สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนเมษายน 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 31 May 2023 01:23
- Hits: 1492
สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนเมษายน 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนเมษายน 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนเมษายน 2566 ดังนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2566 เท่ากับ 107.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 105.15 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 2.67 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว ประกอบกับฐานราคาในเดือนเมษายน 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 14 จาก 133 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอยู่ระดับต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม
อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.67 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 4.53 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ผักและผลไม้ (ถั่วฝักยาว มะนาว กระเทียม แตงโม เงาะ มะม่วง) ตามสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และต้นทุนที่สูงขึ้น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ตามปริมาณข้าวที่ลดลงจากการส่งออกที่มีมากขึ้น ไข่ไก่ ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต และปริมาณในตลาดที่มีไม่มากนัก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น)) อาหารบริโภคในบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว) ตามต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ เครื่องประกอบอาหาร (ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ซอสหอยนางรม) ราคาสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ขึ้นฉ่าย ผักกาดขาว ผักบุ้ง กล้วยน้ำว้า น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก
หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.39 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน) น้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภท (น้ำมันกลุ่มดีเซล ก๊าซยานพาหนะ (LPG) แก๊สโซฮอล์ E85) ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แป้งทาผิวกาย น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่าทำเล็บ) ทั้งนี้ มีสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เสื้อผ้าบุรุษ น้ำยาระงับกลิ่นกาย แป้งผัดหน้า ที่เขียนคิ้ว ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ
เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.66 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.75 (YoY)
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.19 (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.34 อาทิ ผักสด (ผักชี ต้นหอม ผักคะน้า) ผลไม้สด (เงาะ มังคุด ส้มเขียวหวาน) และไข่ไก่ ขณะที่ เนื้อสุกร ปลาช่อน ผักบุ้ง มะเขือเทศ น้ำมันพืช และครีมเทียม ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.08 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ค่าของใช้และค่าบริการส่วนบุคคลที่ปรับสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย อาทิ แป้งทาผิวกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ค่าแต่งผมชาย/สตรี ขณะที่สินค้าหลายรายการราคาลดลง อาทิ น้ำมันกลุ่มดีเซล ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว และตู้เย็น รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลบางประเภท (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน แป้งผัดหน้า น้ำยาระงับกลิ่นกาย กระดาษชำระ)
2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยสาเหตุสำคัญมาจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูงและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าและบริการบางรายการชะลอตัว และบางรายการเริ่มทรงตัวแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัว และคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด แต่ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ อาทิ ราคาก๊าซหุงต้ม ที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.7 – 2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนเมษายน 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.5 จากระดับ 52.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) และสูงสุดในรอบ 52 เดือน (นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2562) เป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) โดยมีสาเหตุจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ที่จัดงานเป็นจำนวนมาก (2) ใกล้เข้าสู่วันเลือกตั้ง (14 พฤษภาคม 2566) ทำให้ประชาชนคาดหวังว่าจะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ และ (3) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซลปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายมากขึ้นตามจำนวนหน่วยที่ใช้ในช่วงฤดูร้อน ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น มีส่วนทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51226