ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 June 2023 22:47
- Hits: 644
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเพิ่มมูลค่าสมุนไพรด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ปัจจุบันสมุนไพรได้รับความสนใจในการนำมาใช้ประโยชน์ทางสุขภาพและสุขภาวะเป็นอย่างมาก หน่วยงานภาครัฐและหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความพยายามในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเครื่องสำอาง/เวชสำอางของประเทศไทย ให้มีโอกาสและความสามารถในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 ข้อเสนอเชิงนโยบาย (1) การกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมาย (Plan) ควรมีการกำหนดนโยบายการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง/เวชสำอางขึ้น โดยกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หน่วยงานรับผิดชอบรอง (2) การจัดสรรงบประมาณโดยดูผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง (Performance Budget) ควรมีการขับเคลื่อนนโยบายโดยจัดสรรงบประมาณให้มีความสอดคล้องกัน (3) เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร (People) ควรให้ความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัย และจำเป็นแก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรและบุลคลที่เกี่ยวข้อง (4) กระบวนการผลิต (Process) ควรมีการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการเตรียมสารสกัดเพื่อลดต้นทุน (5) การควบคุมมาตรฐานและการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ (Proof) ควรเร่งพัฒนาสถาบันวิจัยต่างๆ หรือห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบทั้งของหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาให้มีมาตรฐาน (6) ผลิตภัณฑ์ (Product) ควรให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ (7) การส่งเสริมผู้ประกอบการ (Promotion) ควรมีการผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ พัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ (8) สถานที่จำหน่าย (Place) ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางที่หลากหลาย เข้าถึงง่าย และ (9) ราคาของผลิตภัณฑ์ (Price) ควรมีการกำหนดราคาของสมุนไพร และผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ให้มีความเหมาะสม
1.2 ข้อเสนอเชิงนิติบัญญัติ ควรมีการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สธ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามข้อ 2 แล้ว เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดยสรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
ข้อเสนอเชิงนโยบาย 1. การกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมาย (Plan) ควรมีการกำหนดนโยบายการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง/เวชสำอางขึ้น โดยกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หน่วยงานรับผิดชอบรอง เน้นการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกัน |
- อว. โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเวชสำอางในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 5 “การพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการดำเนินงานด้านสมุนไพรตามนโยบายส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรเครื่องสำอาง/เวชสำอาง เช่น ส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจร ว่านสาวหลง ขมิ้น พร้อมทั้งสามารถสกัดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง เช่น ครีม เซรั่ม แชมพู เป็นต้น |
|
2. การจัดสรรงบประมาณโดยดูผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง (Performance Budget) ควรมีการขับเคลื่อนนโยบายโดยจัดสรรงบประมาณให้มีความสอดคล้องกัน การจัดสรรงบประมาณควรพิจารณาการดำเนินการระยะยาว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสมุนไพรแต่ละชนิดที่ชัดเจน | - ศลช. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการแพทย์และสุขภาพ ได้มีการจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพรและเวชสำอางสมุนไพร เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็น Hub และ Herbal Extracts สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเครื่องสำอาง/เวชสำอางแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมและมีโครงการที่ดำเนินการวิจัยการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเครื่องสำอาง/เวชสำอางที่พร้อมถ่ายทอดแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีการดำเนินการพัฒนาระบบปลูกในระดับห้องปฏิบัติการและทดลองปลูกในแปลงร่วมกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยหรือรัฐวิสาหกิจชุมชน และกรมพัฒนาชุมชนมีการจัดสรรงบประมาณโดยพิจารณาการพัฒนาเฉพาะกลุ่ม เช่น พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐานประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร | |
3. เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร (People) ควรให้ความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัย และจำเป็นแก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรและบุลคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรให้มีความรู้และทักษะด้านการปลูกและการจัดการสมุนไพรที่สูงขึ้นเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง | - สธ. โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรได้มาตรฐาน 67,010 ไร่ พืชสมุนไพร 88 ชนิดพืชได้รับรองแปลงอินทรีย์จำนวน 15,037 ไร่ เป็นต้น กรมวิชาการเกษตร มีการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อเข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐาน GAP/GACP และอินทรีย์ที่มีความจำเป็นที่จะช่วยแก้ปัญหาการผลิตไม่ได้มาตรฐานและ สวทช. มีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านการปลูก ได้แก่ คุณสมบัติของดินที่ดีในการปลูกพืชและสมุนไพร | |
4. กระบวนการผลิต (Process) ควรมีการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการเตรียมสารสกัดเพื่อลดต้นทุนการสกัดและเพิ่มนวัตกรรมการสกัดส่งผลให้การสกัดสมุนไพรไทยมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นและมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ อีกทั้งควรเร่งพัฒนากระบวนการนำสารสกัดสมุนไพรบรรจุลงในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง/เวชสำอางรูปแบบต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยสถานที่ผลิตที่ได้มาตรฐานทั้งในระดับชาติและสากล | - หน่วยงานในสังกัด อว. เช่น สวทช. วว. ที่มีการสร้าง platform องค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการเตรียมสารสกัดมาตรฐาน เทคโนโลยีการสกัดที่เหมาะสม และจัดตั้ง Scale-up plant ของการสกัดสมุนไพรที่สามารถสกัดได้หลายวิธี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการให้บริการสกัดสารในรูปแบบ 1) การสกัดด้วยไอน้ำ สำหรับกลุ่มสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย 2) การสกัดด้วยตัวทำละลายสำหรับสมุนไพรทุกชนิด 3) วิเคราะห์สารสำคัญในสารสกัดสมุนไพร 4) แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง และยาแผนไทย | |
5. การควบคุมมาตรฐานและการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ (Proof) ควรเร่งพัฒนาสถาบันวิจัยต่างๆ หรือห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบทั้งของหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาให้มีมาตรฐานและความเพียงพอกับความจำเป็นและความต้องการของผู้ผลิต และผู้ประกอบการ | - กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ให้การสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการในหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาให้ได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และได้ดำเนินโครงการการพัฒนาหน่วยตรวจสอบในประเทศให้มีมาตรฐานเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่าย MHESI one stop service รวมถึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organizations ,SDOs) ประเภทขั้นสูงในสาขาผลิตภัณฑ์สมุนไพร จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สวทช. มีหน่วยงานให้การวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ ศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (TBES) และศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (NCTC) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีศูนย์วิจัยสมุนไพรให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบระดับห้องปฏิบัติการ | |
6. ผลิตภัณฑ์ (Product) ควรให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย คำสั่งและประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนด้านการวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน และยกระดับเครื่องสำอาง/เวชสำอาง | - วศ. มีการวิจัยและพัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรจากสมุนไพรชนิดต่างๆ โดยผ่านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ และถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรให้แก่ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรเพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดและสวทช. มีการดำเนินงานวิจัย พัฒนาโดยคำนึงถึงระเบียบ กฎหมาย และประกาศต่างๆ เพื่อควบคุมมาตรฐานคุณภาพต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาและได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ | |
7. การส่งเสริมผู้ประกอบการ (Promotion) ควรมีการผลักดันให้ผู้รับจ้างผลิตหรือ (Original equipment manufacturing : OEM) พัฒนาเป็นผู้รับจ้างผลิตพร้อมบริการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือ (Original design manufacturing : ODM) หรือผู้รับจ้างผลิตและมีตราสินค้าหรือแบรนด์เป็นของตนเองหรือ(Original brand manufacturing : OBM) โดยผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการเหล่านี้ เร่งคิดค้น พัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์จะทำให้เครื่องสำอาง/เวชสำอางไทยมีศักยภาพสูง สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ |
- อก. โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์การยกระดับมาตรฐานการผลิต (International Standard)ด้วยการจัดทำระบบมาตรฐานการผลิตระดับสากล และมีหน่วยบริการครบวงจร (DIPROM CENTER : DC) ที่ให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต จำนวน 13 แห่ง ทั่วประเทศ สธ. โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพรและได้จัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ผลิตสมุนไพร และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ตลอดจนดำเนินการให้คำปรึกษาและการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรด้านต่างๆ ทั้งในด้านคุณภาพการผลิต ในการจัดการ และการตลาด ความร่วมมือกันของผู้ประกอบการ กับภาคธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพร OEMกับบริษัทผู้รับจ้างผลิต อาทิ ยาแผนไทย ครีม เซรั่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจาก ขมิ้น กระชาย ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น และ พณ. โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญามีการขับเคลื่อนมีการพัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล โดยดำเนินการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญากว่า 7,900 รายและปรับการให้บริการจดทะเบียนให้มีความทันสมัยและสะดวกมากขึ้น | |
8. สถานที่จำหน่าย (Place) ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางที่หลากหลาย เข้าถึงง่ายสำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดรูปแบบใหม่ อีกทั้งควรช่วยส่งเสริม สนับสนุนและทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง/เวชสำอางของไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้ผู้บริโภคได้ทราบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ | - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีช่องทางจำหน่ายที่อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ และเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย กรมพัฒนาชุมชนมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย อาทิ ตลาดนัดคนไทยยิ้มได้, ชุมชนท่องเที่ยว OTOP รวมถึงขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ ได้แก่ WWW.OTOPTODAY.COM และแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น และ Shopee และ Lazada พณ.ดำเนินการโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำผู้ประกอบการ 704 ราย เข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าการซื้อขายกว่า 140 ล้านบาท เช่น งาน SMART Local Fair by DBD งาน OTOP Midyear 2022 สำหรับตลาดสมุนไพรในต่างประเทศ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนำผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม 587 ราย สร้างมูลค่าการค้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสมุนไพรกว่า 1,100 ล้านบาท โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ดูไบ และกวางโจว | |
9. ราคาของผลิตภัณฑ์ (Price) ควรมีการกำหนดกลยุทธ์ของการวางตำแหน่งราคาของสมุนไพร และผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ให้มีความเหมาะสม | - สธ. ขอรับข้อเสนอไปพิจารณาดำเนินการต่อไป | |
ข้อเสนอเชิงนิติบัญญัติ 1. ควรมีการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 โดยเพิ่มสาระบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมผู้ผลิตให้สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร มาตรฐานการปลูกพืชสมุนไพรให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความโดดเด่นเชิงพาณิชย์และมาตรฐานวัตถุดิบโดยคำนึงปริมาณสาระสำคัญในสมุนไพร |
- สธ. ขอรับข้อเสนอไปพิจารณาดำเนินการต่อไป |
|
2. ควรแก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 โดยกำหนดหลักการเรื่องการอนุญาตให้ใช้สถานที่ผลิตร่วมกันได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ | - สธ. ได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2563 เพื่อกำหนดให้ผู้มีความประสงค์จะใช้สถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรร่วมกับสถานที่เครื่องสำอาง สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตโดยการใช้สถานที่ผลิตร่วมได้ | |
3. ควรแก้ไขพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 เพื่อลดอัตราค่าตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ | - สธ. โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อลดอัตราค่าตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้แก่ผู้ประกอบการผลิตสมุนไพรในอัตราร้อยละ 20 ทุกรายการ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 มิถุนายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6403