ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 July 2023 02:13
- Hits: 2368
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. .... ของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นอำนาจของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติในการออกระเบียบดังกล่าวตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 แต่โดยที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติได้เสนอขอปรับปรุงแก้ไขเป็นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีในการออกระเบียบดังกล่าวตามความในมาตรา 31 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชน เกี่ยวกับการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยได้มีการเพิ่มเติมบทนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” แก้ไขคำปรารภ แก้ไขบทอาศัยอำนาจ เพิ่มเรื่องการแก้ไขสัญญาให้เป็นสาระสำคัญที่อย่างน้อยสัญญาร่วมลงทุนต้องกำหนดไว้ รวมถึงขั้นตอนและรายละเอียดการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและกำหนดให้ร่างสัญญาร่วมลงทุนจะต้องผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด หรือเป็นร่างสัญญาที่เคยผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้งแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย เพื่อให้เป็นไปตามแบบการร่างกฎหมาย โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติได้ยืนยันให้ความเห็นชอบร่างระเบียบดังกล่าวแล้ว ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยแล้ว
ร่างระเบียบในเรื่องนี้กระทรวงการคลัง เห็นว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ประกาศใช้บังคับแล้ว ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปของคณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น หากการเสนอร่างระเบียบในเรื่องนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของบทบัญญัติดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการได้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ร่างระเบียบในเรื่องนี้เป็นการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ และมิได้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาเห็นชอบร่างระเบียบดังกล่าวได้ และสำนักงบประมาณ เห็นว่า การเสนอร่างระเบียบในเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และขั้นตอนเพื่อให้ร่างอนุบัญญัติดังกล่าวประกาศใช้บังคับต่อไป ตามข้อ 2.2.2.7 (2.2) ของแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเห็นชอบร่างระเบียบดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. กำหนดให้ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่ (1) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (2) หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมตามที่สภานโยบายฯ กำหนด และ (3) หน่วยงานอื่นของรัฐตามที่สภานโยบายฯ กำหนด
2. กำหนดให้การร่วมลงทุนซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือเชิงสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และเพื่อสร้างให้เกิดธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่ และต้องคำนึงถึงความสำเร็จ ความคุ้มค่า และมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการ รวมถึงกระบวนการตัดสินใจ
3. กำหนดรูปแบบการร่วมลงทุนในโครงการการร่วมลงทุน ดังนี้
(1) ร่วมลงทุนกับเอกชนจัดตั้งบริษัทร่วมทุน
(2) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน
(3) รูปแบบอื่นนอกจาก (1) และ (2) ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานเจ้าของโครงการ
4. กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการอาจจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนให้ดำเนินการร่วมลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้
5. กำหนดวิธีการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน ดังนี้
(1) คัดเลือกจากเอกชนอย่างน้อยสามรายที่เข้ายื่นข้อเสนอร่วมลงทุนโดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกคือ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติ ประสบการณ์ ความพร้อม และความสามารถในการเข้าร่วมลงทุนเหมาะสมตามเกณฑ์ที่หน่วยงานเจ้าของโครงการตั้งไว้
(2) ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเชิญชวนเฉพาะเอกชนซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานเจ้าของโครงการกำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ
6. ในการพิจารณาอนุมัติโครงการร่วมลงทุนให้ผู้มีอำนาจอนุมัติพิจารณาความสอดคล้องของนโยบายการร่วมลงทุน ข้อเสนอและเงื่อนไขการร่วมลงทุน และความเป็นไปได้ทางธุรกิจ แผนธุรกิจ และแผนการจัดการความเสี่ยง รวมถึงความพร้อมของผู้ร่วมทุนและประสบการณ์ของผู้บริหาร และให้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการทำหน้าที่ให้ความเห็นในการพิจารณาร่วมลงทุนและให้ความเห็นในการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุนตามข้อ 11 (3) ประกอบด้วย
7. กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดให้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน โดยร่างสัญญาร่วมลงทุนจะต้องผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดหรือเป็นร่างสัญญาที่เคยผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด และอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ อาทิ วัตถุประสงค์ สัดส่วนการร่วมลงทุน สิทธิ หน้าที่ และข้อตกลง การถอนทุน การแก้ไขและการเลิกสัญญา โดยสัญญาดังกล่าวต้องมีความสอดคล้องกับนโยบายร่วมลงทุนของหน่วยงานเจ้าของโครงการ คำนึงถึงความเป็นธรรมของคู่สัญญา ผลที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
8. กำหนดให้การแก้สัญญาร่วมลงทุน หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเสนอเหตุผลและความจำเป็น ประเด็นที่ต้องแก้ไข ผลกระทบ และรายละเอียดอื่นๆ ต่อคณะกรรมการทำหน้าที่ให้ความเห็นในการพิจารณาร่วมลงทุนและให้ความเห็นในการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุนพิจารณาให้ความเห็น ก่อนดำเนินการจัดให้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7380