WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผลการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19)

GOV 7

ผลการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19)

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบทั้ง 2 ข้อ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

          1. รับทราบผลการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์1 ครั้งที่ 19 (The 19th Meeting of the Conference of the Parties to the Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES CoP19)

          2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการและให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศและ สำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง

          ทส. รายงานว่า ผลการประชุม CITES CoP19 ระหว่างวันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงปานามา ซิตี้ สาธารณรัฐปานามา โดยมีผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ มีข้อเสนอ (Proposals) และเอกสารการดำเนินงาน (Working Documents) ที่เกี่ยวข้องกับไทย มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

          1. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอขอบรรจุ ถอดถอน หรือเลื่อนบัญชีชนิดพันธุ์ในบัญชี 1 และ 2 โดยข้อเสนอสำคัญที่เกี่ยวข้องกับไทยในฐานะเป็นประเทศถิ่นแพร่กระจายและเป็นประเทศที่มีการค้าภายในประเทศซึ่งชนิดพันธุ์ดังกล่าว ดังนี้

                    1.1 ชนิดพันธุ์ที่ถูกบรรจุให้อยู่ในบัญชี 2 ได้แก่ นกกางเขนดง ตะกอง (กิ้งก่ายักษ์) ปลาฉลามทุกชนิดในวงศ์ Carcharhinidae ปลาฉลามหัวค้อน ในวงศ์ Sphyrnidaeปลาโรนันทุกชนิด และปลิงทะเล ทุกชนิดในสกุล Thelenota

                    1.2 ชนิดพันธุ์ที่ถูกขอปรับจากบัญชี 2 เป็นบัญชี 1 คือ นกปรอดแม่ทะ

                    1.3 การแก้ไขคำอธิบายแนบท้าย (Annotation) ของพืชวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) เพิ่มข้อยกเว้น เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของส่วนหรือสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกล้วยไม้2ชนิด Cycnoches cooperi, Gastrodia elata, Phalaenopsis amabilis หรือ Phalaenopsis lobbi 

                    นอกจากนี้ สำหรับข้อเสนอของไทยที่เสนอขอปรับจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Siamese crocodile) จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมประมง โดยมีโควตาเป็นศูนย์ ซึ่งตัวอย่างชนิดพันธุ์ที่ได้มาจากธรรมชาติ3 ไม่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุม4

          2. ที่ประชุมมีมติที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเอกสารการดำเนินงาน ซึ่งมีวาระที่เกี่ยวข้องกับไทย ดังนี้

ประเด็น

 

สาระสำคัญ

ผู้แทนภูมิภาคของคณะกรรมการด้านพืช5

 

ผลการคัดเลือกผู้แทนฯ สำหรับภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย ผู้แทนหลัก 2 ราย จากสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินโดนีเซียและผู้แทนสำรอง 2 รายจากไทยและประเทศสิงคโปร์

รายงานการค้าสัตว์ป่าพืชป่าโลก (World Wildlife Trade Report)

 

รับทราบรายงานฯ ฉบับริเริ่ม และรับรองร่างข้อตัดสินใจโดยให้สำนักเลขาธิการ CITES ออกหนังสือแจ้งเวียนภาคีเพื่อขอความเห็นต่อรายงานฯ ฉบับริเริ่ม แล้วรายงานให้คณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES (Standing Committee: SC)6 ทราบเพื่อเสนอแนะต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 20

ช้าง (Elephants)

 

 

 

 

 

การค้าตัวอย่างพันธุ์ช้าง : ที่ประชุมเห็นชอบร่างข้อตัดสินใจที่มีการปรับแก้โดยให้ทุกภาคีรายงานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง (มิใช่เฉพาะภาคีที่เป็นถิ่นแพร่กระจายช้างเอเชีย) รวมทั้งให้เพิ่มประเด็นความร่วมมือกับประเทศถิ่นแพร่กระจายและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบการลงทะเบียน การทำเครื่องหมาย และการตรวจสอบย้อนกลับ

 

สต็อกงาช้าง : ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อตัดสินใจ 3 ข้อที่แก้ไขโดยสำนักเลขาธิการ CITES ได้แก่ (1) ให้ภาคีส่งข้อมูลสต็อกงาช้างให้ครบถ้วนไปยังสำนักเลขาธิการ CITES ทุกปี และให้ภาคีมั่นใจว่ามีเงินทุนการเสริมสร้างศักยภาพ และการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าสต็อกงาช้างมีการตรวจนับและได้รับการรักษาความปลอดภัย รวมถึงมีการจัดการอย่างเหมาะสม (2) ให้สำนักเลขาธิการ CITES ระบุภาคีที่ไม่ส่งข้อมูลสต็อกงาช้างทั้งของรัฐและของเอกชนที่มีปริมาณมากหรือข้อมูลสต็อกงาช้างที่ไม่ได้รับการรักษาความปลอดภัยที่ดี และรายงานให้ SC ทราบ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลสรุปประจำปีเป็นภาพรวมข้อมูลน้ำหนักสต็อกงาช้างของภูมิภาค และ (3) ให้ SC พิจารณารายงานและข้อเสนอแนะจากสำนักเลขาธิการ CITES เพื่อตัดสินใจว่าภาคีที่ไม่รายงานการตรวจนับสต็อกงาช้างประจำปี หรือไม่มีการรักษาความปลอดภัยสต็อกที่ดีพอจะต้องมีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติมหรือไม่

 

ระบบข้อมูลการค้าช้าง (Elephant Trade Information System: ETIS) ที่ประชุมมีมติรับทราบรายงาน ทั้งนี้ ภาคีควรแบ่งปันข้อมูลผลการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ระบุแหล่งที่มาของงาช้างของกลาง (หากมี) ให้กับ ETIS

 

การปิดตลาดการค้างาช้างภายในประเทศ : ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อตัดสินใจที่แก้ไขโดยสำนักเลขาธิการ CITES โดยให้มีการหารือความเป็นไปได้ในการวิเคราะห์ข้อมูลการตรวจยึดงาช้างที่เชื่อมโยงกับตลาดการค้างาช้างภายในประเทศ และวิเคราะห์ในรายงาน ETIS พร้อมทั้งรายงานไปยัง SC และที่ประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 20

 

กระบวนการแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ (National Ivory Action Plan process: NIAP)7 : ที่ประชุมมีมติรับรองร่างข้อตัดสินใจที่จัดทำใหม่โดยคณะทำงานที่ตั้งขึ้นในช่วงการประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 19 โดยให้สำนักเลขาธิการ CITES ทบทวนกระบวนการแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ แล้วรายงานให้ SC ทราบ และให้ SC ทบทวนรายงานและจัดเตรียมรายงานพร้อมข้อแนะนำเพื่อปรับปรุงกระบวนการ NIAP เสนอต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 20 พิจารณาต่อไป

คณะทำงานสัตว์ตระกูลเสือของ CITES (CITES Big Cats Task Force)

 

ที่ประชุมมีมติ ดังนี้

(1) ให้สำนักเลขาธิการ CITES จัดประชุมคณะทำงานสัตว์ตระกูลเสือของ CITES โดยให้มีการหารือประเด็นการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการค้าผิดกฎหมายซึ่งสัตว์ตระกูลเสือ และรายงานผลไปยัง SC

(2) ให้ SC พิจารณารายงานการดำเนินการจากสำนักเลขาธิการ CITES และให้ข้อเสนอแนะต่อสำนักเลขาธิการ CITES และประเทศต้นทางทางผ่าน และปลายทางของสัตว์ตระกูลเสือพร้อมรายงานต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 20 และเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ CITES เพื่อแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องรับทราบ

สัตว์ตระกูลเสือของเอเชีย (Asian Big Cats)

 

ที่ประชุมมีมติรับรอง ดังนี้

(1) การแก้ไขมติที่ประชุมที่ 12.5 โดยให้ประเทศผู้บริโภคเสือโคร่งและสัตว์ตระกูลเสือของเอเชียชนิดอื่นๆ ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ด้านการตลาดและการสื่อสาร เพื่อหยุดความต้องการซากและอนุพันธ์จากสัตว์ตระกูลเสือ (เช่น หนังนำมาทำพรม เขี้ยว/เล็บนำมาทำเครื่องประดับ กระดูกเสือนำมาดองเหล้า และซากนำมาทำสตัฟฟ์สัตว์) และริเริ่มการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลการสร้างกลไกการติดตามตรวจสอบที่เข้มแข็งเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินการดังกล่าว

(2) ร่างข้อตัดสินใจโดยให้ภาคีแจ้งสำนักเลขาธิการ CITES เกี่ยวกับโครงการวิจัยด้านพันธุกรรมที่ดำเนินการในประเทศ เน้นการพัฒนาเทคนิคเพื่อสนับสนุนการจัดการการค้าสัตว์ตระกูลเสือที่ผิดกฎหมาย ให้กฎหมายของชาติมีประเด็นแบ่งปันข้อมูลสารพันธุกรรม (Deoxyribonucleic acid: DNA) สัตว์ตระกูลเสือกับโครงการวิจัยพันธุกรรม และรับทราบว่าภาคีสามารถเข้าถึงวิธีการและเครื่องมือการจำแนกเสือโคร่งและระบุตัวตนที่วิเคราะห์จากซากเสือโคร่งและอนุพันธ์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายซึ่งพัฒนาโดยสาธารณรัฐเช็ก

ลิ่น (Pangolins)

 

ที่ประชุมเห็นชอบต่อร่างมติที่ประชุม โดยภาคีที่เป็นประเทศถิ่นแพร่กระจายและประเทศทางผ่าน ควรมีการควบคุมการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อจัดการการค้าลิ่นผิดกฎหมาย รวมถึงให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งด้านการบังคับใช้กฎหมายในเขตชายแดนสำคัญ สนับสนุน และ/หรือพัฒนาการดำเนินการเครือข่ายบังคับใช้กฎหมายของภูมิภาค (หากเป็นไปได้)

งบประมาณและโปรแกรมงาน ปี 2566-2568

 

ที่ประชุมมีมติรับรองมติที่ประชุมเกี่ยวกับการเงินและแผนการประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการ CITES ในช่วงปี 2566-2568 ตามอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของเงินค่าอุดหนุนการเป็นสมาชิกอนุสัญญา CITES ของไทย8 จากเดิม 61,712 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 3 ปี (1,927,265.76 บาทต่อ 3 ปี)* เป็น 70,717 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 3 ปี (2,437,614.99 บาทต่อ 3 ปี)** หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ย จากเดิม 20,571 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (642,432.33 บาทต่อปี) เป็น 23,572 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (809,827.85 บาทต่อปี)**

การประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 20

 

มีกำหนดจะจัดขึ้นในปี 2568 (.. 2025) ซึ่งยังไม่มีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ9

หมายเหตุ : * 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 31.23 บาท อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563

                  ** 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 34.47 บาท อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. ณ วันที่ 11 เมษายน 2566

 

          3. เพื่อให้การดำเนินการตามอนุสัญญา CITES ของไทยเป็นไปตามมติที่ประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 19 จึงเห็นควรเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

ประเด็น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1. พิจารณาจัดทำและเสนอร่างประกาศ ทส. เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก และร่างประกาศ กษ. เรื่อง พืชอนุรักษ์ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงบัญชีชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าในการประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 19

กษ. และ ทส.

 

2. จัดทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ตามที่ถูกร้องขอ10 ส่งสำนักเลขาธิการ CITES ตามกำหนดเวลา

3. กำหนดมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อควบคุมประชากรเสือในกรงเลี้ยงและควบคุมไม่ให้ตัวอย่างพันธุ์ของเสือในกรงเลี้ยงออกไปสู่การค้าที่ผิดกฎหมาย

ทส.

4. ขอสงวนสิทธิ (Reservation) ชนิดพันธุ์ที่พบว่ามีการค้ามากในไทยที่มีการบรรจุอยู่ในบัญชี CITES หรือปรับเลื่อนบัญชี ได้แก่ ปลาฉลามทุกชนิดในวงศ์ Carcharhinidae

กษ.

5. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนการเป็นสมาชิกอนุสัญญา CITES ที่ถูกปรับเพิ่มขึ้น

ทส.

หมายเหตุ : จากการประสาน ทส. และ กษ. (กรมประมง) แจ้งว่า ในประเด็นที่ประชุมฯ ไม่เห็นชอบการนำเสนอขอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยจากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2 กษ. ในฐานะหน่วยงานหลักจะจัดประชุมเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

          4. สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหลังยุบสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งหลังจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทส. ได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่าในประเด็นของเงินอุดหนุนรายปีการเป็นสมาชิกอนุสัญญา CITES ประเทศสมาชิกจะต้องจ่ายเงินอุดหนุนรายปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการ CITES โดยได้ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนการเป็นสมาชิกฯ ไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อเนื่องทุกปี สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนการเป็นสมาชิกฯ เรียบร้อยแล้วเป็นจำนวนเงิน 820,798.44 บาท (23,572 ดอลลาร์สหรัฐ) และได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับเงินอุดหนุนการเป็นสมาชิกฯ ของปี 2567 เสนอตามขั้นตอนแล้ว

__________________

1 อนุสัญญา CITES มีภาคีทั้งสิ้น 183 ประเทศ ไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 80 โดยอนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เป็นการปกป้องและคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชพรรณป่าจากการใช้ประโยชน์เพื่อการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมากจนอาจทำให้สัตว์และพืชบางชนิดสูญพันธุ์ได้ โดยภายใต้อนุสัญญาฯ ประเทศสมาชิกต้องจัดให้มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ใช้บังคับตามข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ โดยการห้ามทำการค้าพันธุ์พืชและสัตว์ที่เป็นการละเมิดอนุสัญญาฯ และมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจะจัดประชุมทุก 2-3 ปี เพื่อทบทวนการนำข้อบังคับของ CITES ไปใช้ ตลอดจนเพื่อทบทวนความเหมาะสมของบัญชีสัตว์และพืชที่อยู่ในอนุสัญญาฯ ด้วย

2 จากการประสานกรมวิชาการเกษตร (กษ.) แจ้งว่า การแก้ไขคำธิบายแนบท้ายจะเป็นการแก้ไขข้อความในส่วนของบัญชีพืชของ CITES ซึ่งการเพิ่มข้อยกเว้นนั้น หมายถึง ถ้าเครื่องสำอางนั้นมีการใช้สารสกัดจากชนิดกล้วยไม้ชนิดดังกล่าว ไม่ต้องขออนุญาตการนำเข้าส่งออกจาก CITES แต่ถ้าเป็นต้นของชนิดกล้วยไม้ดังกล่าวยังคงต้องทำการขออนุญาตในการนำเข้าส่งออก

3 โควตาเป็นศูนย์ ซึ่งตัวอย่างชนิดพันธุ์ที่ได้มาจากธรรมชาติ หมายถึง จะไม่มีการนำชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติมาทำการค้าขาย และส่งออกในเชิงพาณิชย์ จะดำเนินการเฉพาะชนิดพันธุ์ที่มาจากการเพาะพันธุ์เท่านั้น

4 จากการประสาน ทส. และ กษ. (กรมประมง) แจ้งว่า การที่ข้อเสนอไม่ผ่านการพิจารณา เนื่องจากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปริมาณจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในธรรมชาติมีเพียงพอจนไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (ปัจจุบันยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด) แต่หากช้อเสนอผ่านการพิจารณาจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเป็นผลในเชิงบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในตลาดโลก และยังลดการกีดกันทางการค้ากับกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ในที่ประชุมฯ ไทยได้ขอให้สำนักเลขาธิการ CITES ตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ข้อแนะนำแก่ไทยในการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานที่จะสนับสนุนให้สามารถปรับลดบัญชีลงมาป็นบัญชี 2 ได้ในอนาคตหรือแนวทางอื่นในการสนับสนุนการค้าจระเข้ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น

5 คณะกรรมการด้านพืชมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์แก่องค์ประชุมภาคีคณะกรรมการและคณะทำงานชุดอื่นๆ และสำนักเลขาธิการ CITES และจะดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้การจำแนกประเภทชนิดพันธุ์ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญามีความเหมาะสมอยู่เสมอ

6 คณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES (Standing Committee: SC) มีหน้าที่ให้คำแนะนำด้านนโยบายแก่สำนักเลขาธิการ CITES ประสานงานในการเตรียมจัดประชุมภาคีอนุสัญญา กำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณและการระดมทุนของสำนักเลขาธิการ CITES และประสานงานและให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการและคณะทำงานอื่นๆ รวมถึงการจัดเตรียมร่างมติเพื่อให้องค์ประชุมภาคีพิจารณา

7 NIAP จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์ ป้องกัน และปราบปรามการค้างาช้างผิดกฎหมาย

8 จากการประสาน ทส. แจ้งว่า เงินค่าอุดหนุนการเป็นสมาชิกอนุสัญญา CITES ของไทยจะจ่ายเป็นปีต่อปี โดยในปี 2566 ได้ดำเนินการชำระเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566

9 จากการประสาน ทส. แจ้งว่า หากไม่มีประเทศใดเสนอเป็นเจ้าภาพ การประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 20 จะจัดขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสำนักเลขาธิการ CITES

10 จากการประสาน ทส. แจ้งว่า รายงานที่ต้องส่งสำนักเลขาธิการ CITES เช่น รายงานการค้าที่ผิดกฎหมายประจำปี (กำหนดส่ง 31 ตุลาคมของทุกปี) และรายงานสต็อกงาช้างในประเทศ (กำหนดส่ง 28 กันยายนของทุกปี) 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 มิถุนายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A6679

Click Donate Support Web  

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!