สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 25 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564-30 เมษายน 2566)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 July 2023 01:00
- Hits: 1927
สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 25 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564-30 เมษายน 2566)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 25 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564-30 เมษายน 2566) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. นโยบายหลัก 10 ด้าน ประกอบด้วย
นโยบายหลัก |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ |
1.1) จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เช่น จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันคล้ายวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 241 ปี พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลครบรอบ 418 ปี วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 25 เมษายน 2566 และพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลและถวายพระพร เนื่องในวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร 29 เมษายน 2566 1.2) ส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น ส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดิน 38,992 ไร่ ก่อสร้างแหล่งน้ำ 99 แห่ง ถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่เกษตรกร 9,885 ราย ส่งเสริมทักษะการผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน 300 ราย ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรและจัดทำบัญชี รวม 37,092 ราย 1.3) พัฒนาพื้นที่โครงการหลวง เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เช่น จัดงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง “Young ทำเกษตร” “เกษตรไทยเท่” “นวัตกรรมทำเอง” “การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “ฐานเส้นทางเรียนรู้สนองพระราชปณิธาน” 1.4) น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักสวนครัว รอบ 2 อย่างต่อเนื่อง เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด (ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย) ดำเนินกิจกรรมต้นแบบแห่งความยั่งยืน นำ “ทุนชุมชน” เป็นพื้นฐานการพัฒนาชุมชนแห่งการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ชั้นดีของโลก และเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่มีการปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือนสามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนและเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นได้เรียนรู้และขยายผลต่อไป |
|
2) การสร้างความมั่งคงความปลอดภัยของประเทศและความสงบสุขของประเทศ |
2.1) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปสู่การปฏิบัติ เช่น จัดทำแผนบูรณาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มีสถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงและแรงงานได้รับการคุ้มครอง 2,452 แห่ง แรงงาน 79,226 คน และดำเนินโครงการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ให้ความคุ้มครองคนหางานตามกฎหมายจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน 324,543 คน 2.2) ดำเนินโครงการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อควบคุมและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ มีแรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงาน79,749 คน 2.3) การดำเนินโครงการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง เช่น ปรับปรุงการออกหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว 50,446 ราย ตรวจเรือประมงและแรงงานภาคประมง 45 ครั้ง ตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเลในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล มีแรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานในกิจการประมง 73,701 คน 2.4) ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายได้ตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 560 แห่ง มีแรงงานกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแลให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย 18,621 คน |
|
3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม |
จัดงานแสดงมโนราห์ “สืบสานศิลป์ถิ่นโนรา อนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี พ.ศ. 2566” ณ จังหวัดพัทลุง เพื่อเฉลิมพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 68 พรรษา 2 เมษายน 2566 และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านการแสดงมโนราห์อันเป็นมรดกโลก |
|
4) การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก |
ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและมาเลเซีย โดยกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจ้างงานแรงงานไทยระหว่างราชอาณาจักรไทยและประเทศมาเลเซีย เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านแรงงานและการจ้างงาน |
|
5) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของคนไทย |
5.1) พัฒนาภาคเกษตร โดยส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เช่น ถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้แก่เกษตรท้องถิ่น 3,800 ราย สนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร (เครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว เครื่องสีข้าว และเครื่องบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ) แก่กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ และส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นและส่งเสริมให้สินค้าเกษตรขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) เช่น พัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร ดำเนินโครงการวิจัยสร้างแปลงต้นแบบแม่พันธุ์และการพัฒนาระบบตรวจรับรองพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม GI เพื่อจัดทำคู่มือและฐานข้อมูลรวบรวมด้านพันธุกรรม รวมทั้งสร้างระบบติดตามย้อนกลับการผลิตและจำหน่ายต้นกล้า 5.2) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว เช่น พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานภาคการท่องเที่ยว 5,654 คน ทำให้แรงงานมีงานทำคิดเป็นร้อยละ 79.90 มีรายได้เฉลี่ย 12,467 บาทต่อคนต่อเดือน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 599.09 ล้านบาทต่อปี 5.3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตข้าวอุดมซีลีเนียม1 แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครนายก นครปฐม สุพรรณบุรีและสุราษฎร์ธานี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตและเป็นต้นแบบในการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ของเปลือกเมล็ดถั่วเขียวเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาสกัดสารชีวภาพ Vitexin และ Iso-vitexin2 โดยสารสกัดดังกล่าวที่มีความบริสุทธิ์สูง (มากกว่าร้อยละ 98) มีราคาขาย 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 20 มิลลิกรัม และ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 20 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าเปลือกเมล็ดถั่วเขียวและพัฒนากระบวนการสกัดและทำบริสุทธิ์สามารถช่วยลดต้นทุน (ราคา) ของสาร รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยในการนำสารสกัดดังกล่าวมาวิจัยและพัฒนาเป็นยารักษาโรคด้วย 5.4) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยใช้กลไก “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้ 4 แพลตฟอร์ม3 |
|
6) การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค |
ดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพการเกษตรบนฐานทรัพยากรดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยใช้เทคโนโลยีวิทยาการข้อมูลมาช่วยในการกำหนดเขตการใช้ที่ดิน รวมทั้งปรับปรุงฐานข้อมูลทรัพยากรดินในพื้นที่ EEC ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำแปลงสาธิตและปรับปรุงฐานข้อมูลทรัพยากรดินเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการเพิ่มผลิตภาพการเกษตรและการพัฒนาตามแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC |
|
7) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของรากฐาน |
7.1) ส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวคุณภาพดีตามมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) ครบวงจร และตลาดข้าวสารคุณภาพ อ.ต.ก. สามารถระบายผลผลิตข้าว 4 ครั้ง รวม 18.76 ตัน มูลค่า 0.67 ล้านบาท และส่งเสริมตลาดผู้บริโภคผลไม้ไทย 38.32 ตัน มูลค่า 2.73 ล้านบาท 7.2) พัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการชุมชน เช่น พัฒนาศักยภาพกลุ่มส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรสู่ Smart Group จำนวน 566 กลุ่ม และพัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 32 กลุ่ม 7.3) ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ได้พัฒนาศักยภาพสมาชิกวิสาหกิจชุมชนด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว มาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตรและมาตรฐานด้านความปลอดภัย 35 แห่ง 7.4) ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ ยกระดับการดำเนินธุรกิจของสถาบัน (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ธุรกิจชุมชน) เช่น อบรมการใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ 200 แห่ง จัดทำบัญชีแก่วิสาหกิจชุมชน 786 แห่ง และพัฒนามาตรฐานการบัญชีและการควบคุมภายในแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 200 แห่ง 7.5) ส่งเสริม พัฒนาอาชีพ และถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ได้จัดทำจุดสาธิตการเรียนรู้ เช่น การพัฒนาที่ดิน 486 ศูนย์ การบัญชี 882 ศูนย์ การประมง 180 ศูนย์ และอบรมให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสมให้แก่เกษตรกรด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และหม่อนไหม 33,124 ราย 7.6) ดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) ในจังหวัดนำร่อง 15 จังหวัด เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 เพื่อมุ่งพัฒนาพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs4 |
|
8) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย |
การพัฒนาทักษะอาชีพทุกช่วงวัย โดยดำเนินโครงการส่งเสริมเคหะกิจเกษตรในครัวเรือนเกษตรสูงวัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมเกษตรสูงวัย รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพในกลุ่มเกษตรสูงวัย 1,078 ราย |
|
9) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันสังคม |
9.1) จัดงานวันอนามัยโลก (World Health Day) ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Health for All” หรือ “สุขภาพดีถ้วนหน้า” รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค 9.2) จัดตั้งสถานีสุขภาพชุมชน ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ 2,894 แห่ง ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่เน้นกลุ่มโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยใช้กลไก 3 หมอเชื่อมโยงระบบบริการ (หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข และหมอครอบครัว) ให้บริการตามระดับอาการ มีการจัดบริการพิเศษพบแพทย์และเภสัชกรทางไกล และจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ถึงบ้าน รวมทั้ง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียงถึงบ้านพักอาศัยด้วย |
|
10) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน |
10.1) ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกินของเกษตรกร โดยพัฒนาพื้นที่แปลงรวมในเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค 14 พื้นที่ ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีการผลิตและสนับสนุนปัจจัยการผลิต พร้อมทั้งพัฒนาอาชีพ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินแก่เกษตรกร สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร (ด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และจัดทำบัญชีครัวเรือน) 8,609 ราย และจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำให้มีความเหมาะสมในการผลิตพืช 9,463 ไร่ 10.2) ปรับปรุงงานชลประทานและการบริหารจัดการน้ำ ได้ซ่อมแซม ปรับปรุงงานชลประทาน 511 รายการ พื้นที่ชลประทานได้รับการปรับปรุง 934,963 ไร่ ขุดลอกระบบส่งน้ำระบายน้ำชลประทาน ปรับปรุงระบบโทรมาตรบำรุงรักษาทางและสะพานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จัดรูปที่ดิน 2,389 ไร่ และจัดระบบน้ำเพื่อการเกษตรกรรม 2,350 ไร่ 10.3) ลดการเผาในพื้นที่เกษตร ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผา 17,640 ราย ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินแก่เกษตรกร 555 ราย และส่งเสริมการไถกลบตอซังในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกข้าว และข้าวโพด ในพื้นที่ 68 ตำบล 37 อำเภอ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวม 24,916 ไร่ |
2. นโยบายเร่งด่วน 5 เรื่อง ประกอบด้วย
นโยบายเร่งด่วน |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน |
ดำเนินโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรโดยลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการเกษตร โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-30 เมษายน 2566 สามารถลดภาระดอกเบี้ยให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 804 แห่ง (251,890 ราย) และดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังการทำประมงของเรือประมงไทยให้เป็นไปตามกฎหมาย 91,422 ครั้ง รวมทั้งควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมงในทะเล 154 ครั้ง |
|
2) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน |
เร่งผลิตและพัฒนาฝีมือด้านช่าง เช่น ช่างโซล่าเซลล์บริการประชาชน เพื่อลดค่าไฟฟ้าบ้านและลดภาวะโลกร้อนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่างแอร์คุณภาพ เพื่อสร้างอาชีพอิสระที่พร้อมให้บริการคลายร้อนแก่ประชาชน รวมทั้งฝึกอบรมหลักสูตรการประกอบอาหารไทยประยุกต์เป็นเมนูสร้างอาชีพให้คนไทย เช่น แกงพะแนง |
|
3) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต |
ดำเนินโครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และ Critical Technology เพื่อพัฒนาบริการสาธารณสุขในรูปแบบใหม่ โดยมีผลดำเนินงานแล้วเสร็จ เช่น จัดหาอุปกรณ์ติดตั้งระบบ Multi-Access Edge computing (MEC) พัฒนาระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาระบบผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคล สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ผ่านเครือข่าย 5G (NCD) และสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC (จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 170 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 107,284 ล้านบาท |
|
4) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ |
ดำเนินโครงการส่งเสริมระบบการจัดการด้านยาเสพติดในสถานประกอบกิจการโดยรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ 500,429 คน และดำเนินโครงการส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการโดยมีอาสาสมัครแรงงานให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำแก่นายจ้าง/ลูกจ้างในสถานประกอบการ 6,694 คน |
|
5) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน |
อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ (Talents) นักลงทุน (Investors) ผู้บริหาร (Executives) และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ SMART Visa ทั้งนี้ ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2566 มีผู้ขอรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 1,500 คำขอ และผ่านการรับรองคุณสมบัติ 634 คำขอ และดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูง (Long-Term Resident Program) ผ่านวีซ่าประเภท LTR Visa5 มีผลดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565- 30 เมษายน 2566 มี 3,598 คำขอ โดยมีผู้ขอรับรองคุณสมบัติฯ ประเภท Wealthy Pensioners จำนวน 1,165 คำขอ และ Work-from-Thailand Professionals 949 คำขอ (สัญชาติที่ยื่นคำขอรับ LTR Visa มากที่สุด คือ อเมริกัน รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ตามลำดับ) ซึ่งเป็นคำขอมาจากคนต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย (ผู้ขอรับตรวจลงตราในไทย) 2,286 ราย และคำขอจากคนต่างชาติที่พำนักในต่างประเทศ (ผู้ขอรับการตรวจลงตราในต่างประเทศ) 1,312 ราย |
______________
1แร่ธาตุซีลีเนียมในข้าวเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกับวิตามินซี วิตามินอี หรือวิตามินเอ ทำหน้าที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
2สาร Vitexin และ Iso-vitexin เป็นสารชีวภาพที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันไวรัส และลดความดันโลหิตสูง โดยผ่านกระบวนการสกัดและทำให้บริสุทธิ์เพื่อนำไปใช้งานด้านเภสัชภัณฑ์
3ได้แก่ (1) การบริการคำปรึกษาและข้อมูลเทคโนโลยี (2) การเพิ่มศักยภาพเครือข่าย (3) การเพิ่มศักยภาพธุรกิจชุมชน และ (4) การบ่มเพาะหมู่บ้านวิทยาศาสตร์
4เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย
5 Long-Term Resident Visa เป็นวีซ่าพำนักระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติ โดยให้สิทธิพำนักอยู่ในไทยได้นานสูงสุด 10 ปี และสิทธิประโยชน์อื่นที่กำหนด เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษี แบ่งประเภทได้ ดังนี้ (1) Wealthy Global Citizens (ผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) (2) Wealthy Pensioners (ผู้เกษียณอายุที่มีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) (3) Work-From-Thailand Professionals (ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) และ (4) Highly skilled professionals (ผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7369