รายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 และรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 July 2023 02:02
- Hits: 1330
รายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 และรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอ รายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 และรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 18 (12) และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานแล้วรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปีภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ และให้คณะกรรมการฯ เสนองบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีที่ล่วงมา ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบรับรองแล้วต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ โดยรายงานดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. รายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 (คณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติเห็นชอบรายงานฯ ด้วยแล้ว) มีผลการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1) การเบิกจ่ายงบประมาณ |
มีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับหน่วยบริการ ที่จัดบริการให้ผู้มีสิทธิ จำนวน 130,480.54 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.84 (จากงบประมาณ จำนวน 140,550.19 ล้านบาท) |
|
(2) ความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ |
ประชากรไทยผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 47.46 ล้านคน ได้ลงทะเบียนสิทธิเพื่อเลือกหน่วยบริการประจำ จำนวน 47.18 ล้านคน คิดเป็นความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 99.40 |
|
(3) หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ |
มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนให้บริการผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 15,847 แห่ง โดยจำแนกตามประเภทการขึ้นทะเบียน ได้แก่ หน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวน 12,185 แห่ง หน่วยบริการประจำ จำนวน 1,213 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป จำนวน 1,085 แห่ง และหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน จำนวน 4,633 แห่ง (หน่วยบริการ 1 แห่ง สามารถขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มากกว่า 1 ประเภท) |
|
(4) ผลงานบริการตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร |
มีการให้บริการตามสิทธิประโยชน์ ประกอบด้วย (1) บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น การใช้บริการผู้ป่วยนอกประมาณ 167 ล้านครั้ง (ร้อยละ 95.66 ของเป้าหมาย 175 ล้านครั้ง) การใช้บริการผู้ป่วยในประมาณ 6.2 ล้านครั้ง (ร้อยละ 97.07 ของเป้าหมาย 6.4 ล้านครั้ง) บริการกรณีเฉพาะ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้ยาละลายลิ่มเลือด 6,871 คน (ร้อยละ 97.16 ของเป้าหมาย 7,072 คน) และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีผู้มาใช้บริการประมาณ 3.9 ล้านคน (ร้อยละ 93.73 ของเป้าหมาย 4.2 ล้านคน) (2) บริการเฉพาะกลุ่ม (นอกงบเหมาจ่ายรายหัว) เช่น กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีได้รับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 198,199 คน (ร้อยละ 128.15 ของเป้าหมาย 154,657 คน) จำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารับบริการล้างไต ฟอกไต ปลูกถ่ายไต 82,463 คน (ร้อยละ 122.71 ของเป้าหมาย 67,200 คน) และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มติดบ้านติดเตียงทุกสิทธิ ทุกกลุ่มอายุได้รับการดูแลที่บ้าน ตามแผนการดูแลรายบุคคล 201,291 คน (ร้อยละ 121.98 ของเป้าหมาย 165,018 คน) |
|
(5) คุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข |
(1) หน่วยบริการรับส่งต่อได้รับการรับรองตามกระบวนการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับ HA (Hospital Accreditation)* ร้อยละ 84.79 (920 แห่งจากหน่วยบริการที่รับการประเมิน 1,085 แห่ง) (2) ผลการดำเนินงานตัวชี้วัดตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ ปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกในการกำหนดเป็นเกณฑ์คุณภาพฯ ของผู้ป่วยภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น 1) ผู้ป่วยเบาหวานได้รับการตรวจหาระดับน้ำตาลสะสมในเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี คิดเป็นร้อยละ 51.66 (เป้าหมาย ร้อยละ 70) และมีผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ร้อยละ 27.26 (เป้าหมาย ร้อยละ 40) และ 2) ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดี ร้อยละ 54.79 (เป้าหมาย ร้อยละ 60) (3) การสำรวจความพึงพอใจต่อการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ประชาชน ร้อยละ 97.69 ผู้ให้บริการ (เช่น แพทย์และพยาบาล) ร้อยละ 86.19 และองค์กรภาคี [เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค] ร้อยละ 97.62 มีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด |
|
(6) การคุ้มครองสิทธิ |
(1) ประชาชนและผู้ให้บริการสอบถามข้อมูล ร้องเรียน ร้องทุกข์ ประสานส่งต่อผู้ป่วย บริการเชิงรุก โดยผ่านช่องทางสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 ช่องทางออนไลน์ หรือมาติดต่อด้วยตนเอง จำนวนรวม 7.33 ล้านเรื่อง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 3.46 ล้านเรื่อง (ร้อยละ 46.86) (2) การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ผู้ยื่นคำร้องจำนวน 1,314 คน ได้รับการชดเชย 1,118 คน รวม 291.42 ล้านบาท และการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ ผู้ยื่นคำร้องจำนวน 11,553 คน ได้รับการชดเชย 11,165 คน รวม 122.58 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายกรณี ติดเชื้อโควิด-19 จากการให้บริการ ร้อยละ 97.31 (3) กลไกการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิ จำนวน 1,250 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ 883 แห่ง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 194 แห่ง หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน จำนวน 141 แห่ง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพใน อปท. 32 แห่ง นอกจากนี้ มีองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชน 587 องค์กร ได้แก่ ด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านคนพิการ และด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรัง |
|
(7) การมีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ |
มี อปท. จำนวน 7,741 แห่ง (ร้อยละ 99.58 จาก 7,774 แห่ง รวมกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) เข้าร่วมบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อจัดกิจกรรมสำหรับดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่กว่า 174,643 โครงการ ในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีภาวะเสี่ยงกลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มหญิงตั้งครรภ์/หญิงหลังคลอด และเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จำนวนรวม 44.21 ล้านคน งบประมาณ 4,101.93 ล้านบาท |
|
(8) ความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ |
(1) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยการพัฒนาการยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ (Authentication) การตรวจสอบ การเบิกจ่ายที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ตรวจสอบ การจ่ายชดเชย (Al Audit) (2) พัฒนารูปแบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการที่ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและปัญหาทางการเงินของหน่วยบริการ (3) พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับชีวิตวิถีปกติใหม่ (New Normal) มีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือนำเทคโนโลยี/นวัตกรรมขั้นสูงต่างๆ (Digital Healthcare) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและรักษาพยาบาล (4) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (กลุ่มติดบ้านติดเตียง) (Long Term Care) โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณสุขร่วมกับท้องถิ่น (5) เพิ่มความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิและระบบบริการสุขภาพชุมชนโดยเฉพาะระบบบริการปฐมภูมิเขตเมือง รวมถึงเร่งรัดปรับระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และโรคที่ยังมีปัญหาในการเข้าถึงบริการเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเข้ารับบริการ (6) บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศและการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาระบบการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง (7) สนับสนุนให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีข้อมูลสุขภาพของตนเองนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติ และสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม (8) บูรณาการสร้างความเป็นเอกภาพของระบบประกันสุขภาพภาครัฐ 3 ระบบหลัก คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความกลมกลืนระหว่างระบบประกันสุขภาพภาครัฐ |
2. รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง สตง. ตรวจสอบรับรองแล้วเห็นว่า รายงานการเงินดังกล่าวถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด (คณะกรรมการฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 มีมติเห็นชอบรายงานฯ ด้วยแล้ว)
______________
* การรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (Hospital Accreditation: HA) หมายความว่า การรับรองว่าสถานพยาบาล มีองค์ประกอบของการปฏิบัติงานและการพัฒนาคุณภาพที่เชื่อได้ว่าจะสามารถให้บริการด้านสาธารณสุขที่ดีและ มีคุณภาพตามมาตรฐาน โดยเป็นการรับรองระบบการดำเนินงานของสถานพยาบาล มิใช่การรับรองผลการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7623