รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 July 2023 00:52
- Hits: 1929
รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สอบ. รายงานว่า ได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2565 ของ สอบ. โดยมีผลดำเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงาน สรุปได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานปี 2565
1.1 งานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและรับแจ้งเบาะแสผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อคุ้มครองให้ผู้บริโภคสูญเสียน้อยที่สุด ได้แก่ (1) ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) ได้รับเรื่องร้องเรียน 8,356 เรื่อง พบว่า ปัญหาด้านการเงินและการธนาคารเป็นประเด็นที่ถูกเรื่องร้องเรียนมากที่สุดโดยเฉพาะกรณีผู้บริโภคถูกยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และปัญหาสินค้าและบริการทั่วไปเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนรองลงมา เช่น กลุ่มปัญหาที่หลอก ให้โอนเงินจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สินค้าได้รับไม่ตรงตามโฆษณา ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน และสินค้าชำรุดบกพร่อง ทั้งนี้ สามารถแก้ปัญหาจนได้ข้อยุติแล้ว 7,854 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าที่ผู้บริโภคได้รับการชดเชยจากผู้ประกอบธุรกิจเป็นเงิน 222.21 ล้านบาท (2) การฟ้องคดี และทนายความคดีผู้บริโภค โดย สอบ. ได้ดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภครวม 19 คดี แบ่งเป็น 2 กรณี คือโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค เช่น คดีถูกริบเงินดาวน์จองกรณีผู้บริโภค ซื้อบ้านแต่กู้ไม่ผ่าน และคดีสายการบินไม่คืนเงินกรณียกเลิกเที่ยวบินช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกฟ้องจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภค เช่น กรณีผู้บริโภคถูกฟ้องให้รับผิดในสัญญาเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์และใช้ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งในปี 2565 สอบ. มีทนายความที่พร้อมช่วยเหลือผู้บริโภคทั่วภูมิภาคขึ้นทะเบียนแล้ว 74 คน และมีการจัดอบรมทักษะการไกล่เกลี่ยให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 2 รุ่น และ (3) การตรวจสอบ แจ้งเตือนภัย และเฝ้าระวังสถานการณ์ผู้บริโภค โดย สอบ. ร่วมกับศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานเชิงรุกผ่านกระบวนการทดสอบสินค้าและบริการ เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการประจำวัน เช่น การสุ่มเลือกสินค้าและบริการไปทดสอบหาสารเคมีอันตรายจากสินค้านั้นๆ และนำข้อมูลในการทดสอบสินค้า การแจ้งเบาะแส และเรื่องร้องเรียน มาผลิตเป็นสื่อแจ้งเตือนภัยและรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคในประเด็นต่างๆ กว่า 30 เรื่อง เช่น การยกเลิกประกันภัย ที่ถูกหลอกทำประกันภัยทางโทรศัพท์ วิธีสังเกตมิจฉาชีพหลอกลงทุนออนไลน์ การโอนเงินผิดบัญชีต้องทำอย่างไร และการขอยกเลิกสัญญาเมื่อผู้รับเหมาใช้วัสดุผิดแบบ
1.2 การผลักดันประเด็นปัญหา สู่การแก้ไขเชิงนโยบาย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สินค้าและบริการในชีวิตประจำวันมีราคาสูงขึ้นโดยอ้างเหตุจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากปกติ และเป็นการป้องกันความเดือดร้อนของผู้บริโภคจึงมีการผลักดันประเด็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคไปเพื่อแก้ไขในระดับนโยบายและมาตรฐานทางกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) การผลักดันนโยบาย และจัดทำข้อเสนอต่อมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค โดย สอบ. ร่วมกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 8 ด้าน1 และคณะทำงานด้านการศึกษา ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการทำงาน และผลักดันข้อเสนอแนะต่อแนวปฏิบัติ กฎ ระเบียบ และนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐ 19 หน่วยงาน จำนวน 25 เรื่อง เช่น การเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทน กรณีเคลมประกันโรคโควิด-19 ตามกรมธรรม์ที่ซื้อไว้ไม่ได้ จากการประกาศเลิกกิจการของบริษัทประกันภัย ซึ่งเปิดขายประกัน “เจอ จ่าย จบ” ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 5,708 กรณี ให้ได้รับเงินค่าสินไหมตามสัญญาประกันในที่สุด (2) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มี 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการวิจัยการจัดทำตัวชี้วัดการคุ้มครองผู้บริโภคไทยและรายงานสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคตามตัวชี้วัด เพื่อจัดทำตัวชี้วัดการคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับประเทศไทยที่สอดคล้องกับระดับสากล และจัดทำรายงานสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคตามตัวชี้วัดที่ได้พัฒนาขึ้น 2) โครงการวิจัยศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และการวิเคราะห์ผลกระทบของการจัดสรรเงินบำนาญประชาชนที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนในการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และ 3) โครงการวิจัยติดตามนโยบายกำกับดูแลประโยชน์ของผู้บริโภคและการศึกษาความรู้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไทย เช่น ธรรมาภิบาลกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะและเงื่อนไขและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค และ (3) การรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กรณีการเสียชีวิตครั้งแรกของผู้ใช้รถยนต์จากถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะ (Takata) ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ดำเนินการเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์จัดทำแผนการเรียกคืนถุงลมนิรภัย เนื่องจากถือว่าเป็นสินค้าอันตรายที่มีผลทำให้บุคคลถึงแก่ความตาย
1.3 งานส่งเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายภาคีและองค์กรของผู้บริโภค ได้แก่ (1) งานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ ได้รับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ผ่านหน่วยงานประจำจังหวัด รวม 6,585 เรื่อง เช่น ปัญหา SMS หลอกลวงและกวนใจโดยส่งข้อความทางกล่องข้อความแล้วแนบลิงก์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล หรือโทรศัพท์หลอกให้โอนเงิน และปัญหาการเช่าซื้อยานพาหนะ โดยไม่ได้รับรถหลังจ่ายมัดจำ สามารถแก้ไขได้ข้อยุติ 5,763 เรื่อง ประเมินความสำเร็จในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภครวมเป็นมูลค่า 64.20 ล้านบาท (2) งานสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคระดับพื้นที่ โดยคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้แต่งตั้งหน่วยงานเขตพื้นที่ จำนวน 5 เขต2 และจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัด รวม 14 แห่ง3 สำหรับการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัด เพื่อช่วยเหลือ และส่งเสริมการดำเนินงานขององค์กรผู้บริโภค จำนวน 267 โครงการ เช่น ประเด็นสินค้าและบริการออนไลน์ และการขนส่งและยานพาหนะที่ปลอดภัย (3) งานพัฒนาศักยภาพเพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืน โดย สอบ. ร่วมกับสถาบันการเรียนรู้การเสริมสร้างสุขภาพ จัดอบรมหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง กับงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 8 ด้าน จำนวน 21 หลักสูตรมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการฝึกทักษะต่างๆ รวม 30 คน และ (4) งานประชุมสามัญสมาชิก ประจำปี 2565 โดยมีสาระสำคัญ เช่น เห็นชอบ และรับรองผลการปฏิบัติงานปี 2564 และองค์กรของผู้บริโภค จำนวน 28 องค์กร เข้าเป็นสมาชิก และเห็นชอบ (ร่าง) ข้อบังคับสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2565 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
1.4 งานสื่อสารสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยการผลิตเนื้อหา เผยแพร่ความรู้ รณรงค์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แจ้งเตือนภัยทางออนไลน์ ออฟไลน์ และงานพัฒนาระบบเทคโนโลยี ได้แก่ (1) การประชาสัมพันธ์องค์กรด้วย 5 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1) การพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางการสื่อสารแบบเดิมและการสื่อสารแบบใหม่ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร และสื่อสังคมออนไลน์ 2) การสร้างความรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ในประเด็นนโยบายสาธารณะ และประชาสัมพันธ์สำนักงานและหน่วยงานประจำจังหวัดของ สอบ. ผ่านสื่อดิจิทัลทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ 3) การสื่อสารสร้างความเข้าใจเพื่อขับเคลื่อนประเด็นบริการขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ 4) การเผยแพร่ประเด็นปัญหาผู้บริโภค แจ้งข่าวสารเตือนภัยและ ให้ความรู้สู่ผู้บริโภค และ 5) การสื่อสารนโยบาย สอบ. ผ่านกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิดในโลกออนไลน์ (อินฟลูเอนเซอร์) (2) งานเผยแพร่ความรู้และรณรงค์การพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยใช้ช่องทางสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ มีผู้เข้าถึงข้อมูลไม่น้อยกว่า 9.38 ล้านครั้ง และมีประเด็นที่เผยแพร่สู่สาธารณะ จำนวน 253 เรื่อง เช่น เรื่องเตือนภัยผู้บริโภคไม่ให้หลงเชื่อหรือหลงซื้อสินค้าออนไลน์จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ และให้ข้อมูลในการสังเกตร้านค้าว่าต้องดูข้อมูลอะไรบ้างก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า และ (3) งานพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ งานพัฒนาระบบสารสนเทศและนวัตกรรมการให้บริการ เช่น ระบบเว็บไซต์และการรับเรื่องร้องเรียน (Customer Relationship Management: CRM) ได้ปรับปรุงระบบเว็บไซต์เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนผ่านเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลกับระบบสารสนเทศอื่นๆ เช่น ระบบการแจ้งเตือนเบาะแสการกระทำผิดต่อผู้บริโภค และระบบฐานข้อมูลทำเนียบทนายความ สอบ. และงานพัฒนาระบบสารสนเทศสนับสนุนภารกิจองค์กร เช่น ระบบบริหารจัดการสำนักงาน (Electronic-Office: E-Office) โดยพัฒนาการจัดทำและจัดเก็บเอกสารให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ เพื่อใช้ในการบริหารพัฒนาเป็นฐานข้อมูล หนังสือรับเข้า เอกสารส่งออกได้อย่างเป็นระบบ และการพัฒนาและดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของอาคารสำนักงานใหม่
1.5 งานยกระดับการบริหารสำนักงาน และธรรมาภิบาลที่ดีในองค์กร เช่น (1) งานบริหารจัดการสำนักงาน สอบ. โดยดำเนินงานตามประเด็นของส่วนงานสนับสนุนภารกิจหลักขององค์กร ได้แก่ 1) งานบัญชีและการเงิน มีระบบจัดทำบัญชีประจำเดือนและรายไตรมาสได้ตามกำหนด 2) งานกฎหมาย เช่น การจัดทำระเบียบสภาองค์กรของผู้บริโภคว่าด้วยงบประมาณ การบัญชี การเงิน และการสอบบัญชี พ.ศ. 2564 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2564) และประกาศสภาองค์กรของผู้บริโภค เรื่อง นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2565 3) งานบริหารงานบุคคล จัดทำมาตรฐานการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของพนักงาน สอบ. และ 4) งานจัดซื้อจัดจ้าง ปรับปรุงแบบฟอร์มแผนจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การดำเนินงานของ สอบ. สอดคล้องกับมาตรฐานความคุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้ (2) งานพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ สอบ. โดยจัดทำ “โครงการส่งเสริมศักยภาพ พัฒนาแนวคิดปรับการทำงานเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565” มีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรม 56 คน และ (3) งานประเมินผล เช่น จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยการตรวจสอบการเงิน การบัญชี การพัสดุ สอบทาน วิเคราะห์ประเมินผลความเสี่ยง ให้ข้อเสนอแนะ คำปรึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง มีธรรมาภิบาลให้การดำเนินงานเป็นไปโดยความถูกต้องตามนโยบาย กฎหมาย และระเบียบแบบแผนที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และโปร่งใส
2. ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ (1) หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานของรัฐยังขาดการรับรู้บทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้ให้เป็นผู้แทนผู้บริโภคทุกคนทุกด้าน และความสับสนชื่อองค์กรที่คล้ายกันระหว่าง สอบ. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีภารกิจแตกต่างกัน (2) การตอบสนองหรือการให้ความร่วมมือจากหน่วยงานของภาครัฐยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ (3) การรับรู้ข่าวสารที่จำกัด เนื่องจากสมาชิกจำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้การเท่าทันและการเข้าถึงการสื่อสารด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำได้ยาก (4) ขาดแคลนด้านองค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ในการจัดทำรายงานประกอบข้อเสนอแนะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (5) การเข้าถึงช่องทางในการสื่อสารสาธารณะ ทำได้ยากมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ สอบ. จึงปรับเปลี่ยนวิธีโดยเพิ่มพื้นที่ในการสื่อสารให้มากขึ้น และ (6) ขาดการสนับสนุนงบประมาณ เนื่องจาก สอบ. ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรง จึงทำให้โครงการต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคหยุดชะงัก และไม่สามารถดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
3. ข้อเสนอในการคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการเงินการธนาคาร [หนี้สินครัวเรือน และกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (บำนาญประชาชน)] โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น 1) เสนอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสนับสนุนให้สมาชิก สอบ. มีบทบาท ในการแก้ปัญหาหนี้ด้วยการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้แบบเบ็ดเสร็จ และ 2) จัดอบรมความรู้ทางการเงิน และวินัยทางการเงินแก่สมาชิกของ สอบ. และประชาชนทั่วไป (2) ด้านการขนส่งและยานพาหนะ (เช่น ขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ทุกวัน ไม่เกิน 35 บาทต่อวัน รถรับส่งนักเรียนฟรีทั่วไทยเดินทางปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ และเปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัส รื้อระบบสัมปทานจัดสรรเส้นทางใหม่) โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น 1) พัฒนาการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนและระบบเชื่อมต่อล้อ ราง เรือ จักรยานให้กับผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค 2) จัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับนักเรียนทุกคน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ สำหรับบริการรับส่งนักเรียน และ 3) นโยบายเปลี่ยนรถตู้โดยสารประจำทางทุกคันเป็นรถมินิบัสภายในปี 2566 และมาตรการชดเชยด้านพลังงานเพื่อลดต้นทุน (3) ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น ให้มีหลักประกันคุ้มครองสิทธิผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ผู้บริโภค) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคืนเงินตามที่จ่ายไปจริงเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายและเงื่อนไข ในกรณีผู้บริโภคไม่ได้ผิดสัญญาหรือกู้ธนาคารไม่ผ่านให้กับผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ (4) ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (การเจรจาหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและจัดตั้งระบบเตือนภัยอาหารไม่ปลอดภัยโดยท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่น) โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น 1) เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในส่วนของการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและลดความขัดแย้งในสังคมตลอดจนทำให้เกิดการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีความเป็นธรรมกับประชาชนทุกกลุ่ม และ 2) ให้สร้างระบบเตือนภัยอาหารเพื่อให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยจากสารเคมีและอันตรายจากสารปลอมปนหรือปนเปื้อนในอาหาร (5) ด้านบริการสุขภาพ เนื่องจากปัญหาความแตกต่างเรื่องสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลไม่สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน จึงได้มีการผลักดันให้ทุกคนมีสิทธิในการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบ “บริการสุขภาพมาตรฐานเดียว” โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น 1) ผลักดันนโยบายบริการสุขภาพ ด้วยกองทุนรักษาพยาบาล 3 กองทุน (กองทุนสวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ กองทุนประกันสังคมและกองทุนหลักประกันสุขภาพ 2) การยกระดับมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ เช่น การเพิ่มบุคลากร การจัดหาเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐาน และอาคารสถานที่สามารถรองรับผู้ป่วยให้เพียงพอต่อความต้องการ และ 3) เร่งปรับปรุงให้ทั้งสามระบบหลักประกันสุขภาพให้มีมาตรูฐานเดียวกันและไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยเพิ่มเติมในทุกกรณี (6) ด้านสินค้าและบริการทั่วไป [ซื้อสินค้าชำรุด ผู้บริโภคต้องซ่อมได้ เปลี่ยนได้ คืนได้ เร่งใช้พระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... (กฎหมายมะนาว)4 และเร่งจัดระเบียบการค้าและการเงินออนไลน์ ผู้บริโภคต้องไม่ถูกโกง] โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น 1) ขอให้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติความรับผิดฯ 2) ให้มีมาตรการในการควบคุมผู้ขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ให้แสดงเลขทะเบียนพาณิชย์ ชื่อร้านค้า ที่อยู่ และเงื่อนไขในการรับประกันสินค้าที่ชัดเจน และ 3) ควบคุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศที่นำมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าราคาท้องตลาด (7) ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ [การแก้ไขปัญหาภัยคุกคามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS)] โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น 1) พิจารณาภาพรวมการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และข้อความสั้นหลอกลวง ภายใต้กฎระเบียบของแต่ละหน่วยงานในการพิจารณาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติม และ 2) เพิ่มช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเตือนภัยให้กับประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพ และ (8) ด้านการบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม [เช่น กิจการไฟฟ้า กิจการน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม (LPG) การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อนและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม] โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น 1) สนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปให้กับครัวเรือน โดยให้นำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมาใช้ลดหย่อนภาษี 2) ยกเลิกโครงสร้างราคา “ค่าขนส่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง” 3) ยกเลิกสูตรราคาอิงราคาตลาดโลก ที่ต้องบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มและกำหนดราคาจัดหา ณ คลังก๊าซใหม่ โดยใช้แบบเฉลี่ยต้นทุนราคาที่แท้จริง และ 4) การกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Zera Carbon) ในปี 2593 (ค.ศ. 2050)
4. รายงานการเงินของ สอบ. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยบริษัท เอ.ซี คลัภย์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีของ สอบ. ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่างบการเงินที่แสดงฐานะการเงินของ สอบ. สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
_____________________
1ประกอบด้วย (1) ด้านการเงินและการธนาคาร (2) ด้านการขนส่งและยานพาหนะ (3) ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (4) ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (5) ด้านบริการสุขภาพ (6) ด้านสินค้าและบริการทั่วไป (7) ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ (8) ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
2หน่วยงานเขตพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ เขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3หน่วยงานประจำจังหวัด 14 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสตูล เชียงราย ลำปาง ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม พะเยา สุราษฎร์ธานี ลำพูน สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ร้อยเอ็ด และกรุงเทพมหานคร
4คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 พฤศจิกายน 2565) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดฯ ดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 กรกฎาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7366