่วนน้อยคัดค้านการควบรวมบริษัท โดยขั้นแรกบริษัทจำกัดจัดให้มีผู้มาซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน หากตกลงกันไม่ได้ให้บริษัทจำกัดจัดหาผู้ประเมินราคาหุ้นโดยให้ซื้อขายกันตามราคาที่กำหนด และหากตกลงกันไม่ได้อีกภายใน 14 วัน ให้บริษัทควบรวมได้เลยโดยผู้ถือหุ้นที่คัดค้านจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ควบรวม อันเป็นการช่วยให้บริษัทจำกัดที่จะควบรวมผู้ซื้อหุ้นและผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่คัดค้านมีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา ซึ่งจะทำให้กระบวนการควบรวมบริษัทจำกัด สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานที่กี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักกรและมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น การกำหนดให้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการโฆษณาอย่างน้อยที่สุดต้องให้บริษัทสามารถลงประกาศในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประเมินราคาที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด และการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการนับระยะเวลาและการมีผลของการลงโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ และมิได้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีจึงสามารถพิจารณาอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงทั้งสองฉบับได้
กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อเติมในการดำเนินการและได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งผู้แสดงความคิดเห็นไม่ได้คัดค้านในหลักการของร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นส่วนชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์กรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ (หุ้นไม่ระบุชื่อ) สรุปได้ดังนี้
1.1 กำหนดให้กรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ (หุ้นไม่ระบุชื่อ) อาจโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมจากการโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ ก็ได้
1.2 กำหนดให้การโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้กระทำโดยการประกาศผ่านเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้เป็นการทั่วไป และสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของเว็บไซต์โดยต้องคำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวกและไม่เลือกปฏิบัติ เช่น เว็บไซต์ของบริษัท หรือเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์
1.3 กำหนดให้ข้อความหรือเอกสารที่โฆษณาต้องเป็นเอกสารชุดเดียวกัน หรือมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับที่ส่งให้แก่ผู้ถือหุ้น
1.4 กำหนดให้การโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะต้องปรากฏข้อความหรือเอกสารที่โฆษณานั้นในสื่ออิเล็กทรอนิกส์จนถึงวันประชุมใหญ่
1.5 กำหนดให้บริษัทต้องเก็บรวบรวมหลักฐานการโฆษณา พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่มีการโฆษณาไว้ด้วย
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้ประเมินราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมและคัดค้านการควบรวมบริษัทในกรณีที่บริษัทมีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัท สรุปได้ดังนี้
2.1 กำหนดนิยามคำว่า
“ผู้จะซื้อหุ้น” หมายความว่า ผู้ที่บริษัทจัดให้มาซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้านในกรณีที่บริษัทมีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัท
“ผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของบริษัท ซึ่งจัดขึ้นเพื่ออนุมัติการควบรวมบริษัทและได้ออกเสียงลงคะแนนคัดค้านการควบรวมบริษัทเมื่อที่ประชุมใหญ่ ลงมติพิเศษให้ควบรวมบริษัท
“ผู้ประเมินราคา” หมายความว่า ผู้ประเมินและกำหนดราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน
2.2 กำหนดให้บริษัทเป็นผู้แต่งตั้งผู้ประเมินราคาเพื่อทำหน้าที่ประเมินและกำหนดราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน ในกรณีที่ผู้จะซื้อหุ้นกับผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวมบริษัทไม่สามารถตกลงราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวมบริษัทกันได้ และกำหนดความเป็นอิสระของผู้ประเมินราคา เช่น ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย ปราศจากอคติ
2.3 กำหนดคุณสมบัติของผู้ประเมินราคา ได้แก่
1) เป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี และ
2) เป็นผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประเมินทรัพย์สิน ที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบหรือขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานของรัฐ สมาคมจดทะเบียนหรือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น 1) อนุญาโตตุลาการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานศาลยุติธรรม ในสาขาการประเมินราคาทรัพย์สิน 2) ผู้เชี่ยวชาญศาลด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานศาลยุติธรรม และ 3) บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.
2.4 กำหนดให้ผู้ซื้อจะซื้อหุ้นและผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวมบริษัทให้ใช้ราคาตามที่ ผู้ประเมินราคาเป็นผู้กำหนด และให้ถือว่าราคาดังกล่าวเป็นที่สุด
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ รวม 2 ฉบับดังกล่าว ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7639