WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565

GOV 13

รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 ซึ่งที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะได้เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 มาตรา 25 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ สศช. จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

          1. ผลการดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน สรุปได้ ดังนี้

 

ด้าน

 

ผลสัมฤทธิ์ (เช่น)

(1) การเมือง

 

1) เปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

2) ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านสื่อต่างๆ 725 ครั้ง

3) จัดกิจกรรมเพื่อสร้างเครือข่าย เช่น ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาระบบประชาธิปไตยตำบล

4) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะมาตรการ แนวทางการดำเนินการ กลไก และมาตรการในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชานชนและขจัดความขัดแย้งทางการเมือง

(2) การบริหารราชการแผ่นดิน

 

1) พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้ารับการบริการของรัฐ เช่น SmartLands เพื่อเป็นช่องทางการใช้บริการต่างๆ ของกรมที่ดิน และ DLT Smart Queue เพื่อใช้จองคิวอัตโนมัติในการต่อทะเบียนยานพาหนะและทำใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก

2) จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านทักษะดิจิทัลและเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรภาครัฐ และนำความรู้ไปปรับปรุงการให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้

3) พัฒนาต้นแบบระบบติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าของส่วนราชการเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าของส่วนราชการ

(3) กฎหมาย

 

1) ผลักดันให้มีกลไกการออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็น รวมทั้งให้มีกลไกในการทบทวนกฎหมาย โดยมีการตราพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย .. 2562

2) ทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาตอาชีพ เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน โดยมีกฎหมายและกระบวนงานที่ควรทบทวน ปรับปรุง หรือยกเลิก จำนวน 1,094 กระบวนงาน

3) พัฒนาระบบกลางทางกฎหมาย เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลกฎหมายของประเทศและเป็นช่องทางสำหรับรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับจัดทำกฎหมายหรือร่างกฎหมายเพื่อให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วม

(4) กระบวนการยุติธรรม

 

1) จัดทำกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม .. 2565 เพื่อกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการแก่สาธารณชน และทบทวนความเหมาะสมของระยะเวลาของกระบวนการยุติธรรมทุกๆ 3 ปี และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ .. 2565 เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบ รวมทั้งให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระและอยู่ในจริยธรรม

2) จัดตั้งศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข โดยให้บริการผ่านทาง http://mind.moj.go.th และแอปพลิเคชัน JusticeCare ซึ่งสามารถยื่นคำร้อง เช่น ปรึกษากฎหมาย ร้องเรียน/แจ้งเบาะแส ขอรับเงินช่วยเหลือกองทุนยุติธรรม และขอรับการคุ้มครองพยานในคดีอาญา

(5) เศรษฐกิจ

 

1) ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำการเกษตรมูลค่าต่ำไปสู่การปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์และประมงที่มีมูลค่าสูง จำนวน 2,045 แปลง และพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม จำนวน 67,290 ไร่

2) กำหนดนโยบายและมาตรการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ/นักลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทยและอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจการเงิน การประกันภัย เช่น ทบทวนคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขสำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ

3) เพิ่มโอกาสทางการค้ากับภาครัฐ โดยส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ในการดำเนินธุรกิจ

(6)ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

1) จัดทำผังน้ำ เพื่อให้มีฐานข้อมูลผังน้ำเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่ดินในเขตผังน้ำไม่ให้กีดขวางทางน้ำและสามารถระบายน้ำได้ โดยได้ดำเนินการแล้วจำนวน 14 ลุ่มน้ำ และคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ภายในปี 2567

2) แก้ไขปัญหาการบุกรุกในพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องผ่านการใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อช่วยวางแผนป้องกันและปราบปรามเหตุไฟป่า ปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ และการลักลอบตัดไม้

3) จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (.. 2566-2570) เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขมลพิษจากขยะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน

4) จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ

5) จัดทำคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ โดยรวบรวมชนิดพันธุ์พืช สัตว์และจุลินทรีย์ รวมทั้งสิ้น 39,111 ชนิด เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลกลางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

(7) สาธารณสุข

 

1) บริการการแพทย์ฉุกเฉินภาครัฐ โดยปรับหลักเกณฑ์ แนวทาง และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยบริการฉุกเฉินคุณภาพเพื่อเพิ่มคุณภาพมาตรฐานบริการและการเข้าถึงสำหรับประชาชน

2) สร้างระบบฐานข้อมูลระดับประเทศด้านการคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุและระบบข้อมูลกลางของผู้สูงอายุตามระดับการพึ่งพิง โดย วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแล จำนวน 354,324 คน คิดเป็นร้อยละ 92.78 จากจำนวนทั้งหมด 381,902 คน

3) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operations Center: EOC) ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพัฒนา Web EOC เพื่อรองรับการสั่งการในภาวะฉุกเฉินและเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับศูนย์ EOC ทั่วประเทศ

4) บริหารอัตรากำลังคนที่ตอบสนองการให้บริการประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่

(8) สื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

1) ดำเนินโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม เพื่อตรวจสอบเฝ้าระวัง และป้องกันข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต รวมถึงชี้แจงทำความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศที่มีคุณภาพได้อย่างมีแบบแผน เช่น พื้นฐานการเข้าใจดิจิทัล การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและดิจิทัลเพื่อทักษะการใช้ชีวิตอัจฉริยะ

3) จัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อกำกับดูแลสื่อออนไลน์เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยและได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง

(9) สังคม

 

1) สร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่เป็นกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เกิดแนวทางการบริหารจัดการที่ดินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาสและแนวทางการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรและประชาชน

2) ขึ้นทะเบียนคนพิการเพื่อให้ได้รับสิทธิสวัสดิการและความช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ โรงพยาบาล เพื่อให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกและลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการออกบัตรประจำตัวคนพิการ รวมทั้งมีการพัฒนาให้สามารถใช้บัตรประจำตัวคนพิการผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือได้ด้วย

3) พัฒนาระบบการสร้างหลักประกันด้านรายได้ในยามชราภาพให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ เช่น สร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบการออมผ่านการเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ และปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนภายใต้มาตรา 40 ให้ได้รับสิทธิเพิ่มมากขึ้น

(10) พลังงาน

 

1) ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ เช่น สำรวจและปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในระยะยาว และเพิ่มกลไกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดโดยจัดทำกรอบอัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

2) ขจัดอุปสรรคการลงทุนในกิจการพลังงาน เช่น ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการอนุมัติอนุญาต การประกอบกิจการไฟฟ้า และพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลทางด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของประชาชน

3) จัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์การใช้และการผลิตพลังงานไฟฟ้า โครงสร้างราคาน้ำมัน อัตราค่าไฟฟ้า และราคาก๊าซ LPG โดยพัฒนาระบบบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการวางแผนการลงทุนของเอกชน ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน

(11) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

 

1) จัดทำช่องทางการแจ้งเบาะแสและระบบปกปิดตัวตนผ่านทางเว็บไซต์ และสามารถติดตามสถานะการดำเนินการได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเก็บรักษาความลับและความปลอดภัยของผู้แจ้งเบาะแส

2) กำหนดมาตรการให้ทุกหน่วยงานภาครัฐที่มีโครงการซึ่งมีงบประมาณการดำเนินโครงการมากกว่า 500 ล้านบาท หรือเป็นโครงการที่มีผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในวงกว้าง เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายที่กำหนด จะต้องทำการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตของโครงการ

3) สร้างเครือข่ายภาคประชาชนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในระดับพื้นที่ใน 17 จังหวัด โดยมีการจัดเวทีสัมมนาในการสร้างการรับรู้ร่วมกัน และเพื่อให้เกิดกลไกการประชุมของเครือข่ายระดับพื้นที่จังหวัดและตำบลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เป้าหมาย

(12) การศึกษา

 

1) ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา จำนวน 7,142 คน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา/พัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อสร้างความเสมอภาคและลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา

2) เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่น การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาสมรรถนะตามความเชี่ยวชาญ/บริบทในพื้นที่และการพัฒนาทักษะการออกแบบการเรียนรู้

3) ขับเคลื่อนรูปแบบการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกระดับที่เน้นการปฏิบัติและการพัฒนาการเรียนรู้ ผ่านโครงการพัฒนาระบบการวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนและสร้างสมรรถนะการแข่งขันในศตวรรษที่ 21

(13) วัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

1) พัฒนาดัชนีชี้วัดคุณธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับประเมินคุณธรรมของคนไทยช่วงวัยทำงาน 5 ด้านได้แก่ พอเพียง วินัยรับผิดชอบ สุจริต จิตอาสาและกตัญญู เพื่อนำไปใช้สำรวจสถานการณ์คุณธรรมของคนไทย และนำข้อมูลที่ได้ไปออกแบบกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมในช่วงวัยต่างๆ ต่อไป

2) พัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพให้เป็นเมืองสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนในสังคม เช่น การพัฒนาศักยภาพของชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะและการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์

3) สร้างแรงจูงใจและกระแสความตื่นตัวเรื่องการออกกำลังกาย โดยส่งเสริมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาผ่านการจัดกิจกรรรมกีฬาและการแข่งขันกีฬาภายใต้ความปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งมุ่งเน้นการออกกำลังกายโดยมีชุมชนเป็นฐานและการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล

4) จัดให้มีพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัยเพื่อสร้างบรรยากาศของสังคมแห่งการเรียนรู้ เช่น แอปพลิเคชัน TK Read ห้องสมุดออนไลน์เพื่อให้ประชาชนสามารถยืมอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Books) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

          2. ประเด็นท้าทายของการปฏิรูปประเทศ เช่น ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่นการลดบทบาทภารกิจของภาครัฐให้เหลือเท่าที่จำเป็นและปรับโอนภารกิจให้ภาคส่วนอื่นๆ การวางแนวทางกำหนดขนาดอัตรากำลังคนภาครัฐให้เหมาะสม และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการเชิงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนประเด็นนโยบายที่สำคัญ ด้านเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดสรรที่ดินทำกินด้วยวิธีการที่เหมาะสมและเป็นธรรม และการผลักดันการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านสาธารณสุข เช่นการจัดระบบบริการสาธารณสุขและความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม การพัฒนาการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการผลักดันระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุ และด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น การปรับกระบวนการแจ้งเบาะแสการทุจริตเข้าสู่ระบบดิจิทัลที่ได้มาตรฐานสากลและประชาชนสามารถเข้าถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสได้โดยสะดวกปลอดภัย และการปรับปรุงกระบวนการปราบปรามการทุจริตที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

          3. การดำเนินการต่อไปเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์มีความยั่งยืน หลังจากสิ้นสุดการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีผลลัพธ์จากการปฏิรูปประเทศที่ส่งผลให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในทุกด้านแล้วนั้น หน่วยงานของรัฐยังจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 แผนระดับที่ 3 และการดำเนินการต่างๆ ซึ่งประเด็นปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน มีความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) โดยหน่วยงานของรัฐสามารถใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไปเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการประยุกต์ใช้หลักการวงจรบริหารงานคุณภาพ (Plan do check Act: PDCA) เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาตลอดกระบวนการอย่างต่อเนื่อง

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤษภาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A5996

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

MTL 720x100

TU 720 x 109

sme 720x100

ธกส 720x100

SPALAI 720x100

PF 720x100

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!