สรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 31 May 2023 00:40
- Hits: 1520
สรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ สรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2566 ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้นำประเทศรวมถึงผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย 1) นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง1 ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สปป.ลาว ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 2) ผู้แทนประเทศคู่เจรจา ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ 3) องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนรัฐบาลหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์การระหว่างประเทศ โดยผลการประชุมต่างๆ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีร่วมกับประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนการพัฒนา และพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566
- ที่ประชุมฯ รับทราบความสำเร็จของการดำเนินงานที่สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 32 (การประชุมฯ ครั้งที่ 3)
- ไทยได้มีถ้อยแถลงถึงการยกระดับความร่วมมือและการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมในทุกมิติโดยการพัฒนาความร่วมมือที่มีอยู่ในหลายประการ เช่น 1) การพัฒนาการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องโดยให้มีการทบทวนระเบียบวิธีปฏิบัติอยู่เสมอและปรับปรุงแก้ไขเมื่อจำเป็นให้สอดรับกับสถานการณ์ และ 2) การเพิ่มความเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือด้วยข้อมูลที่เป็นพื้นฐานจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ให้มีความชัดเจนและแม่นยำในการคาดหมายการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง
2. การหารือทวิภาคีระหว่างเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะผู้แทน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566
หารือเรื่องแผนปฏิบัติการร่วมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง3 เพื่อติดตามความก้าวหน้าและแนวทางการบรรเทาผลกระทบของโครงการ ซึ่ง สปป.ลาว ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและเชิญชวนให้ผู้แทนจากไทยเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการดังกล่าวเพื่อรับทราบความก้าวหน้า
นอกจากนี้ สปป.ลาว ได้สอบถามความก้าวหน้าของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม4 ซึ่งไทยได้ยืนยันความต้องการในการขอรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับไทยต่อไป
3. การประชุมของนายกรัฐมนตรีประเทศสมาชิกอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566
ไทยได้เสนอทัศนะในประเด็นต่างๆ เช่น การเน้นย้ำการพัฒนาลุ่มน้ำโขงบนหลักการของความยั่งยืนของทั้งลุ่มน้ำ โดยการเสริมสร้างและประสานความร่วมมือภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในอนุภูมิภาค รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยใช้จุดเด่นจากความร่วมมือในกรอบต่างๆ เพื่อเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
4. การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 (แบบเต็มคณะ) เมื่อวันที่ 5 เมยายน 2566
ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่การประชุม ครั้งที่ 3 พบว่าการดำเนินงานประสบผลสำเร็จหลายประการ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสและความท้าทายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคและเห็นพ้องในการรับรองปฏิญญาฉบับใหม่ คือ ปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 (ไม่มีการลงนาม) ซึ่งเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมสุดยอดผู้นำลุมน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอของฝ่ายไทยที่ต้องการเน้นย้ำความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูลการดำเนินโครงการใช้น้ำอย่างสม่ำเสมอและทันเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดจากการดำเนินโครงการดังกล่าว รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน (สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
แนวคิดหลัก |
นวัตกรรมและความร่วมมือเพื่อความมั่นคงด้านน้ำและความยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง |
|
อารัมภบท |
กล่าวถึงความสำคัญในเรื่องต่างๆ เช่น การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องของลุ่มน้ำโขง การแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินงานตามพันธกรณีของความตกลงฯ ที่มีประสิทธิภาพ บทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พันธกรณีที่เชื่อมโยงจากการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่างครั้งที่ผ่านมา ความสำคัญของการเชื่อมโยงการบูรณาการการบริหารจัดการทั้งลุ่มน้ำโดยร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง |
|
ความสำเร็จของการดำเนินงานภายหลังการประชุมฯครั้งที่ 3 |
ประเทศสมาชิกเห็นชอบต่อความสำเร็จของการดำเนินงานดังกล่าวโดยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องให้เกิดความร่วมมืออย่างสันติ เกิดประโยชน์ร่วมกัน และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มน้ำโขงผ่านการเจรจาหารือและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและหุ้นส่วนความร่วมมือ |
|
โอกาสและความท้าทายในภูมิภาค |
การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับน้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่มีความเปราะบางที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำโขง |
|
ขอบเขตการดำเนินงานที่สำคัญ |
เช่น การวางแผนเชิงรุกที่นำไปสู่แผนลุ่มน้ำที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างครอบคลุมและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาและการจัดการระบบตัดสินใจ โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ |
|
ก้าวต่อไป |
ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความพยายามร่วมกันเพื่อเสริมสร้างบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและการวางแผนระดับภูมิภาคเชิงรุกการบริหารจัดการที่ประสานงานกันและเชื่อมโยงระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนการพัฒนา และหุ้นส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 5 จะจัดขึ้นในปี 2569 ณ ประเทศไทย |
__________________________________
1 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ประกอบด้วย 4 ประเทศ จากลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ไทย กัมพูขา สปป.ลาว และเวียดนาม จัดตั้งขึ้นตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 กุมภาพันธ์ 2538) เห็นชอบร่างความตกลงฯ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในความตกลง] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกๆ ด้าน และได้มีหลักเกณฑ์ในการใช้น้ำโดยตกลงที่จะใช้น้ำอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมโดยได้กำหนดกฎและระเบียบปฏิบัติของการใช้น้ำร่วมกัน ทำให้การดำเนินโครงการใดๆ ต้องน้ำเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความเห็น รวมทั้งแสดงความกังวลจากประชาชนเพื่อแจ้งแก่ประเทศเจ้าของโครงการนำไปพิจารณาปรับปรุงโครงการเพื่อลดผลกระทบข้ามแดนที่อาจจะเกิดขึ้น
2 คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 สิงหาคม 2561) รับทราบสรุปผลการประชุมฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
3 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาในลำน้ำโขงลำดับที่ 5 ต่อจากพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี ดอนสะโอง ปากแบง และปกลาย ตามลำดับ
4 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เป็นโครงการลำดับที่ 6 ในแม่น้ำโขงตอนล่าง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51221