ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 21 June 2023 00:12
- Hits: 51
ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ตช. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 โดยมาตรา 33 บัญญัติให้มี ก.พ.ค.ตร. คณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง มาตรา 41 บัญญัติให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และให้มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารระดับสูง และมาตรา 181 วรรคสี่ บัญญัติให้การดำเนินการแต่งตั้ง ก.พ.ค.ตร. ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งขณะนี้ ตช. อยู่ระหว่างดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการ ก.พ.ค.ตร.
2. ตช. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... เพื่อกำหนดการได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. โดยมีหลักการและอัตราเช่นเดียวกับของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กรรมการ ก.พ.ค.) ตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2561 รวมทั้งมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล หรือการประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และได้รับเงินบำเหน็จตอบแทนตามระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง
3. การกำหนดเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ตามร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ แม้จะส่งผลให้ ตช. มีค่าใช้จ่ายงบประมาณบุคลากรเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ตช. สามารถถัวเฉลี่ยจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายงบประมาณบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจากงบประมาณประจำปีที่ ตช. ได้รับจัดสรร (งบบุคลากร) จึงไม่กระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของ ตช. แต่อย่างใด และการดำเนินการในเร่องนี้เป็นไปโดยสอดคล้องกับมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี (21 มีนาคม 2566) เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำหนดแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับการออกกฎหมายในระหว่างยุบสภาผู้แทนราษฎรว่า การเสนอร่างกฎหมายใหม่โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติซึ่งเป็นเรื่องในทางนโยบายไม่สมควรดำเนินการเสนอในระหว่างยุบสภาผู้แทนราษฎร ส่วนร่างอนุบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบ เป็นต้น ซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ย่อมดำเนินการได้ตามปกติ กรณีการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวของ ตช. เป็นการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 33 มาตรา 41 และมาตรา 181 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ได้ให้อำนาจไว้
4. ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ ตช. เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกา ประกอบกับในการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง เห็นชอบด้วยในหลักการของร่าง พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
5. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว เห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการกำหนดการได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. สรุปได้ดังนี้
1. ให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ดังนี้
ตำแหน่ง |
เงินประจำตำแหน่ง (บาท/เดือน) |
เงินเพิ่ม (บาท/เดือน) |
หมายเหตุ |
ประธานกรรมการ ก.พ.ค.ตร. |
80,540 |
42,500 |
อัตราเดียวกับ ปธ. ก.พ.ค. และกรรมการ ก.พ.ค. ตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2561 |
กรรมการ ก.พ.ค.ตร. |
76,800 |
41,500 |
2. กำหนดให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลหรือการประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีและให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและระเบียบกระทรวงการคลังซึ่งออกตามความในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ค่ารักษาพยาบาลของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ตามพระราชกฤษฎีกานี้โดยอนุโลม (หลักการเดียวกับสิทธิของกรรมการ ก.พ.ค.)
3. ให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปีบริบูรณ์มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุออกตามวาระลาออก และมีอายุครบ 75 ปี
ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ คูณด้วยระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพื่อคำนวณบำเหน็จตอบแทน ให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนไม่ได้ (หลักการเดียวกับสิทธิของกรรมการ ก.พ.ค.)
4. ในกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค.ตร. พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุถึงแก่ความตาย ไม่ว่าผู้นั้นจะดำรงตำแหน่งครบ 1 ปีบริบูรณ์หรือไม่ ให้จ่ายบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียว ตามระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งให้แก่ทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย (หลักการเดียวกับสิทธิของกรรมการ ก.พ.ค.)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 มิถุนายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6686