WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566

GOV 14

รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566

           คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

           1. การประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566

                      1.1 เศรษฐกิจโลก

                                 1.1.1 เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.9 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากแรงส่งของภาคบริการของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรป ประกอบกับเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ขยายตัวหลังการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวทั้งในภาคการผลิตและบริการ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวขึ้นและการเปิดประเทศของจีนจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียในระยะต่อไป

                                 1.1.2 อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของประเทศเศรษฐกิจหลักยังสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ส่งผลให้นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงเข้มงวดเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

                      1.2 เศรษฐกิจไทย

                                 1.2.1 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28 และ 35 ล้านคน ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ประกอบกับการบริโภคของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น และการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566

                                 1.2.2 การบริโภคของภาคเอกชนในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและในปี 2567 คาดว่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.1 สอดคล้องกับรายได้แรงงานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

                                 1.2.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 จากปัจจัยด้านปริมาณซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีตามอุปสงค์โลก ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย ปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชีย

                                 1.2.4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

           2. ภาวะการเงิน

                      2.1 ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยตึงตัวขึ้นบ้างตามอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นซึ่งปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยคาดว่าปัญหาสถาบันการเงินจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนเนื่องจากปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

                      2.2 ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยไตรมาสก่อนเนื่องจากการประกาศเปิดประเทศของจีนและการคาดการณ์การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย ก่อนจะผันผวนตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักที่ไม่แน่นอน

           3. การดำเนินนโยบายการเงิน

                      3.1 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 25 มกราคม และ 29 มีนาคม 2566 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี และจากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี ตามลำดับ โดย กนง. เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี

                      3.2 ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพแต่ต้องติดตามพัฒนาการตลาดการเงินโลกและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งนี้ กนง. เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของมาตรการแก้หนี้ระยะยาวและมาตรการปรับโครงสร้างหนี้

                      3.3 กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 มิถุนายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A6407

Click Donate Support Web  

MTL 720x100

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!