WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2565 สรุป ณ สิ้นสุดไตรมาส 4

GOV4 copy

รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2565 สรุป ณ สิ้นสุดไตรมาส 4

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSME) ปี 2565 สรุป ณ สิ้นสุดไตรมาส 4 (รายงานฯ) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริม MSME พ.ศ. 2543 มาตรา 11 (4) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการ MSME เสนอรายงานเกี่ยวกับ MSME ของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี และจัดให้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] ซึ่งคณะกรรมการ MSME มีมติเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 รับทราบรายงานฯ แล้ว โดยเป็นการสรุปสถานการณ์ MSME ในไตรมาส 4 ปี 2565 และสถานการณ์ MSME เดือนมกราคม 2566 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. สถานการณ์ MSME ปี 2565 ณ สิ้นสุดไตรมาส 4

                    1.1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ของ MSME ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 มีมูลค่า 1,604,487 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.4 ของ GDP รวมทั้งประเทศ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 ส่งผลให้ GDP MSME ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจาก ปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวซึ่งส่งผลต่อธุรกิจ MSME ในภาคการค้าและภาคการบริการที่สามารถกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งนี้ มีปัจจัยที่ส่งผลทางลบ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ภาวะเงินเฟ้อและการลดลงของมูลค่าการส่งออกของ MSME

                    1.2 การค้าระหว่างประเทศของ MSME

                              1.2.1 ด้านการส่งออก มีมูลค่า 30,508.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,060,207.9 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของมูลค่าการส่งออกรวม ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.0 โดยมูลค่าการส่งออกลดลงทุกตลาดหลัก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก มีเพียงสินค้ากลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป และ อัญมณีและเครื่องประดับที่มีมูลค่าการส่งออกตลอดทั้งปีขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่มีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่สินค้ากลุ่มสินค้าเกษตรและเครื่องจักรมีการปรับตัวลดลง

                              1.2.2 ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 34,857.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,227,666.9 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 11.5 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าสำคัญ 10 อันดับแรก* ของ MSME พบว่า มีมูลค่าลดลงในสินค้ากลุ่มวัตถุดิบ เช่น เม็ดพลาสติก เหล็ก เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้า และเมื่อพิจารณาตามแหล่งนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า มูลค่าการนำเข้าจากอาเซียนและญี่ปุ่นยังลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าจากจีนขยายตัวเพียงเล็กน้อย เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าบางกลุ่มยังคงมีราคาสูง

                    1.3 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME เดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 55.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.8 โดยเป็นค่าดัชนีที่สูงที่สุดในรอบ 21 เดือน เนื่องจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศและการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งการจ้างงานที่ยังคงขยายตัวและการจ่ายเงินโบนัสประจำปีที่ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ MSME จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

                    1.4 สถานการณ์ด้านการจ้างงานของ MSME มีการจ้างงานของ MSME รวม 12.74 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 70.99 ของจำนวนการจ้างงานทั้งหมด ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.08 ส่วนการจ้างงานของ MSME ในระบบประกันสังคม มีสถานประกอบการในระบบประกันสังคม จำนวน 415,006 แห่ง และมีการจ้างงานรวม 4,074,240 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          2. สถานการณ์ MSME เดือนมกราคม 2566 

                    2.1 การค้าระหว่างประเทศของ MSME

                    2.1.1 ด้านการส่งออก มีมูลค่า 2,395.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (82,830.6 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 11.8 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.1 โดยมีการขยายตัวทั้งในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ส่วนตลาดอาเซียนมีมูลค่าการส่งออกลดลงแต่เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ และกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกของ MSME ในปี 2566 จะขยายตัวระหว่างร้อยละ 3-5 เนื่องจากค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า

                              2.1.2 ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 3,196.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (111,868.5 ล้านบาท) คิดเป็น ร้อยละ 12.8 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ขยายตัวร้อยละ 13.6 โดยการนำเข้าจากอาเซียนและญี่ปุ่นมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าจากจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุปกรณ์และไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์

                    2.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 53.9 โดยปรับตัวลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบและลดลงในทุกภูมิภาคเนื่องจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะในกลุ่มสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากต้นทุนกลุ่มอาหารสดและ กลุ่มพลังงานที่ปรับสูงขึ้น

                    2.3 สถานการณ์ด้านการจ้างงานของ MSME มีสถานประกอบการที่เป็น MSME ในระบบประกันสังคม จำนวน 411,670 แห่ง และมีจำนวนการจ้างงานรวม 4,542,330 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.49 จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวได้ต่อเนื่องจนกลับสู่สถานการณ์ในช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง

___________________________ 

*มูลค่าการนำเข้าสินค้าสำคัญของ MSME 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (2) อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (3) อัญมณีและเครื่องประดับ (4) พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก (5) ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า (6) อุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ (7) เหล็กหรือเหล็กกล้า (8) เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด (9) ยานยนต์และส่วนประกอบ และ (10) ปลาและสัตว์น้ำ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 กรกฎาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A7621

Click Donate Support Web  

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100MTL 720x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100px

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!