ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติ ประจำเดือนมีนาคม 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 May 2023 23:26
- Hits: 1401
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติ ประจำเดือนมีนาคม 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2566 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ
1.1 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 7 และ 20 มีนาคม 2566 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 แผนเป็นแผนระดับที่ 2 ที่ทำหน้าที่ร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในการถ่ายระดับและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนระดับที่ 3 และการดำเนินโครงการ/การดำเนินงาน โดยเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานของรัฐที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบ “พุ่งเป้า” เช่น การกำหนดให้ทุกโครงการ/การดำเนินงานของรัฐต้องส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานอาจยังไม่ได้นำหลักการถ่ายระดับเป้าหมายไปสู่การปฏิบัติไปประกอบการวางแผนและการปฏิบัติของหน่วยงานเท่าที่ควร ดังนั้น หน่วยงานของรัฐต้องนำหลักการบริหารงานคุณภาพ (Plan Do Check Act: PDCA) ไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการที่สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายมากกว่าการตอบตัวชี้วัด รวมทั้งนำข้อมูลแผนระดับที่ 3 และของทุกโครงการ/การดำเนินงานและรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการ/การดำเนินงานรายไตรมาสในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ให้ครบถ้วนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
1.2 การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) มีการดำเนินการดังนี้ (1) อยู่ระหว่างประมวลข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานและภาคีการพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละหมุดหมาย รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมาและช่องว่างการดำเนินงานที่มีในปัจจุบัน เพื่อจัดทำข้อเสนอการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (2) จัดการประกวดผลงานภาพถ่ายของประชาชนทั่วไป ภายใต้หัวข้อ “จุดประกายการขับเคลื่อน 13 หมุดหมายในระดับท้องถิ่นและตำบล” ซึ่งมีกำหนดเปิดรับภาพถ่ายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม-8 พฤษภาคม 2566 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และ (3) อยู่ระหว่างพัฒนาระบบแสดงผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่ ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเปิดของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (Open-D) เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานในระดับท้องที่ ตลอดจนบูรณาการกับข้อมูลการดำเนินงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่
1.3 การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มีการจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. .... โดย สศช. ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประเมินทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบการวางแผนและดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งการดำเนินการตามร่างระเบียบดังกล่าวจะลดผลกระทบจากการพัฒนาที่อาจมีต่อคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ เสริมสร้างการยอมรับของทุกภาคส่วน และเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลให้การขับเคลื่อน SDGs ประเด็นสิ่งแวดล้อมในช่วงต่อจากนี้มีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เห็นชอบร่างระเบียบดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 และ สศช. อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. การดำเนินการของหน่วยงานของภาครัฐในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
2.1 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่า มีข้อมูลแผนระดับที่ 3 และโครงการ/การดำเนินงานประจำปี 2566 ในระบบ eMENSCR ดังนี้ (1) แผนระดับที่ 3 รวมจำนวน 633 แผน แบ่งเป็น แผนปฏิบัติราชการราย 5 ปี จำนวน 263 แผน รายปี จำนวน 274 แผน และแผนปฏิบัติการด้าน... จำนวน 42 แผน และ (2) โครงการ/การดำเนินงาน รวมจำนวน 12,524 โครงการ/การดำเนินงาน นอกจากนี้ มีการนำเข้ารายงานผลสัมฤทธิ์แผนระดับที่ 3 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของแผนฯ ในระบบ eMENSCR จำนวน 426 แผน แบ่งเป็น รายงานผลสัมฤทธิ์ฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 141 แผน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 144 แผน และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 111 แผน และรายงานผลสัมฤทธิ์ฯ ที่ครอบคลุมหลายปีงบประมาณ จำนวน 30 แผน
จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการนำเข้าข้อมูลของหน่วยงานของรัฐในระบบ eMENSCR ยังไม่ครบถ้วนทุกหน่วยงาน ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ สศช. จึงได้กำหนดเงื่อนไขให้ปีงบประมาณ พ.ศ 2566 เป็นต้นไป หากหน่วยงานไม่นำเข้าแผนระดับที่ 3 โดยเฉพาะแผนปฏิบัติราชการรายปี หน่วยงานจะไม่สามารถนำเข้าและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ/ดำเนินงานของหน่วยงานประจำปีงบประมาณได้ ดังนั้น ทุกหน่วยงานของรัฐต้องนำเข้าแผนระดับที่ 3 และข้อมูลของทุกโครงการ/การดำเนินงานทั้งที่ใช้งบประมาณและแหล่งเงินอื่นๆ ในการดำเนินการ รวมทั้งรายงานผลความก้าวหน้าโครงการ/การดำเนินงานรายไตรมาสในระบบ eMENSCR ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
2.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศพจ.) ได้มีการประกาศกลุ่มเป้าหมายการดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ของคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รวม 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย (1) กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน จำนวน 655,365 คน (2) กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 11,023,225 ครัวเรือน 33,384,526 คน (3) กลุ่มคนที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม จำนวน 13,220,965 คน และ (4) กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งต้องสืบค้นต่อไป ทั้งนี้ ศจพ. ทุกระดับต่างๆ และทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจนิยามของกลุ่มเป้าหมายและการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลจากระบบ TPMAP ไปประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและภูมิสังคมเพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้สามารถอยู่รอด พอเพียง และนำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐควรร่วมเติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP โดยสนับสนุนข้อมูลที่หน่วยงานเป็นเจ้าของข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบ TPMAP ได้ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หรือข้อมูลอื่นในพื้นที่ เช่นข้อมูลศักยภาพของพื้นที่และข้อมูลทางกายภาพ เพื่อพัฒนาให้ระบบมีความครอบคลุมในทุกประเด็นและนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การพัฒนาคนในระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น
3. การติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปัจจุบันมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงและผู้ตรวจราชการกรม รวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) และอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นกลไกสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (Check) การดำเนินงานของส่วนราชการให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ตามหลักการ PDCA ตามมติคณะรัฐมนตรี (9 พฤศจิกายน 2564) เรื่อง การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยผู้ตรวจราชการมีหน้าที่ในการตรวจราชการเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการในภาพรวมของส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ ขณะที่ ค.ต.ป. และอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานภาครัฐตามภารกิจหรือนโยบายสำคัญเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากส่วนราชการสามารถเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หน่วยงานของรัฐประเภทอื่นๆ ควรยึดหลักการ PDCA และมติคณะรัฐมนตรี (9 พฤศจิกายน 2564) เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการ “พุ่งเป้า” การบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและผลลัพธ์ตามเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติเป็นการดำเนินการบนหลักการ PDCA ซึ่งข้อมูลเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีการดำเนินการควบคู่กับระบบ eMENSCR อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในระบบ eMENSCR ยังไม่ครอบคลุมการดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ จึงทำให้เกิดข้อจำกัดในการนำเข้าข้อมูลในระบบ eMENSCR และส่งผลต่อการวิเคราะห์การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นการนำเข้าข้อมูลในระบบ eMENSCR ให้ครบถ้วน จึงเป็นการดำเนินการที่สำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์การดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานเจ้าภาพและหน่วยงานร่วมดำเนินการในการดำเนินโครงการทั้งลักษณะโครงการบูรณาการร่วมกันหรือโครงการของแต่ละหน่วยงาน
5. นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้มอบหมายทุกหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญในการติดตามเร่งรัดโครงการที่มีผลการดำเนินการต่ำกว่าเป้าหมาย รวมทั้งดำเนินการหาวิธีแก้ไข
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5995