ร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 21 June 2023 00:16
- Hits: 48
ร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
1. ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. ....
2. ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....
3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพิสัย พ.ศ. .... จำนวน 3 ฉบับ ที่ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงและร่างระเบียบ
ร่างกฎกระทรวงและร่างระเบียบ จำนวน 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 สรุปได้ดังนี้
1. ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐานและการชี้แจงหรือ แก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาในกระบวนการพิจารณาความผิดทางพินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ สรุปได้ดังนี้
1.1 ได้กำหนดบทนิยามสำคัญ เช่น
(1) “การกล่าวหา” หมายความว่า การที่บุคคลใดได้แจ้งต่อข้าราชการและพนักงานของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ว่ามีการกระทำความผิดทางพินัยขึ้น โดยรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม และจะแจ้งเป็นหนังสือหรือด้วยวาจา หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม
(2) “ข้าราชการและพนักงานของหน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายที่กำหนดความผิดทางพินัยบัญญัติให้มีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ บรรดาที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(3) “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน นายทะเบียน คณะบุคคล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น บรรดาที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจปรับพินัยหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย
1.2 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสวงหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางพินัย เพื่อให้รู้ว่ามีการกระทำความผิดทางพินัยหรือไม่และใครเป็นผู้กระทำความผิดและในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐพบเห็นว่ามีบุคคลกำลังกระทำความผิดทางพินัย หรือแทบจะไม่มีความสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดทางพินัย และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหาพร้อมทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแจ้งด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิจะให้การทันทีหรือจะให้ถ้อยคำภายหลังภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งก็ได้ หากผู้ถูกกล่าวหายอมรับสารภาพและมิได้มีข้อโต้แย้ง ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบันทึกการรับสารภาพและการไม่โต้แย้งนั้นไว้และให้ผู้กระทำความผิดลงนามไว้เป็นหลักฐาน แล้วออกคำสั่งปรับเป็นพินัย
1.3 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาในกระบวนการพิจารณาความผิดทางพินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนี้
(1) การชี้แจง การแก้ข้อกล่าวหา หรือการยอมรับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ถูกกล่าวหาจะทำเป็นหนังสือ หรือทำด้วยวาจา หรือทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นผู้วิกลจริตในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระงับการแสวงหาข้อเท็จจริงไว้จนกว่าผู้นั้นจะหายวิกลจริต ในกรณีที่คดีขาดอายุความก่อนที่ผู้นั้นจะหายวิกลจริต ให้ยุติเรื่องและจำหน่ายคดีจากสารบบ
(2) การดำเนินการใดๆ ในคดีความผิดทางพินัยที่มีบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี เป็น ผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา หรือพยาน เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ
(3) การพิจารณาและออกคำสั่งปรับเป็นพินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาการส่งคำชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา หากมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทำให้การพิจารณาและออกคำสั่งไม่แล้วเสร็จ ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีอำนาจขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่จะขยายระยะเวลาเกิน 2 ครั้งไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง
(4) ในกรณีที่จะฟ้องคดีต่อผู้ถูกกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการอย่างช้าไม่น้อยกว่า 45 วันก่อนวันที่คดีจะขาดอายุความ
2. ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้การชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ชำระตามจำนวนที่ระบุไว้ในคำสั่งปรับเป็นพินัยหรือคำสั่งให้ผ่อนชำระ ณ สถานที่หรือโดยวิธีการที่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบกฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยกำหนดไว้ในคำสั่งดังกล่าวผ่านช่องทาง ได้แก่
2.1 ธนาคาร
2.2 หน่วยบริการรับชำระเงินที่เป็นของรัฐหรือเอกชนตามที่หน่วยงานของรัฐกำหนด
2.3 เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM)
2.4 บัตรอิเล็กทรอนิกส์
2.5 โมไบล์แบงกิง (Mobile Banking)
2.6 อินเทอร์เน็ตแบงกิง (Internet Banking)
2.7 สถานที่หรือวิธีการอื่นใดที่สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
ทั้งนี้ โดยพิจารณาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ได้โดยสะดวกอย่างน้อย 1 ช่องทางและหน่วยงานของรัฐจะเรียกค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าปรับเป็นพินัยไม่ได้
3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... เป็นการวางระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ สรุปได้ดังนี้
3.1 กำหนดบทนิยามคำว่า "คณะกรรมการ" หมายความว่าคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง
3.2 กำหนดหลักการทั่วไปให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีช่องทางติดต่อสื่อสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นใด ในการยื่นคำร้อง คำรับสารภาพ คำชี้แจง คำแก้ข้อกล่าวหา การปฏิเสธข้อกล่าวหา การแจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารอื่นใด ต่อหน่วยงานของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
3.3 กำหนดให้ในการดำเนินการปรับเป็นพินัย เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจขยายระยะเวลาและดำเนินการส่วนหนึ่งส่วนใดที่ล่วงมาแล้วเสียใหมได้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นเองหรือผู้ถูกกล่าวหามีคำร้องขอว่าตนไม่อาจกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ เพราะมีพฤติการณ์ที่จำเป็นอันมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของตน
3.4 กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัย และการผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัย
(1) กำหนดให้ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิดทางพินัย การกำหนดจำนวนค่าปรับเป็นพินัยต้องไม่ต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยกำหนดไว้ และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยมีฐานะยากจนและกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อยังชีพของตนและครอบครัว ให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยในอัตราต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาทหรือไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้
(2) กำหนดให้ในการพิจารณาผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพิจารณาฐานะการเงิน รายได้ รายจ่าย และภาระหนี้สินของผู้กระทำความผิดทางพินัย ทั้งนี้ การผ่อนชำระต้องเสร็จสิ้นก่อนขาดอายุอายุความ ซึ่งไม่น้อยกว่าหกสิบวัน
3.5 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องจัดทำรายงานการสั่งปรับเป็นพินัยตามรอบระยะเวลา เป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี และข้อมูลตามที่กำหนดและในการจัดทำสรุปผลการปรับเป็นพินัยเพื่อเปิดเผยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างน้อยต้องระบุจำนวนคดีที่มีคำสั่งปรับเป็นพินัย จำนวนคดีที่ยุติการพิจารณากำหนดค่าปรับเป็นพินัย จำนวนคดีที่พนักงานอัยการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาล จำนวนเงินค่าปรับเป็นพินัยทั้งหมดที่มีคำสั่งปรับเป็นพินัยและจำนวนเงินค่าปรับเป็นพินัยทั้งหมดที่ได้รับการชำระ เป็นต้น โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถประมวลได้
3.6 กำหนดหลักเกณฑ์การออกประกาศกำหนดบัญชีรายชื่อข้าราชการและพนักงานของหน่วยงานรัฐมีอำนาจปรับเป็นพินัย โดยกำหนดให้ในกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยมิได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดมีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นประกาศกำหนดบัญชีรายชื่อตำแหน่งข้าราชการและพนักงานของหน่วยงานของรัฐที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับชำนาญการขึ้นไปหรือเทียบเท่าเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย โดยในกรณีที่กฎหมายกำหนดอัตราค่าปรับเป็นพินัยสูงสุดไว้ไม่เกิน 10,000 บาท รัฐมนตรีจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาการปรับเป็นพินัยก็ได้ การพิจารณาปรับเป็นพินัยที่ต้องทำเป็นองค์คณะ ให้องค์คณะประกอบด้วย หัวหน้าองค์คณะหนึ่งคนและองค์คณะอีกไม่น้อยกว่า 2 คน
3.7 คำสั่งปรับเป็นพินัยหรือยุติการปรับเป็นพินัยต้องทำเป็นหนังสือ ระบุวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยหรือลายมือชื่อขององค์คณะทุกคน
3.8 ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการปรับเป็นพินัยไว้เป็นหลักฐาน แต่จะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในทางที่เป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางพินัยในเรื่องอื่นที่มิใช่การพิจารณากำหนดค่าปรับเป็นพินัยหรือการจัดทำรายงานดังกล่าวมิได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การเก็บรักษาข้อมูลให้จัดเก็บโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
3.9 กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐอาจกำหนดระเบียบปฏิบัติเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายและระเบียบนี้ โดยให้คำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องจนเกินสมควร
3.10 กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับหากมีกรณี ที่ไม่อาจปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้หรือการปฏิบัติตามระเบียบนี้ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องจนเกินสมควร หัวหน้าหน่วยงานของรัฐอาจขออนุมัติคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย เพื่อดำเนินการแตกต่างจากระเบียบนี้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้ และให้คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยมีอำนาจอนุมัติให้ดำเนินการแตกต่างจากระเบียบนี้ได้ตามที่จำเป็น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 มิถุนายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6687