รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 31 May 2023 01:25
- Hits: 1470
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2565 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2565 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 5.8 จากไตรมาสที่ 3/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลิตเพื่อส่งออกในหลายอุตสาหกรรมหดตัว จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในอัตราที่เร็วและแรงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 4/2565 อาทิ Hard Disk Drive จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตทยอยยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีความต้องการใช้ในตลาดโลกลดลง อีกทั้งความต้องการในสินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การจัดเก็บลดลงต่อเนื่อง การกลั่นปิโตรเลียม เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานของโรงกลั่นบางรายในช่วงเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน 2565 เม็ดพลาสติก จากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น และการชะลอการผลิตเพื่อการระบายสินค้าคงคลังซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 4/2565 อาทิ รถยนต์ เป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออก โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นในรถยนต์ทุกประเภท น้ำมันปาล์ม เนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมอาหาร ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในปีนี้มีจำนวนมาก
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี อาทิ การกลั่นน้ำมัน รถยนต์ จักรยานยนต์ รองเท้า กระเป๋า และเครื่องดื่ม
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
1. Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 48.83 ตามการพัฒนาเทคโนโลยีความจุทำให้ปริมาณการผลิตน้อยลง แต่ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นตามปริมาณความจุ รวมถึงความต้องการใช้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ Solid State Drive (SSD) มีสัดส่วนการใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ทดแทน HDD เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีฐานการผลิต SSD ในประเทศ
2. เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 23.34 ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์สูง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ลดลง ส่งผลให้การผลิตเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์การแพทย์ลดลงตามไปด้วย ประกอบกับผู้ผลิตชะลอการผลิตลงเพื่อดูทิศทางตลาด รวมถึงยังคงมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานบางโรงอยู่
3. เฟอร์นิเจอร์ หดตัวร้อยละ 48.58 จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะเป็นหลักโดยการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลง จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของผู้ผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ยางพารารายใหญ่ที่ปรับลดลง ซึ่งเป็นการปรับลดลงเข้าสู่สภาวะปกติก่อนการระบาดของโควิด -19 ในประเทศจีนซึ่งในช่วงดังกล่าวจีนไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ โดยจีนเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนไม้อันดับที่ 1 ของโลก ส่วนเครื่องเรือนทำด้วยโลหะ การผลิตกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากปีก่อนได้รับคำสั่งซื้อพิเศษ
อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนมกราคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
1. การกลั่นน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 8.96 ตามการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่
2. รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 6.79 เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นในรถยนต์หลายๆ รุ่น ทำให้สามารถทำการผลิตได้เพิ่มขึ้น
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 1/2566
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ความต้องการใช้เหล็กชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม หากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของภาครัฐมีความต่อเนื่อง คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวร้อยละ 3.0 เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลกได้
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิต คาดว่าจะขยายตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ รวมถึงการประกาศเปิดประเทศของจีนจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง ปัญหาค่าครองชีพสูง และความผันผวนของราคาวัตถุดิบและพลังงาน
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะหดตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าลดลง ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานและเงินบาทที่มีทิศทางผันผวน อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51227