รายงานสรุปผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 19 July 2023 01:36
- Hits: 1445
รายงานสรุปผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้
1. รับทราบสรุปผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเสนอ
2. ให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไปให้เกิดความเหมาะสม ก่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงานต่อไป
สาระสำคัญ
1. สรุปผลการดำเนินการที่สำคัญ
คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 – มีนาคม 2566 ได้มีการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ อันจะเป็นส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนทั้งสิ้น 10 ครั้ง โดยเน้นการดำเนินการใน 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างหนี้/ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องคดีจำนวนมากและการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง และ (2) การกำหนดมาตรการ Quick Win ที่ไม่สร้างภาระด้านงบประมาณแต่ช่วยลดภาระการจ่ายหนี้ของประชาชนได้ โดยมีสรุปความคืบหน้าผลการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
1.1 การช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงกลไกการแก้ไขหนี้สินได้ง่ายและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ดังนี้
(1) ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.6 ล้ายรายและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านราย ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(2) ลูกหนี้บุคคลธรรมดาเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยหนี้สิน 3.95 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 2.98 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นจำนวนลูกหนี้ของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ทั้งสิ้น 1.58 ล้านบัญชี และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Special Financial Institutes : SFIs) 2.36 ล้านบัญชี
(3) ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ผ่านโครงการช่วยเหลือของรัฐ เช่น โครงการทางด่วน แก้หนี้โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (279,685) บัญชี และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (466 ราย)
(4) การแก้ไขหนี้สินข้าราชการในกลุ่มข้าราชการครูและตำรวจให้สามารถเข้าถึงกลไกการปรับโครงสร้างหนี้โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นกลไกหลัก
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนในแต่ละภูมิภาค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดมหกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างทั่วถึง โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่
ชื่อกิจกรรม |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
ผู้ได้รับประโยชน์ |
มูลค่า |
|||
1. มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน - จัด 78 ครั้งทั่วประเทศ - ไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ./บัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคล/สินเชื่อรถยนต์ - ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาหนี้สิน |
- กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) - กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) |
94,328 คน |
23,529.40 ล้านบาท |
|||
2. มหกรรมแก้ไขหนี้สินครู - จัด 6 ครั้ง - ไกล่เกลี่ยหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา |
- กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) - ยธ. - ธปท. - ก.ล.ต. - สหกรณ์ออมทรัพย์ |
2,093 คน |
1,614.69 ล้านบาท |
|||
3. มหกรรมรวมใจแก้หนี้ - จัดสัญจร 5 ครั้ง เปิดลงทะเบียนแก้ไขหนี้สินในระบบออนไลน์ - ไกล่เกลี่ยหนี้สินบัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนำทะเบียน ที่อยู่อาศัย |
- ธปท. - กระทรวงการคลัง (กค.) |
- ออนไลน์ : ลงทะเบียน 188,000 คน - สัญจร : บริการแก้ไขปัญหา 34,000 รายการ |
24,000 ล้านบาท (เฉพาะกิจกรรมสัญจรใน 5 จังหวัด) |
1.2 การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่สำคัญ เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยหนี้สิน และกำกับให้ธุรกิจสินเชื่อให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ได้ขับเคลื่อนกฎหมาย กฎ และระเบียบที่สำคัญ 13 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) การกำกับธุรกิจดูแลที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ (5 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 38) (2) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินและลดภาระที่จะเกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรม (5 ฉบับ คิดเป็น ร้อยละ 38) และ (3) การบรรเทาปัญหาสำหรับประชาชนในภาวะวิกฤต (3 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 23)
มีรายชื่อกฎหมายสำคัญที่ขับเคลื่อน ดังนี้
(1) การกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ : เน้นการกำกับดูแลสินเชื่อที่ยังไม่มีการกำกับดูแล โดยให้ความสำคัญกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ การให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการทวงถามหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น ได้แก่
(1.1) ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566
(1.2) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565
(1.3) ร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและกำกับดูแลทางการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน พ.ศ. ....
(1.4) ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564
(1.5) หนังสือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธปท.ฝคง.ว. 951/2564 เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2564
(2) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินและลดภาระที่จะเกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรม : เน้นการปรับปรุงกติกา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดภาระที่จะเกิดขึ้นต่อ/จากการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ได้แก่
(2.1) พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566
(2.2) ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564
(2.3) ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. .... โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565
(2.4) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี
(2.5) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สกส2. 14/2564 เรื่อง แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างยั่งยืน ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2564
(3) การบรรเทาปัญหาสำหรับประชาชนในภาวะวิกฤต : เน้นการบรรเทาปัญหาของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่
(3.1) ร่างพระราชกำหนดการบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....
(3.2) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ลงวันที่ 11 มกราคม 2565 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2569
(3.3) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้กำกับ) (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 9 กันยายน 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564
1.3 การเพิ่มเติมแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรมให้กับประชาชน คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ได้เร่งจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยที่เหมาะสม เพื่อเสริมสภาพคล่องและลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ โดยมีผลการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่
(1) เพิ่มเติมช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อผ่าน บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด โดยธนาคารออมสิน ร่วมกับบริษัท ทิพย เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด และบริษัทมหาชน บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สิน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน รวมทั้งเป็นช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยให้สามารถนำที่ดินที่เป็นหลักประกันการกู้เงินในแบบจำนองหรือขายฝากเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย
(2) ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อและ ครบกำหนดเวลาการชำระคืนเพื่อให้ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมรายย่อย (บสย.) จะดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการในวงเงิน 90,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 8 ปี
(3) ลดดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (PICO Finance) โดยกระทรวงการคลังได้ลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับหนี้สินที่มีหลักประกัน ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน ร้อยละ 33
2. แนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไป
การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นปัญหาที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวมีความยั่งยืน จำเป็นต้องมีการกำหนดหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญรับผิดชอบอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน ดังนั้น คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ เห็นควรว่าการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไปควรดำเนินการ ดังนี้
ประเด็น |
มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ |
|
1. การช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เน้นการเปลี่ยนผ่านภายหลังพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ |
||
1.1 จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของลกูกหนี้แต่ละกลุ่ม 1.2 สื่อสาร สร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นสำคัญจากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 1.3 กำหนดมาตรการจูงใจ (Incentives) สำหรับลูกหนี้ กยศ. ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี เพื่อให้ยังคงชำระหนี้ตามกำหนดเวลา |
- กยศ. |
|
2. การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ เน้นการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ในวงกว้าง |
||
2.1 เร่งสื่อสารช่องทางการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาศัยกลไกภายใต้ ยธ. |
- ยธ. |
|
2.2 ใช้กลไกในระดับพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ วิธีการ และประโยชน์ รวมทั้งช่องทางที่ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือได้ |
- ธปท. - สศค. - กระทรวงมหาดไทย (มท.) |
|
2.3 ส่งเสริมการใช้กลไกในระดับพื้นที่ อาทิ ศูนย์ดำรงธรรมและอำเภอเป็นจุดให้คำแนะนำและประสานส่งต่อลูกหนี้ที่ประสบปัญหาหนี้สินให้เข้าถึงกลไกการปรับโครงสร้างหนี้ |
- มท. |
|
3. การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เน้นการสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นกลไกช่วยเหลือการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ |
||
3.1 กำหนดแนวทางเพื่อกำกับดูแลให้สหกรณ์มีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบ ดังนี้ 1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขยายผลการนำแนวทางสหกรณ์ต้นแบบไปใช้กับสหกรณ์อื่นๆ กำหนดอัตราจัดสรรเงินปันผลของสหกรณ์ให้เหมาะสมกับบริบท และการนำข้อมูลสมาชิกของสหกรณ์เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด 2) กำหนดแนวทางและมาตรการในการกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียนผ่านกลไกการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากำกับการดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์ตามมาตรา 89/4 ของพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม |
- กรมส่งเสริมสหกรณ์ |
|
3.2 ปรับปรุงแนวทางการคำนวณดอกเบี้ยช่วงพักชำระหนี้ที่เป็นธรรมและไม่สร้างภาระแก่ประชาชนผู้ประสบปัญหาเกินสมควร |
- ธปท. |
|
4. การเช่าซื้อรถยนต์ เน้นการขยายขอบเขตความคุ้มครองผู้เช่าซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการเพิ่มทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมโดยมีหลักประกันที่ชัดเจน |
||
4.1 วางแนวทางการปรับกระบวนการทำงานเพื่อรองรับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้ |
- ธปท. - กค. - สคบ. |
|
4.2 ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่ใช้รถยนต์เพื่อการประกอบธุรกิจ |
- สคบ. - กค. - กรมคุ้มครองสิทธิฯ |
|
4.3 ศึกษาความเป็นไปได้ถึงแนวทางการออกแบบวิธีการผ่อนรถยนต์ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดเช่าซื้อรถยนต์ |
- ธปท. - สศค. - ยธ. |
|
4.4 เร่งขับเคลื่อนการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 และพิจารณาทรัพย์สินอื่นๆ สำหรับหลักประกันทางธุรกิจในระยะต่อไป |
- สำนักงาน ก.พ.ร. - ธปท. - สศค. - กระทรวงคมนาคม - กรมพัฒนาธุรกิจการค้า |
|
5. การแก้ไขหนี้สินข้าราชการ เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ การสร้างระบบสินเชื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ข้าราชการ และขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมข้าราชการในวงกว้าง |
||
5.1 ควรปรับปรุงเกณฑ์การให้สินเชื่อที่เคารพสิทธิและกำหนดให้ข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 |
- ธปท. - กรมส่งเสริมสหกรณ์ |
|
5.2 กำหนดแนวทางปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือนให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น |
- ธปท. - กค. - กรมส่งเสริมสหกรณ์ |
|
5.3 กำกับดูแลธนาคารกรุงไทยให้ปรับปรุงแนวทางในการจัดเก็บหนี้สินโดยควรถูกนำมาคำนวณกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ ในยอดร้อยละ 70 ของรายได้สุทธิ |
- กค. |
|
5.4 ทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินข้ามจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ในการหาสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมที่สุด รวมทั้งลดเงื่อนไขที่ไม่จำเป็นในการเข้าถึงสินเชื่อ |
- กรมส่งเสริมสหกรณ์ |
|
5.5 เร่งเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้สหกรณ์และสถาบันการเงินเกี่ยวกับการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible and Fair Lending) สอดคล้องกับสินเชื่อที่เหมาะสมกับศักยภาพเงินเดือนของข้าราชการ |
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
|
5.6 เร่งนำแนวทางการใช้กลไกสหกรณ์ต้นแบบเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมสหกรณ์อื่นๆ ทั่วทั้งประเทศและจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการ ครูที่ถูกฟ้องดำเนินคดี |
- ศธ. |
|
5.7 เร่งกำกับให้สำนักงานเขตการศึกษา ซึ่งยังไม่ได้ปฏิบัติตามตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนและบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ข้าราชการครูมีรายได้คงเหลือสุทธิเพียงพอต่อการดำรงชีพ |
- ศธ. |
|
5.8 กำหนดให้ทักษะทางการเงินเป็นทักษะพื้นฐานที่ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องได้รับการพัฒนา |
- สำนักงาน ก.พ. |
|
6. การช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม เน้นการขยายขอบเขตและมาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย |
||
6.1 พิจารณารูปแบบการจัดทำข้อมูลเครดิต (Credit Scoring) หรือข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ที่สะท้อนพฤติกรรมทางการเงิน |
- ธปท. - สศค. |
|
6.2 จัดทำแผนให้มีแหล่งทุนเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้เสีย (Non-performing Loan : NPL) ที่ยังมีศักยภาพที่จะดำเนินธุรกิจได้ |
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย |
|
7. การแก้ไขข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และลดภาระและต้นทุนในการดำเนินคดีที่จะเกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรม |
||
7.1 เร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินโดยเร็ว |
- สำนักงานศาลยุติธรรม |
|
7.2 พิจารณาวางแนวทางการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ในกรณีเรื่องความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน |
- ยธ. - สคบ. |
|
7.3 ควรพิจารณาการกำหนดค่าธรรมเนียมการฟ้องคดีในชั้นศาลและชั้นบังคับคดี ที่จะจูงใจให้เกิดการไกล่เกลี่ยแทนการดำเนินคดี |
- สำนักงานศาลยุติธรรม - กรมบังคับคดี |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7620