แนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 June 2023 23:09
- Hits: 614
แนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กค. สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สถานการณ์ในภาพรวมเกี่ยวกับเอทานอลของประเทศไทย
1.1 ปริมาณการผลิตเอทานอลของไทยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565*
มีปริมาณการผลิตทั้งหมดประมาณ 1,573 ล้านลิตร มีการนำเข้าเอทานอลประมาณ 10 ล้านลิตรและแบ่งผู้ผลิตเอทานอลในประเทศได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
ผู้ผลิตเอทานอล |
กำลังการผลิต (ล้านลิตร/ปี) |
ปริมาณการผลิต ปี 2565 (ล้านลิตร/ปี) |
(1) ผู้ผลิตภายในประเทศ |
|
|
1) องค์การสุรา |
22 |
15 |
2) ผู้ผลิตเอทานอลเพื่อส่งออก |
260 |
54 |
3) ผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง |
2,841 |
1,504 |
(2) ผู้นำเข้า |
- |
10 |
รวม |
3,123 |
1,583 |
1.2 ความต้องการใช้เอทานอลของไทยในปี 2565
ผู้ใช้เอทานอล |
ปริมาณเอทานอลที่ใช้ ปี 2565 (ล้านลิตร/ปี) |
(1) เพื่อใช้ในประเทศ |
|
1) เอทานอลเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรม |
30 |
2) เอทานอลเพื่อการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ |
20 |
3) เอทานอลแปลงสภาพเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ |
46 |
4) เอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง |
1,483 |
(2) เพื่อส่งออก |
4 |
รวม |
1,583 |
1.3 นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องและแนวโน้มอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจึงได้มีการกำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น การส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและการสนับสนุนให้ภาคยานยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงได้ ทำให้ปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและแนวโน้มการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ประกอบกับกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงยังคงมีกำลังการผลิตคงเหลือเนื่องจากการผลิตในปัจจุบันยังไม่เต็มกำลังการผลิต โดยมีกำลังการผลิตส่วนเกินของเอทานอลประมาณ 1,337 ล้านลิตร ประกอบกับไทยได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ และการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ส่งผลให้เกิดการตระหนักถึงการปรับตัวและการพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อนำเอทานอลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 450 ล้านลิตรต่อปี จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว
2. แนวทางการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุราโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนา BCG Model ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 สรุปได้ ดังนี้
2.1 การจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลเพื่อให้การอนุญาตนำเอทานอลแปลงสภาพหรือบริสุทธิ์ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นที่นอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ) จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานความยั่งยืนของการผลิตเอทานอลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน และให้มีการจัดตั้งหน่วยรับรองเพื่อกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนของการผลิตเอทานอลด้วย
2.2 การจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล โดยกำหนดรายละเอียดของปริมาณเอทานอลที่ต้องส่งมอบและระยะเวลาอย่างชัดเจน เพื่อเป็นกลไกการจัดซื้อและจัดหาเอทานอลล่วงหน้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และผู้ใช้เอทานอลจะต้องซื้อเอทานอลที่ผลิตในประเทศ หากปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอจึงจะสามารถนำเข้าเอทานอลได้
2.3 การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดปริมาณการซื้อขายเอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้าในแต่ละปีให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล และกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าอัตราพิเศษจากการนำเข้าเอทานอลเพื่อนำมาใช้ในการผลิตเอทิลีนชีวภาพสำหรับสินค้าพลาสติกชีวภาพ
2.4 การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศให้สามารถผลิตเอทานอลที่มีคุณภาพและมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพื่อให้สามารถแข่งขันกับเอทานอลนำเข้าได้อย่างยั่งยืน
2.5 การออกกฎหมายและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ กค. (กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร) พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.5.1 ให้กรมสรรพสามิตแก้ไขกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565เพื่ออนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นชนิดเอทานอลสามารถนำเอทานอลไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่นได้
2.5.2 ให้กรมสรรพสามิตออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อเพิ่มพิกัดอัตราภาษีสำหรับสินค้าเอทิลีนชีวภาพซึ่งจะเป็นการกำกับดูแลและควบคุมการใช้เอทานอลในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่นและกำหนดให้อัตราภาษีศูนย์ เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG Model ในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปิโตรเลียมได้
2.5.3 ให้กรมศุลกากรออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดอัตราอากรขาเข้าในอัตราพิเศษสำหรับเอทานอลที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ทั้งนี้ เห็นควรให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้รับรองผู้ได้รับสิทธิและปริมาณเอทานอลที่ได้รับสิทธิที่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นด้วย เพื่อให้มีปริมาณเอทานอลเพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตเอทิลีนชีวภาพ
2.5.4 ให้กรมสรรพสามิตออกประกาศกรมสรรพสามิตเพื่อกำกับการใช้เอทานอลในอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงการให้สิทธิทางภาษี
___________________
*เอทานอลเป็นสินค้าควบคุมของกรมสรรพสามิต ดังนั้น ปริมาณการผลิตเอทานอลจึงมาจากปริมาณความต้องการของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับกรมสรรพสามิต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 มิถุนายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6408