รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 July 2023 01:19
- Hits: 1848
รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 9 (7) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบรายงานฯ และมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่ง
1.1 สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทรัพยากร |
สถานภาพ |
|
ปะการัง |
- แนวปะการังทั่วประเทศ จำนวน 149,182 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดี ร้อยละ 53 สมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 22 และเสียหาย ร้อยละ 25 โดยมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2563-2564 - สถานการณ์ปะการังฟอกขาว1 มีความรุนแรงในระดับต่ำ พบมีการฟอกขาวในบางพื้นที่เท่านั้น |
|
หญ้าทะเล |
มีรายงานพบหญ้าทะเลเนื้อที่รวม 103,580 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่ศักยภาพเป็นหญ้าทะเลของประเทศ (160,628 ไร่) โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2564 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ที่มีจำนวน 99,325 ไร่) ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมบูรณ์ปานกลางร้อยละ 36 สมบูรณ์เล็กน้อย ร้อยละ 35 และสมบูรณ์ดี ร้อยละ 25 |
|
สัตว์ทะเลหายาก2 : เต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ และปลากระดูกอ่อน |
- จากการสำรวจพบว่า กลุ่มสัตว์ทะเลหายากมีสถานภาพดีขึ้น โดยเต่าทะเลพบการขึ้นวางไข่ จำนวน 604 รัง พบพะยูน จำนวน 273 ตัว ซึ่งจากการสำรวจ แม้ว่าประชากรพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตแต่ยังพบการเกยตื้นและตายทุกปี ในส่วนของโลมาและวาฬ จำนวน 2,310 ตัว พบโลมาหัวบาตรหลังเรียบมากที่สุด ร้อยละ 30.5 รองลงมาเป็นโลมาอิรวดี ร้อยละ 29.4 และโลมาหลังโหนก ร้อยละ 26.7 นอกจากนี้ กลุ่มปลากระดูกอ่อนที่พบเห็นและจำแนกอัตลักษณ์ได้ ประกอบด้วย ปลาฉลามวาฬ จำนวน 40 ตัว ปลากระเบนแมนต้า จำนวน 10 ตัว - สถิติการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายาก ในปี 2565 พบ 659 ครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากป่วยตายหรือการติดเครื่องมือประมง โดยในอนาคตคาดว่าแต่ละปีอาจมีการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากเพิ่มมากขึ้นเพราะความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ |
1.2 สถานภาพทรัพยากรป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าพรุ3
ทรัพยากร |
สถานภาพ |
|
ป่าชายเลน |
จากข้อมูลการแปลภาพถ่ายดาวเทียมด้วยความละเอียดสูง ในปี 2563 พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ จำนวน 1.73 ล้านไร่ พบมากที่สุดบริเวณชายฝั่งอันดามันตอนล่าง (712,561.22 ไร่) รองลงมา คือ ชายฝั่งอันดามันตอนบน (460,180.47 ไร่) และภาคตะวันออก (222,461 ไร่) โดยพบพันธุ์ไม้เด่น เช่น โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะบูนขาว และตะบูนดำ อีกทั้งป่าชายเลนบริเวณฝั่งอันดามันยังมีปริมาณดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 52.76 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ |
|
ป่าชายหาด |
มีพื้นที่ป่าชายหาด จำนวน 47,149.30 ไร่ (จากข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2563) กระจายอยู่ในพื้นที่ 18 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายหาดมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา (23,483.52 ไร่) รองลงมา คือ จังหวัดกระบี่ (4,406.97 ไร่) ทั้งนี้ ป่าชายหาดในประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกทำลายจนเหลือเป็นผืนเล็กผืนน้อย เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุรักษ์และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงท่องเที่ยว |
|
ป่าพรุ |
มีพื้นที่ป่าพรุ จำนวน 37,139.56 ไร่ (จากข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2563) กระจายอยู่ในพื้นที่ 12 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าพรุมากที่สุด คือ จังหวัดสงขลา (12,814.98 ไร่) รองลงมา คือ จังหวัดนราธิวาส (8,650.15 ไร่) |
1.3 สถานภาพด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล
สิ่งแวดล้อม |
สถานภาพ |
|
คุณภาพน้ำทะเล |
คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 7 เกณฑ์ดี ร้อยละ 57 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 30 และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 6 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 คุณภาพน้ำทะเลมีสถานะเสื่อมโทรมลงเล็กน้อย โดยมีสาเหตุ เช่น น้ำทิ้งจากชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม และการเกิดน้ำมันรั่วไหล |
|
น้ำทะเลเปลี่ยนสี4 และการสะพรั่งของสาหร่าย |
พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชจำนวน 43 ครั้ง โดยความถี่ของการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีสูงขึ้น จากปี 2564 และเกิดขึ้นในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้น (สูงสุด คือ จังหวัดสมุทรสาคร) จากเดิมที่พบสูงสุดในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก (จังหวัดชลบุรี) ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาควรกำหนดมาตรการควบคุมแหล่งมลพิษและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ประกอบกับการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการคุณภาพน้ำ ตลอดจนการสร้างความรู้ จิตสำนึก และการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำเสียชุมชน |
|
น้ำมันรั่วไหล และก้อนน้ำมันดิน5 |
เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลและก้อนน้ำมันดิน รวม 22 ครั้ง (น้ำมันรั่วไหล จำนวน 9 ครั้ง และพบก้อนน้ำมันดิน จำนวน 13 ครั้ง) โดยจากการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังสถานภาพของน้ำมันรั่วไหลในช่วงที่ผ่านมา พบว่า จังหวัดระยองและชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเล เนื่องจากมีกิจกรรมชายฝั่งหลากหลายประเภท เช่น เรือขนส่งสินค้า เรือประมง เรือท่องเที่ยว อีกทั้งชายฝั่งจังหวัดระยองเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งบางแห่งมีโรงกลั่นน้ำมันและมีการเดินเรือเข้าออกเพื่อขนส่งน้ำมัน จึงมีความเสี่ยงสูงในการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินเรือและน้ำมันรั่วไหลสู่ทะเล รวมทั้งการลักลอบถ่ายเทน้ำมันหรือของเสียที่เกิดจากการชะล้างลงสู่ทะเล |
|
แมงกะพรุนพิษ |
พบว่ามีประชาชนได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องระหว่างปี 2542-2564 รวม 46 ราย (ผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 10 ราย และบาดเจ็บรุนแรง จำนวน 36 ราย) ทั้งนี้ ในปี 2565 ยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรงจากแมงกะพรุนชนิดใด |
|
ขยะทะเล |
สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่ง รวม 506,681.14 กิโลกรัม (ประมาณ 507 ตัน) ขยะที่พบส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงก๊อปแก๊ป เศษโฟม ทั้งนี้ จากการศึกษาผลกระทบจากขยะทะเลต่อสัตว์ทะเลหายาก พบรวมทั้งสิ้น 168 ตัว จากจำนวนสัตว์เกยตื้น 659 ตัว (ได้รับผลกระทบจากการกินขยะทะเล 97 ตัว ขยะทะเลพันรัดภายนอก 53 ตัว และที่ได้รับผลกระทบจากทั้งการกินและการพันรัด 18 ตัว) ซึ่งขยะทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากมากที่สุด ได้แก่ เศษอวน เศษเชือก และพลาสติกอ่อน |
1.4 สถานการณ์ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลพบว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเล 3,151.13 กิโลเมตร มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาถูกกัดเซาะระยะทาง 823.06 กิโลเมตร โดยพื้นที่ที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว 753.32 กิโลเมตร (แก้ไขปัญหาโดยการซ่อม สร้าง เสริม เช่น การสร้างเขื่อนหินกั้นคลื่น การติดตั้งรั้วดักทราย การปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น รวมทั้งการจัดทำร่างมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา) และพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไข 69.74 กิโลเมตร โดยภาพรวมปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีระยะทางที่ลดลงจากปี 2563 ทั้งนี้ พบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างชัดเจนที่จังหวัดปัตตานี ระยะทางมากกว่า 10 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบจากกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น ในช่วงฤดูมรสุมส่งผลให้คลื่นและลมแรงเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ริมทะเล ส่วนจังหวัดที่ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่ง เช่น จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร โดยส่วนใหญ่มีการป้องกันโดยใช้โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะ เช่น การสร้างเขื่อนหินกันคลื่น การปักเสาคอนกรีต ผสมกับการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น
1.5 ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่สำคัญ ในปี 2565 ประกอบด้วย 2 พื้นที่ ได้แก่ (1) ทะเลสาบสงขลา เป็นลุ่มน้ำสำคัญซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีความซับซ้อนเชิงนิเวศ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นทิวเขาซึ่งเป็นต้นน้ำจึงเป็นแหล่งรับน้ำจากคลองหลายสาย รวมทั้งพบพืชและสัตว์ทั้งกลุ่มที่อาศัยในน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด เช่น โลมาอิรวดี (พบประมาณ 14-20 ตัว) ทรัพยากรหญ้าทะเล (พบในพื้นที่จำนวน 86.37 ไร่) และสัตว์น้ำ (ผลการสำรวจในปี 2564 พบสัตว์น้ำ 84 ชนิด ประกอบด้วย กลุ่มปลา 64 ชนิด กลุ่มกุ้ง 13 ชนิด กลุ่มปู 6 ชนิด และกลุ่มกั้ง 1 ชนิด) และ (2) เกาะโลซินจังหวัดปัตตานี มีลักษณะเป็นกองหินใต้ทะเลที่ก่อตัวขึ้นโผล่พ้นน้ำเล็กน้อย ประมาณ 10 เมตร มีความสำคัญด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเล ด้านพลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ เกาะโลซินจึงกลายเป็นจุดอ้างอิงสำคัญในการประกาศน่านน้ำอาณาเขตจากเกาะโลซินออกไป 200 ไมล์ทะเล โดยบริเวณใต้ทะเลของเกาะโลซิน พบว่า เป็นบริเวณที่มีความสมบูรณ์ของปะการังและฝูงปลาชนิดต่างๆ เป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลคุ้มครองและสัตว์ทะเลหายาก เช่น ปลาฉลามวาฬ ปลากระเบนแมนต้า และเต่าตนุ จึงได้รับการประกาศกำหนดให้บริเวณเกาะโลซินเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อลดภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการประมง หรือการท่องเที่ยวในอนาคต6 (เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งที่ 2 ต่อจากพื้นที่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช)
2. สถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของ 24 จังหวัดชายทะเล พบว่า สภานการณ์ที่มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของพื้นที่ป่าชายเลนเกือบทุกจังหวัด การขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลที่มีจำนวนครั้งมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 สถานภาพของปะการังมีแนวโน้มสมบูรณ์ดีขึ้นหลายพื้นที่จากการฟื้นตัวตามธรรมชาติและการบริหารจัดการและการควบคุมพื้นที่ ในส่วนของทรัพยากรหญ้าทะเลและคุณภาพน้ำทะเลโดยรวมมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคงที่ สำหรับสถานการณ์ที่ต้องให้ความสำคัญ รวมถึงต้องได้รับการป้องกันและแก้ไข ได้แก่ ปัญหาการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ ปัญหาน้ำมันรั่วไหลและก้อนน้ำมันดินที่ยังพบบ่อย ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ปัญหาขยะทะเลที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ และสถานการณ์ด้านการกัดเซาะชายฝั่งโดยรวมมีพื้นที่ที่ได้รับการแก้ไขปัญหาระยะทางรวมมากขึ้น แต่ยังคงมีบางพื้นที่ที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เช่น พื้นที่จังหวัดปัตตานีที่พบการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้นกว่า 10 กิโลเมตร
3. สาเหตุความเสื่อมโทรมและผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่ง ในปี 2565 พบสาเหตุที่สำคัญ 2 สาเหตุ คือ (1) สาเหตุจากธรรมชาติ เช่น คลื่น ลมและมรสุมน้ำขึ้นน้ำลง กระแสน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และ (2) เกิดจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เช่น ปัญหาขยะทะเล การท่องเที่ยว การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล การรั่วไหลของน้ำมัน และขยะจากประมงที่ถูกทิ้งลงทะเลโดยตรง ปัญหาจากการทำประมงและเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล รวมถึงการเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว การใช้พื้นที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตร และอุตสาหกรรมล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ ปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาคุณภาพน้ำที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำทะเลและการรั่วไหลของน้ำมันที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศทางทะเลและคุณภาพชีวิตของมนุษย์
4. ผลการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างปี 2564-2565 เช่น ด้านทรัพยากรทางทะเล ได้ดำเนินการจัดวางวัสดุลงเกาะสำหรับตัวอ่อนปะการัง (Reef Ball) จำนวน 2,777 แท่ง และมีการปลูกปะการังเสริม 22,216 กิ่ง ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา การจัดทำและวางปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติ จำนวน 4,663 แท่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล ด้านทรัพยากรป่าชายเลนและป่าชายหาด ทวงคืนป่าชายเลนในคดีบุกรุกพื้นที่และคดีตัดไม้ จำนวน 42 คดี ผู้ต้องหา 56 ราย เนื้อที่รวม 2,553.45 ไร่ การดำเนินโครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐเพื่อความสุขของคนไทย” ทั้งหมด 8 โครงการ ในพื้นที่ 7 จังหวัด เนื้อที่ 3,555 ไร่ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มีการพัฒนาศูนย์ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด หรือ Thailand Marine Portal ด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล การเก็บขยะผ่านโครงการต่างๆ ในปี 2565 สามารถเก็บขยะได้ 506,681 กิโลกรัม จำนวน 5,972,232 ชิ้น และด้านการกัดเซาะชายฝั่ง เช่น การจัดทำร่างมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
5. พื้นที่สำคัญที่มีประเด็นปัญหาเร่งด่วนในการบริหารจัดการ ได้แก่ (1) พื้นที่อ่าวไทยตอนใน ซึ่งพบประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นประเด็นร่วมกันหลายจังหวัดหรือบางจังหวัด เช่น ปัญหาคุณภาพน้ำทะเล ขยะทะเล น้ำมันรั่วไหล การกัดเซาะชายฝั่ง การทำประมงผิดกฎหมาย ความขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์และการใช้ประโยชน์ที่ดินงอกใหม่ ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ทั้งระดับนโยบาย ส่วนกลาง จังหวัด และท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการทบทวนกฎหมายร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และ (2) อ่าวบ้านดอนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสูงอีกทั้งเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและแหล่งทำการประมงสำคัญ โดยเฉพาะการเลี้ยงหอยแครง หอยนางรม และหอยแมลงภู่ ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญในพื้นที่จากความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการเลี้ยงหอยในการบุกรุกแย่งชิงทรัพยากรในเขตพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งการบุกรุกโดยเอกชนเพื่อครอบครองพื้นที่สาธารณะที่สงวนสิทธิ์ไว้ให้ประมงพื้นบ้าน จึงควรมีการบริหารจัดการแบบบูรณาการด้วยแนวคิดการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอ่าวบ้านดอนร่วมกันอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างการรับรู้การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่
6. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
6.1 มาตรการและแผนงานจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ระยะสั้น 1-2 ปี)
ด้าน |
มาตรการและแผนงาน |
|
1. มลพิษทางทะเลและขยะทะเล |
ควรมีการบูรณาการการดำเนินงานในการบริหารจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ ทั้งในส่วนของแหล่งที่มีจุดกำเนิดแน่นอน (Point Source) เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม รวมถึงแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีจุดกำเนิดไม่แน่นอน (Non-Point Source) ได้แก่ การเกษตร ในส่วนของขยะทะเลควรบูรณาการการบริหารจัดการขยะตั้งแต่แหล่งที่มาหรือแหล่งกำเนิด |
|
2. ด้านพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและการวางแผนเชิงพื้นที่ |
ควรเร่งขับเคลื่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล รวมทั้งเร่งดำเนินการวางแผนเชิงพื้นที่ของทะเลไทย |
|
3. ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง |
ควรเร่งบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ |
|
4. ด้านการบริหารจัดการทางทะเลอย่างยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม |
ควรเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
6.2 มาตรการและแผนงานจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ระยะกลาง 3-5 ปี)
ด้าน |
มาตรการและแผนงาน |
|
1. สร้างองค์ความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร |
ศึกษาวิจัยติดตามการเปลี่ยนแปลง ประเมินผลการฟื้นฟู และจัดทำสื่อร่วมกัน |
|
2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ |
จัดตั้งเครือข่ายให้ความรู้ ความตระหนัก สนับสนุนกิจกรรม จัดทำข้อตกลงชุมชน |
|
3. การอนุรักษ์และเฝ้าระวังตรวจตราทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน |
โดยการดำเนินงานด้านการตรวจตรา เฝ้าระวังเชิงพื้นที่ จัดทำแนวเขตวางทุ่นจอดเรือ จัดทำปะการังเทียม ดำเนินคดี และกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ |
|
4. การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
ฟื้นฟูแนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน หาดทราย เนินทรายชายฝั่ง และช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก |
|
5. ป้องกัน เฝ้าระวัง และส่งเสริมการลดผลกระทบจากแผ่นดินและเกาะ7 |
ใช้กลไกคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดเพื่อให้ความคิดเห็นถึงผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ บนแผ่นดินและเกาะในระดับพื้นที่ผ่านทางรายงานและการทำแผนการจัดการพื้นที่ |
|
6. ประกาศพื้นที่อนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
จัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลภายใต้การบริหารจัดการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางกฎหมาย ข้อตกลงชุมชน หรือวิธีการอื่นในการอนุรักษ์ |
|
7. การปรับปรุง/ออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง |
จัดทำแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร จัดทำผังเมืองริมทะเลและการจัดการในระบบกลุ่มหาด และการยับยั้งโครงการที่สร้างผลกระทบต่อชายฝั่ง |
|
8. ความร่วมมือระหว่างประเทศ |
สนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ |
_________________
1ปะการังฟอกขาว เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป และความเค็มของน้ำทะเลลดลง
2สัตว์ทะเลหายาก หมายถึง สัตว์ทะเลที่มีสภาวะถูกคุกคามและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์
3ป่าพรุ คือ ป่าที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำขังตลอดทั้งปี มีซากผุพังของต้นไม้และพันธุ์พืชทับถม ทำให้ดินยุบตัวลงได้ง่าย ทั้งนี้ พบได้ในแถบจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย
4น้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นปรากฏการณ์ที่แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลมีสีเปลี่ยนไปตามสีของแพลงก์ตอนพืชที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเล เช่น ออกซิเจนและความเข้มของแสงที่ส่องผ่านในน้ำลดลง บางกรณีจำนวนแพลงก์ตอนที่เพิ่มขึ้นสามารถสร้างสารพิษที่อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำและถ่ายทอดผ่านมาถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย
5ก้อนน้ำมันดิน คือ การแปรสภาพตามธรรมชาติของน้ำมันหรือคาบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของเรือเดินสมุทร หรือการรั่วไหลโดยธรรมชาติใต้ท้องทะเล เมื่อเวลาผ่านไปคราบน้ำมันที่กระจายตัวอยู่บนผิวน้ำจะเปลี่ยนสภาพเป็นก้อนน้ำมันดิน ซึ่งมีลักษณะเหนียวนุ่ม มีความหนืดสูง เนื่องจากองค์ประกอบส่วนเบาได้ระเหยไปบางส่วน เหลือส่วนหนักที่มีองค์ประกอบคล้ายยางมะตอย
6กฎกระทรวงฯ ได้กำหนดกิจกรรมที่ห้ามดำเนินการ เช่น ห้ามกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล เช่น ปะการังและสัตว์ทะเล ห้ามทอดสมอเรือ และห้ามประกอบการประมง
7ผลกระทบจากแผ่นดินและเกาะ หมายถึง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินและเกาะ ซึ่งส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ปัญหาการทิ้งขยะ การปล่อยน้ำทิ้งน้ำเสีย และการรั่วไหลของน้ำมันลงทะเล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7370