มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 25 December 2014 20:03
- Hits: 2872
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ
เรื่อง มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทสและมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. เสนอว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและบริษัทการค้าระหว่างประเทศแบ่งเป็น 2 มาตรการภาษี โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters : IHQ)
1.1 คำนิยาม
สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ หมายความว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของตน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ และหมายความรวมถึงการประกอบกิจการในลักษณะเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศด้วย
1.2 คุณสมบัติ
1.2.1 มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป
1.2.2 มีการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศหรือสาขาในต่างประเทศของวิสาหกิจในเครืออย่างน้อย 1 ประเทศ
1.2.3 มีรายจ่ายในการดำเนินงานซึ่งเกี่ยวกับกิจการของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศที่จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
1.2.4 ยื่นคำรองขอและได้อนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
1.2.5 ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ทั้งนี้ การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมีระยะเวลา 15 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรดังนี้
(1) กรณที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ได้รับอนุมัติให้นับรอบ
ระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก หรือ
(2) กรณีที่ได้รับอนุมัติระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใดให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่าจะมีระยะเวลาน้อยกว่า 12 เดือนก็ตาม
อนึ่ง ในกรณีที่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศขาดคุณสมบัติข้างต้นข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้การรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
1.3 สิทธิประโยชน์ทางภาษี
1.3.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล
(1) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศสำหรับรายได้ดังต่อไปนี้
(1.1) รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ โดยรวมถึงดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ สำหรับการให้กู้ยืมแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศดังกล่าวเฉพาะที่เป็นการบริหารการเงิน
(1.2) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ
(1.3) เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(1.4) รายได้จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยต้องไม่นำผลขาดทุนสุทธิจากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
(1.5) รายได้ของสาขาที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ โดยต้องไม่นำรายจ่ายของสาขาที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
(1.6) รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศ (Out –Out) รวมทั้งรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลในต่างประเทศที่ได้รับจากหรือในต่างประเทศ
(2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้
(2.1) รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยรวมถึงดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย สำหรับการให้กู้ยืมแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยดังกล่าวสเฉพาะที่เป็นการบริหารเงิน
(2.2) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
ทั้งนี้ รายได้ที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิบิตบุคคลตาม (2.1) และ (2.2) เมื่อรวมกันแล้วต้องเป็นจำนวนไม่เกินกว่ารายได้ที่ได้รับการยกเวินภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (1.1) และ (1.2) รวมกัน(2.3) รายได้จากการจัดซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศไทยและขายให้แก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (In –Out) เพื่อความมุ่งประสงค์ในการผลิตในต่างประเทศที่ได้กระทำโดยวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ต่างประเทศดังกล่าว
(3) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้
(3.1) เงินปันผลที่ได้รับจากสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (1)
(3.2) ดอกเบี้ยที่ได้รับจากสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้กู้มาเพื่อให้กู้ยืมต่อแก่วิสาหกิจในเครือที่เป็นการบริหารเงินเท่านั้น
1.3.2 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 15 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศตั้งแต่วันที่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ทางภาษีจนถึงวันที่สิ้นสุดการทำงานประจำสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยคนต่างด้านที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดังกล่าวต้องยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดด้วยและในกรณีที่การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศเป็นอันระงับในช่วงระยะเวลาใดให้การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศเป็นอันระงับในช่วงระยะเวลานั้นด้วย
1.3.3 ภาษีธุรกิจเฉพาะ ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สำหรับรายรับจากการให้กู้ยืมแก่วิสาหกิจในเครือ ทั้งนี้ เฉพาะการให้กู้ยืมที่เป็นการบริหารเงิน
ทั้งนี้ ให้สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 405) พ.ศ.2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 508) พ.ศ.2553 สามารถยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและแจ้งเลิกการเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคได้โดยไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับระหว่างเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers : ITC)
2.1 คำนิยาม
บริษัทการค้าระหว่างประเทศ หมายความว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเพื่อประกอบการจัดซื้อและขายสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน รวมถึงการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลในต่างประเทศ
2.2 คุณสมบัติ
2.2.1 มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 10 ล้านขึ้นไป
2.2.2 มีวิสาหกิจในเครือหรือสาขาที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศอย่างน้อย 1 ประเทศ
2.2.3 ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2.2.4 ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพกรประกาศกำหนด
ทั้งนี้ การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมีระยะเวลา 15 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรดังนี้
(1) กรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ได้รับอนุมัติให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก หรือ
(2) กรณีที่ได้รับอนุมัติระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใดให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่าจะมีระยะเวลาน้อยกว่า 12 เดือนก็ตาม
อนึ่ง ในกรณีที่บริษัทการค้าระหว่างประเทศขาดคุณสมบัติข้างต้นข้อหนึ่งข้อใดรอบระยะเวลาบัญชีใดให้การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
2.3 สิทธิประโยชน์ทางภาษี
2.3.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล
(1) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทการค้าระหว่างประเทศ สำหรับรายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศ (Out – OuT) รวมทั้งรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลในต่างประเทศที่ได้รับจากหรือในต่างประเทศ
(2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทการค้าระหว่างประเทศจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 สำหรับรายได้จากการจัดซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศไทยและขายให้แก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (In – Out) เพื่อความมุ่งประสงค์ในการผลิตในต่างประเทศที่ได้กระทำโดยวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศดังกล่าว
(3) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (1) เท่านั้น
2.3.2 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 15 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำบริษัทการค้าระหว่างประเทศได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่บริษัทการค้าระหว่างประเทศได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ ทางภาษีจนถึงวันที่สิ้นสุดการทำงานประจำบริษัทการค้าระหว่างประเทศหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบริษัทการค้าระหว่างประเทศสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยคนต่างด้าวที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวต้องยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดด้วยและในกรณีที่การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบริษัทการค้าระหว่างประเทศเป็นอันระงับในช่วงระยะเวลาใดให้การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำบริษัทการค้าระหว่างประเทศเป็นอันระงับในช่วยระยะเวลานั้นด้วย
เพื่อให้เป็นไปตามหลักการข้างต้น กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรจะต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พศ. ....จำนวน 2 ฉบับ แบ่งเป็น
(1) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ) จำนวน 1 ฉบับ
(2) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ) จำนวน 1 ฉบับ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 ธันวาคม 2557