แนวทางการจัดทำและการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม และข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 July 2023 01:28
- Hits: 1598
แนวทางการจัดทำและการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม และข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการจัดทำและการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม และข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ (มาตรฐานทางจริยธรรมฯ) ที่ได้แจ้งเวียนให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคล องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม1 และหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามมติคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ในการประชุม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า
1. โดยที่พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 20 บัญญัติให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลแต่ละประเภทและองค์กรตามมาตรา 6 วรรคสอง2 มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกระบวนการรักษาจริยธรรมและการประเมินผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจจัดหลักสูตรการฝึกอบรม การเผยแพร่ความเข้าใจ ตลอดจนการกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นแบบอย่างที่ดี และมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม โดยอาจกำหนดมาตรการเพื่อใช้ในการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้น
2. ก.ม.จ. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบกับหลักการของการจัดทำ (ร่าง) แนวทางการจัดทำและการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ และให้สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ก.ม.จ. แจ้งให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคล องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม และหน่วยงานของรัฐนำไปใช้ในการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม และให้รายงานคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมกำหนดกระบวนการพิจารณาและดำเนินการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีมีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ3 ที่มีหลักฐานเพียงพอจะพิจารณาต่อไปได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ
2.2 กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ โดยมอบหมายให้มีส่วนงานที่มีหน้าที่และภารกิจด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล หรือที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหรือคณะกรรมการและกลุ่มงานจริยธรรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบ หรือผู้ที่อาจได้รับมอบหมายเพื่อพิจารณาและดำเนินการเรื่องร้องเรียน และรายงานต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง เว้นแต่เป็นกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น และให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นพิจารณาและมีข้อสั่งการเรื่องร้องเรียนนั้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน โดยต้องแจ้งผลหรือตอบกลับให้ผู้ร้องทราบโดยเร็ว
2.3 การดำเนินการกรณีมีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ที่เป็นการกระทำผิดวินัยหรือกระทำผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น4 ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมพิจารณาดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินการทางวินัยหรือการดำเนินการตามกฎหมายแพ่ง อาญา หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยได้
2.4 ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หรือผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น แล้วแต่กรณี สั่งลงโทษทางจริยธรรม โดยว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งให้ดำเนินการตามกระบวนการบริหารงานบุคคลของหน่วยงาน รวมถึงให้มีการบันทึกพฤติกรรมการฝ่าฝืนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐและพฤติกรรมที่ได้รับการยกย่อง ชมเชย ไว้ในประวัติบุคคล5 และนำไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคลในขั้นตอนต่างๆ เช่น การแต่งตั้ง ย้าย โอน และเลื่อนตำแหน่ง
2.5 ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ต่อองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมที่กำกับดูแล และให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมรายงานการดำเนินการในภาพรวมต่อ ก.ม.จ. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ม.จ. กำหนด รวมถึงให้เปิดเผยรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อสาธารณะ
2.6 ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมกำหนดมาตรการการคุ้มครองผู้ร้องและการกันเป็นพยานมิให้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกข่มขู่จากผู้ถูกร้องเรียนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตามสมควรแก่กรณี และในกรณีที่ไม่อาจให้ความคุ้มครอง หรือไม่มีมาตรการอันเหมาะสม อาจประสานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองเพื่อพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งให้กำหนดแนวทางหรือมาตรการเกี่ยวกับการพิจารณาให้รางวัลหรือบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษแก่ผู้ร้องอันเป็นประโยชน์และเป็นผลดียิ่งต่อราชการ
2.7 กรณีหัวหน้าหน่วยงานของรัฐถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ไม่เหมาะสม หรือกระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ โดยหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวไม่อาจใช้อำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้ง โยกย้ายเลื่อนเงินเดือน และแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือดำเนินการใดที่จะเป็นผลร้ายหรือกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแส หรือให้ถ้อยคำในฐานะพยาน
2.8 ห้ามมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลอื่นใดที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจหรือกฎหมายหรือตามมติ ก.ม.จ.
2.9 กรณีที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมแจ้งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หรือผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นแล้วแต่กรณี พิจารณาและดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป
3. สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า หากมีการกำหนดกระบวนการพิจารณากรณีมีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ แล้ว ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมกำหนดกระบวนการพิจารณากรณีมีการฝ่าฝืนฯ เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำและการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ตามที่ ก.ม.จ. กำหนด ทั้งนี้ หากไม่ได้กำหนดกระบวนการพิจารณากรณีมีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ในกำกับขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมกำหนดกระบวนการพิจารณากรณีมีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ
4. สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ก.ม.จ. ได้มีหนังสือแจ้งเวียนองค์กรกลางบริหารงานบุคคล องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมและหน่วยงานของรัฐแล้ว [หนังสือ ก.ม.จ. ที่ นร (กมจ) 1019/ว 7 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2566 เรื่อง แนวทางการจัดทำและการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ] เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ให้มีความสอดคล้องกับประมวลจริยธรรมและกระบวนการรักษาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท
_______________
1 องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม หมายความว่า องค์กรกลางบริหารงานบุคคล คณะรัฐมนตรี สภากลาโหม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) และองค์กรที่ ก.ม.จ. วินิจฉัยว่าเป็นผู้จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2 องค์กรตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ได้แก่ (1) คณะรัฐมนตรีจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการการเมือง (2) สภากลาโหมจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนกลาโหม (3) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และ (4) กพม. จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานขององค์การมหาชน
3 อย่างน้อยต้องหมายความรวมถึงการไม่ปฏิบัติตนตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติให้มาตรฐานทางจริยธรรม คือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่
4 กฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
5 สำนักงาน ก.พ. แจ้งว่า การบันทึกพฤติกรรมการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมให้ดำเนินการตามกระบวนบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้น เช่น แบบบันทึกประวัติบุคคลของข้าราชการพลเรือนสามัญ (ก.พ. 7)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7371