ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 31 May 2023 01:42
- Hits: 1496
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562 มาตรา 78 (2) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ เพื่อกำหนดห้ามการกระทำใดๆ ที่มีผลเป็นการเสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำ หรือทำให้เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำ หรือระบบนิเวศแหล่งน้ำ หรือทำให้น้ำมีสภาพเป็นพิษจนน่าจะเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำ หรือระบบนิเวศแหล่งน้ำหรือสุขภาพของบุคคล และมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 78 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกอบกับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 มาตรา 22 วรรคสอง บัญญัติให้กฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ และมาตรา 39 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ระยะเวลาสองปีตามมาตรา 22 วรรคสอง สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้นับแต่เมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ดังนั้น การออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จึงต้องเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
2. โดยที่ปัจจุบันพบว่ามีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของชุมชนเมืองที่มีการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ การอุตสาหกรรมและการทำการเกษตรที่มีผลกระทบต่อการเสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำหรือระบบนิเวศน้ำ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะที่มีมาตรการห้ามการกระทำหรือละเว้นการกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้คุณภาพน้ำเสื่อมสภาพหรือปนเปื้อนและเพื่อให้หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำจึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. .... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ และเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งในคราวประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2. แล้ว
4. ทส. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 ด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ ให้กรมทรัพยากรน้ำประสานงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำสาธารณะ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจติดตามและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2. กำหนดห้ามดำเนินกิจกรรมหรือกระทำใดๆ ที่มีผลเป็นการทำให้เสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้าง ถม ขุด ปรับหรือเปลี่ยนสภาพพื้นที่ หรือดำเนินการอื่นใดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของตลิ่งหรือชายฝั่งหรือมีผลต่อความลึกหรือความลาดชันของแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติท่วมท้น ตื้นเขิน เหือดแห้ง กระทบต่อระบบนิเวศ อันมีผลเป็นการปิดหรือกีดขวางทางน้ำหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางน้ำตามปกติหรือตามธรรมชาติ หรือการก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ของทรัพยากรน้ำสาธารณะ และการก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ของทรัพยากรน้ำสาธารณะ
3. กำหนดห้ามดำเนินกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่มีผลเป็นการทำให้เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำหรือระบบนิเวศของแหล่งน้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการเททิ้ง หรือระบายน้ำเสียหรือของเสีย หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล อินทรียวัตถุสารหรือวัตถุอื่นใดที่น่าจะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ลงในทรัพยากรน้ำสาธารณะ การใช้ยา เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในทรัพยากรน้ำสาธารณะ อันจะมีผลให้เกิดสภาพเป็นพิษจนน่าจะเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำ ระบบนิเวศแหล่งน้ำ สุขภาพหรือชีวิตของมนุษย์หรือสัตว์หรือกระทำการใดๆ ที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลหรือมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน เว้นแต่เป็นการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51230