ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 July 2023 02:03
- Hits: 2190
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้จัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 7 แห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น1 เป็นระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติก่อนที่มีการประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้) และเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซี่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายก่อนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 มีผลบังคับใช้ (คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไป) โดยบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินภายในเขตอุทยานแห่งชาติตามโครงการดังกล่าวต้องมีสัญชาติไทย และการเข้าร่วมโครงการจะไม่ส่งผลให้บุคคลดังกล่าวมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ บุคคลดังกล่าวยังมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในเขตพื้นที่โครงการ รวมทั้งต้องครอบครองและใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง โดยไม่สามารถขยายเขตที่ดิน ขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืม หรือโอนการครอบครองให้บุคคลอื่นได้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกา ในเรื่องนี้และมีความเห็นบางประการ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการดำเนินการตามร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ได้ใช้งบประมาณตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการจัดสรรไว้แล้ว จึงไม่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป อันเป็นข้อห้ามตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงบประมาณเห็นว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้เป็นการกำหนดรายละเอียดการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ จึงย่อมดำเนินการได้ตามปกติ ตามแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 และหากการดำเนินโครงการภายหลังร่างพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้เป็นการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เห็นว่าไม่ถือเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามนัยมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ชี้แจงแล้วว่า การดำเนินการตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ใช้งบประมาณตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการจัดสรรไว้แล้ว จึงไม่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 ตลอดจนได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย)
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกานี้ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่
1.1 อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
1.2 อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี
1.3 อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี
1.4 อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์
1.5 อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์
1.6 อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์
1.7 อุทยานแห่งชาติลานสาง จังหวัดตาก
โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจัดทำรายชื่อบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติตามโครงการดังกล่าว พร้อมด้วยจำนวนที่ดินและแผนผังแปลงที่ดินไว้เป็นหลักฐาน และให้โครงการมีกำหนดระยะเวลา 20 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ
2. กำหนดให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการฯ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
2.1 เป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้) หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
2.2 มีสัญชาติไทย หรือได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่
2.3 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่โครงการฯ หรือได้ครอบครองที่ดินรวมทั้งทำประโยชน์มาโดยต่อเนื่อง และไม่มีที่ดินทำกินอื่น
2.4 ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ออกจากที่ดินที่ครอบครองนั้นมาก่อน
2.5 ไม่เคยถูกดำเนินคดีและคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาในความผิดเกี่ยวกับการยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาตินับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ
2.6 ไม่เคยถูกพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการอยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ
3. กำหนดให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้โครงการฯ มีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในเขตพื้นที่โครงการฯ
4. กำหนดให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้โครงการฯ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน อาทิ
4.1 ครอบครองและใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง และจะให้บุคคลอื่นที่มิใช่บุคคลในครอบครัวเข้าครอบครองหรือทำประโยชน์แทนมิได้ โดยมิได้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นตามจำนวนที่ได้ทำการสำรวจ แต่ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ และในกรณีที่อยู่กันเป็นครัวเรือนตั้งแต่สามครอบครัวขึ้นไป ไม่เกินครัวเรือนละ 50 ไร่
4.2 ต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร
4.3 ห้ามซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืม หรือโอน การครอบครองให้บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการสืบสิทธิตามพระราชกฤษฎีกานี้
4.4 ห้ามบุกรุก แผ้วถาง หรือขยายพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งห้ามเคลื่อนย้ายหรือทำลายหลักเขต ป้ายแนวเขต หรือเครื่องหมายแสดงแนวเขตโครงการฯ
5. กำหนดให้การอยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้โครงการฯ สิ้นสุดลงด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
5.1 ครบกำหนดเวลาของโครงการตามพระราชกฤษฎีกานี้ (ระยะเวลา 20 ปี ตามข้อ 1)
5.2 บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินไม่ประสงค์จะอยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาตินั้นต่อไป
5.3 ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร
5.4 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4.2
5.5 บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกิน หรือบริวารของบุคคลนั้น ไม่ปฏิบัติตามข้อ 3. หรือข้อ 4.
5.6 ถึงแก่ความตายโดยไม่มีผู้สืบสิทธิ
5.7 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติกฎหมายว่าด้วยสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ทั้งปวง
6. กำหนดให้ผู้สืบสิทธิของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ภายใต้โครงการฯ ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
6.1 ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 2.
6.2 ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือหัวหน้าครัวเรือน
6.3 เป็นผู้ที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติภายใต้โครงการฯ หรือเป็นบุตรซึ่งเกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่โครงการตลอดมาและได้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวข้างต้นด้วย
6.4 เป็นบุคคลที่อยู่อาศัยในครัวเรือนเดียวกันที่หัวหน้าครอบครัวหรือหัวหน้าครัวเรือนได้แจ้งต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติว่าเป็นผู้สืบสิทธิโดยเรียงลำดับรายชื่อ และในกรณีที่มิได้แจ้งรายชื่อผู้สืบสิทธิไว้หรือได้แจ้งไว้แต่บุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติพิจารณาผู้ที่จะสืบสิทธิต่อไปได้
6.5 ต้องถือครองที่ทำกินรวมแล้วไม่เกินสิทธิที่พึงมีของตนตามข้อ 4.1
7. กำหนดให้ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการจัดทำโครงการพร้อมแผนที่แสดงแนวเขตโครงการให้แล้วเสร็จในคราวเดียว ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจัดทำโครงการโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติม และให้โครงการตามพระราชกฤษฎีกามีกำหนดระยะเวลาตามพระราชกฤษฎีกานี้
__________________
1 ปัจจุบันมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จำนวน 133 แห่ง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 126 แห่ง (การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้มีการกำหนดโครงการเพียง 7 แห่ง จากทั้งหมด 126 แห่ง โดยส่วนที่เหลือ อยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7377