รายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 July 2023 01:59
- Hits: 2080
รายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอรายงานผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (23 มกราคม 2561) ที่ให้ สปน. รายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบทุกเดือน] โดยมีส่วนราชการรายงานผลการดำเนินการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รายงานผลการลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566) โดยมีประชาชนที่ลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทานแล้ว 7,025,671 คน จำแนกเป็น กรุงเทพมหานคร 463,050 คน และส่วนภูมิภาค 6,562,621 คน โดยแบ่งออกเป็น เพศชาย 3,155,624 คน เพศหญิง 3,870,047 คน
2. การจัดกิจกรรมจิตอาสาของส่วนราชการต่างๆ 16 หน่วยงาน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสิ้น 1,028,147 คน ประกอบด้วย จิตอาสาพัฒนา จิตอาสาภัยพิบัติ จิตอาสาเฉพาะกิจ และวิทยากรจิตอาสา 904 สรุปได้ ดังนี้
การดำเนินการ/กิจกรรม |
ส่วนราชการ |
จำนวน (ครั้ง) |
||
(1) จิตอาสาพัฒนา ได้แก่ 1) การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์และทำความสะอาดศาสนสถาน โรงเรียน ชุมชน สถานที่สาธารณะ 2) การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน 3) การบริจาคโลหิตและหน่วยบริการทางการแพทย์เคลื่อนที่ 4) มอบทุนการศึกษาสิ่งของให้แก่ผู้ยากไร้ และผู้ป่วยติดเตียง 5) การปลูกต้นไม้และพัฒนาแหล่งน้ำ (ขุดลอกคลอง การฉีดจุลินทรีย์ ลดปัญหาน้ำเน่าเสีย และกำจัดวัชพืช) และ 6) จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาในด้านต่างๆ และบริการคำแนะนำ ให้แก่ประชาชน เช่น การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และวิชาชีพ ความรู้ด้านการออม และความรู้ด้านเกษตร |
กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) |
17,299 |
||
(2) จิตอาสาภัยพิบัติ ได้แก่ 1) การช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบอุทกภัย วาตภัย และภัยหนาว (มอบถุงยังชีพ บริจาคสิ่งของ เครื่องกันหนาว และทำความสะอาดพื้นที่) และการทำแนวป้องกันไฟป่า และทำฝายกั้นน้ำ เพื่อป้องกันอุทกภัย และ 2) การอบรมการป้องกัน ระงับอัคคีภัย และภัยพิบัติต่างๆ |
กห. ทส. มท. วธ. ศธ. สธ. กปส. และ ตช. |
581 |
||
(3) จิตอาสาเฉพาะกิจ ได้แก่ 1) การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ 2) การจัดเตรียมสถานที่และร่วมพิธีเนื่องในวันสำคัญ และ 3) การบริจาคโลหิต ถวายเป็นพระราชกุศล |
กห. พม. ทส. ดศ. มท. ยธ. ศธ. สธ. กปส. และ ตช. |
336 |
||
(4) วิทยากรจิตอาสา 904 ของหน่วยงานภาครัฐ ได้บรรยายความรู้เกี่ยวกับ 1) บทบาท หน้าที่ และกิจกรรมจิตอาสา 2) สถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย และ 3) จิตอาสากับการเปลี่ยนแปลงประเทศ |
กห. พม. ทส. ยธ. วธ. ศธ. สธ. และ ตช. |
49 |
||
รวม |
18,265 |
3. สปน. ได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการในภารกิจของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ. จอส. พระราชทาน) โดยการลงพื้นที่ และรวบรวมรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
3.1 โครงการในภารกิจของ ศอญ. จอส. พระราชทาน ซึ่ง สปน. ได้รายงานผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ได้แก่ โครงการที่ได้รับเงินพระราชทานบริจาค ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้ เพื่อสร้างศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรักสำหรับ ผู้ประสบภัยในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล จำนวน 12 แห่ง ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส (1 แห่ง) สงขลา (1 แห่ง) ประจวบคีรีขันธ์ (1 แห่ง) ปัตตานี (1 แห่ง) สุราษฎร์ธานี (2 แห่ง) และชุมพร (2 แห่ง)
3.2 เข้าร่วมการประชุมติดตามงานประจำสัปดาห์ร่วมกับ ศอญ. จอส. พระราชทาน พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 11 ครั้ง ประกอบด้วย (1) รับทราบสถานการณ์ในภาพรวม เช่น สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และการเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ และ (2) รายงานผลการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฤดูแล้งในเขตเมือง การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ จังหวัดอุบลราชธานี และมหาสารคาม ที่ประสบปัญหาเรื่องบุคลากรปฏิบัติงานการขาดแคลนน้ำ และการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการที่สำคัญ
3.3 ลงพื้นที่ติดตามความต่อเนื่องของโครงการจิตอาสาพระราชทาน จำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำพูน โดยสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้ปีละ 306,600 ลูกบาศก์เมตร มีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านก้อทุ่ง บ้านก้อหนอง บ้านก้อจอก และบ้านก้อท่า รวม 954 ครัวเรือน หรือ 2,425 คน มีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึงและเพียงพอ (2) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร ได้มีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาบึงสีไฟ และพิจารณาแนวทางการจัดทําแก้มลิงรับน้ำ รวมทั้งพัฒนาอุทยานบัวบึงสีไฟและพื้นที่อื่นๆ (3) โครงการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้ ดอกไม้สี โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณอย่างประหยัดและคุ้มค่า รวมทั้งขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (4) การติดตามการพัฒนาคลองเปรมประชากรและโครงการบ้านมั่นคง จังหวัดปทุมธานี เช่น สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนผู้รุกล้ำลำน้ำสาธารณะครบทุกชุมชน และมีครัวเรือนผ่านการรับรองสิทธิโครงการฯ รวม 35 ชุมชน รวมทั้งก่อสร้างบ้าน แล้วเสร็จ 865 ครัวเรือน (5) การพัฒนาคลองโอ่งอ่าง ณ ท่าเรือสะพานโอสถานนท์ได้มีข้อแนะนำ เช่น ควรพิจารณาปรับระดับความสูงของสะพานข้ามคลองให้เหมาะสม และควรดูแลทำความสะอาดคลองอย่างต่อเนื่อง (6) โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ มีการดำเนินการ เช่น จัดทำแนวกันไฟ และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาป่า (7) โครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเตรียมความพร้อมการจัดสรรน้ำต้นทุน เพื่อแก้ปัญหาระบบนิเวศในคลอง และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการบุกรุกคลองแม่ข่า รวมทั้งยังขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาคลองแม่ข่าในด้านอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และ (8) โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโรคโควิด-19 จังหวัดมหาสารคาม ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้ศึกษารูปแบบในการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทางของโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้ประชาชนมีความรู้มากขึ้นมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น รวมทั้งการลงพื้นที่ให้กำลังใจจิตอาสาภาครัฐและจิตอาสาภาคประชาชน ที่ให้บริการประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ณ จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ และขอนแก่น
3.4 จัดกิจกรรมและสนับสนุนการดำาเนินงานจิตอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมเพื่อความสุขของประชาชน ได้แก่ การบรรยายให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการ ช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน มอบถังขยะเปียกลดโลกร้อนให้แก่ชุมชน ศูนย์อาชีวะช่วยประชาชน (Fit it Center) การผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนโดยสติ๊กเกอร์สะท้อนแสง มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม จํานวน 500 คน
3.5 จัดสัมมนาสร้างเครือข่ายจิตอาสาพระราชทาน “การขับเคลื่อนงานจิตอาสา ภาคประชาชนมุ่งผลสัมฤทธิ์ (ครั้งที่ 2)” เมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม 2566 ณ สโมสรตำรวจ มีจิตอาสาภาครัฐ จิตอาสาภาคประชาชน องค์การมหาชน และสื่อสารมวลชน เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 451 คน โดยได้ระดมความคิดเห็นใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การสร้างเครือข่ายจิตอาสาภาคประชาชนให้มีความเข้มแข้ง ยั่งยืน (2) ปัญหาที่ทำให้สังคมเมืองไม่น่าอยู่และกระบวนการแก้ปัญหาในสังคมเมือง (3) การสร้างค่านิยมที่เหมาะสมต่อการเป็นจิตอาสาและ (4) ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานจิตอาสา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7376